เนื้อหาวันที่ : 2017-02-02 14:42:42 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1254 views

กสอ. แนะ 5 เทรนด์ SMEs น่าลงทุน ปี 2017 พร้อมเผยโครงการอุดหนุนเต็มแม็กซ์จากภาครัฐ

          กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เผย 5 ธุรกิจมาแรงตอบโจทย์ผู้บริโภคในปี 2017 ได้แก่ 1. ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ 2. ธุรกิจและบริการด้านฮาลาล 3. ธุรกิจความงาม เครื่องสำอาง และแฟชั่น 4. ธุรกิจการค้าและการบริการผ่านระบบออนไลน์ และ 5. ธุรกิจเพื่อผู้สูงวัย โดยธุรกิจเหล่านี้ถือเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตสูงในกลุ่มผู้บริโภค พร้อมทั้งยังสามารถเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ประกอบการที่ต้องการดำเนินธุรกิจ ทั้งนี้ กรมส่งส่งเสริมอุตสาหกรรมในฐานะผู้ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมยังมีโครงการต่าง ๆ เพื่อรองรับการดำเนินธุรกิจในกลุ่มนี้

 

 

ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

 

          ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ผู้ประกอบการที่จะประสบความสำเร็จได้จะต้องเป็นผู้ที่ก้าวทันหรือล้ำยุคสมัย รวมทั้งมีการอัพเดทเทรนด์ธุรกิจใหม่ ๆ อยู่เสมอ โดยปัจจุบันโลกได้ก้าวเข้าสู่ยุคที่การดำเนินธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น เมื่อผู้ประกอบการทั้งเก่าและใหม่มีแผนที่จะสร้างสินค้าหรือการบริการใด ๆ จึงจำเป็นต้องผลิตสิ่งที่สามารถตอบสนองความต้องการตามบริบทโลกและสังคม ซึ่งจะช่วยให้เกิดความอยู่รอดและสามารถดำเนินกิจกรรมด้วยความเข้มแข็งได้ต่อไป ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการมีขีดความสามารถในการแข่งขันและศักยภาพที่เข้มแข็งในการลงทุนทำธุรกิจ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ในฐานะผู้ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรม จึงได้รวบรวมเทรนด์ธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตรับความต้องการของผู้บริโภคในปี 2560 เพื่อเป็นทางเลือกในการตัดสินใจในการลงทุนดำเนินธุรกิจ ได้แก่

  1. ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพที่มาแรงและมีกระแสตอบรับที่ดีในขณะนี้ ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่มฟังก์ชั่น อาหารที่มาจากธรรมชาติและดีต่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม และ อาหารและเครื่องดื่มเพื่อการควบคุมน้ำหนัก ซึ่งเมื่อพิจารณาดูแล้วจะพบว่าประเทศไทยมีปัจจัยที่พร้อมส่งเสริมและสนับสนุนในการทำธุรกิจในกลุ่มดังกล่าวนี้ค่อนข้างสูง สำหรับปี 2560 มีการคาดการณ์ไว้ว่ามูลค่าตลาดของอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยอาจสูงถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ (ที่มา: Euromonitor International) ซึ่งหากผู้ประกอบการทั้งรายเล็กและรายใหญ่ต่างตื่นตัวและให้ความสำคัญต่อธุรกิจประเภทนี้มากขึ้น ก็จะยิ่งเพิ่มช่องทางในการสร้างเม็ดเงินให้กับธุรกิจมากขึ้นตามไปด้วย
  2. ธุรกิจและบริการด้านฮาลาล สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจในธุรกิจกลุ่มนี้สามารถสรรค์สร้างสินค้าและบริการได้อย่างหลากหลายไม่เพียงแค่เฉพาะอาหารเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการให้บริการด้านอื่น ๆ อาทิ บริการด้านโรงแรม ผลิตภัณฑ์เวชสำอาง การบริการด้านการเงิน ธุรกิจด้านการรักษาพยาบาล เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามจากข้อมูลปี 2559 ตลาดอาหารฮาลาลถือว่ายังคงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีมูลค่าประมาณ 8.29 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ที่มา: ฐานข้อมูลเพื่อสนับสนุนการพัฒนาฮาลาลไทย) และมีการคาดการณ์ว่าจะสามารถขยายตัวได้ถึง 1.6 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ในปี 2561 (ที่มา : หอการค้าและอุตสาหกรรมดูไบ)
  3. ธุรกิจความงาม เครื่องสำอาง และแฟชั่น ธุรกิจเหล่านี้มีทิศทางการเติบโตที่สวนกระแสเศรษฐกิจทั้งในระดับประเทศและระดับโลกไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการดูแลร่างกาย อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เพื่อการตกแต่ง คลินิกและสถาบันเสริมความงามต่าง ๆ ที่กระจายตัวอยู่ตามพื้นที่ทั่วไปและพบเห็นได้มากขึ้น ตลอดจนธุรกิจแฟชั่นก็มีการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่อง สังเกตได้จากการเพิ่มขึ้นของแบรนด์สินค้าในกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนัง และเครื่องประดับ รวมทั้งการแต่งกายตามกระแสโลกที่มีอย่างไม่จำกัด ทั้งนี้ มูลค่าอุตสาหกรรมแฟชั่นถือว่ามีตัวเลขที่น่าสนใจไม่น้อย โดยในปี 2559 ประเทศไทยมีการขยายตัวสู่หลัก 7 แสนล้านบาท ส่วนอุตสาหกรรมเครื่องสำอางก็มีแนวโน้มว่าจะสามารถขยายตัวในปีนี้ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 จากเดิมที่มีมูลค่ากว่า 2.1 แสนล้านบาท (ที่มา: คลัสเตอร์เครื่องสำอางไทย)
  4. ธุรกิจการค้าและการบริการผ่านระบบออนไลน์ เป็นกระบวนการในการดำเนินธุรกิจที่ไม่ต้องลงทุนมาก โดยในปัจจุบันได้เกิดธุรกิจบนช่องทางดังกล่าวนี้อย่างหลากหลาย อาทิ บริการขนส่งสินค้า บริการจองร้านอาหารและโรงแรม การค้า บนเว็บไซต์และโซเชียลมีเดีย ธุรกิจการค้าการบริการด้านซอฟท์แวร์และแอพพลิเคชั่น (ของกลุ่มสตาร์ทอัพ) เป็นต้น ทั้งนี้ผู้ประกอบการต้องสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่มีอย่างไม่รู้จบ อีกทั้งยังต้องสร้างความแตกต่างและความแปลกใหม่ให้เกิดขึ้นกับสินค้าหรือการบริการไม่ว่าจะเป็น ซึ่งหากตรงกับพฤติกรรมของผู้บริโภคมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งประสบความสำเร็จเพิ่มตามไปด้วย
  5. ธุรกิจเพื่อผู้สูงวัย ผู้บริโภคในกลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อในอัตราที่สูง มีอำนาจต่อรอง และมีความต้องการในการอุปโภคบริโภคในหลากหลายกลุ่มสินค้า อาทิ อาหารเพื่อสุขภาพ สินค้าไลฟ์สไตล์ อาหารเสริมสุขภาพและชะลอวัย อุปกรณ์ทางการแพทย์ บริการด้านการท่องเที่ยว เป็นต้น สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการดำเนินธุรกิจในด้านนี้จะต้องปรับกระบวนการการผลิตและบริการให้สอดคล้องกับความต้องการเฉพาะด้านของกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานที่ง่าย ไม่ซับซ้อน ตอบโจทย์คุณค่าและคุณประโยชน์ที่ครบถ้วน ซึ่งในความต้องการที่กล่าวมานี้ไม่เพียงแต่จะตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภคสูงวัยในประเทศไทยเท่านั้น ยังรวมถึงตลาดอื่น ๆ ในระดับต่างประเทศอีกด้วย

 

 

เครื่องสำอาง 1

 

 

เครื่องสำอาง 2

 

 

ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ

 

 

ภาพผลิตภัณฑ์ฮาลาลอรุณสวัสดิ์

 

 

          อย่างไรก็ดี กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ยังมีโครงการต่าง ๆ ในปี 2560 เพื่อส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการที่ต้องการจะดำเนินธุรกิจทั้ง 5 กลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าว อาทิ โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลและใช้ประโยชน์จากดิจิทัล โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาล โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมไบโอชีวภาพ เป็นต้น ซึ่งคาดว่าจะสามารถยกระดับความสามารถการแข่งขันให้กับ SMEs ได้อย่างแน่นอน ดร.พสุ กล่าวปิดท้าย

 

 

กิจกรรม Elle fashion week

 

          สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทร.0 2202 4414 – 7 หรือ เข้าไปที่ www.dip.go.th และสามาถติดตามข้อมูลข่าวสารด้านอุตสาหกรรมได้ที่ www.facebook.com/dip.pr

 

 

ผลงานจากนักออกแบบไทยในโครงการ Thai touch Project