เนื้อหาวันที่ : 2017-01-24 10:41:28 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1431 views

ม.หอการค้าไทยเผยการเปลี่ยนแปลงรูปแบบทางธุรกิจที่ต้องจับตาปี 2560

          ปี 2559 ที่ผ่านมากับการเปิดตัว Startup Thailand ครั้งแรกทำให้กลุ่ม Startup โดยเฉพาะกลุ่ม Tech Startup ได้เปิดตัวกันอย่างเป็นข่าวดังกันทั่ววงการธุรกิจ จนผู้ประกอบการเดิมไม่ว่าจะเป็นรายใหญ่ หรือ SMEs ต่างจับตามอง รูปแบบธุรกิจใหม่ที่มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด สามารถขยายได้ สามารถทำซ้ำได้ และมีรูปแบบธุรกิจใหม่ หากแต่มีโอกาสล้มเหลวมากกว่า 90% เข้ามาเล่าสู่กันตามสื่อต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนแต่เป็นกรณีศึกษาที่รุ่นปู่ Startup ซึ่งคร่ำวอดในวงการ และทำกันมานานมากกว่า 10 ปี ได้แจ้งเกิดกันในปีนี้อย่างชัดเจน เนื่องจากการที่รัฐบาลให้ความสนใจรูปแบบทางการธุรกิจที่น่าสนใจ ที่สร้าง Platform เชื่อมต่อระหว่าง Demand กับ Supply ในสินทรัพย์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ยานพาหนะ (Uber, Grab) หรือโรงแรม (Airbnb) เป็นต้น จนมีคนกล่าวว่าในอนาคตคนจะซื้อและใช้บริการมากกว่าการเป็นเจ้าของสินทรัพย์ นอกจากนี้เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ส่งผลทำให้ข้อมูลข่าวสารต่างต่อเชื่อมถึงกันอย่างรวดเร็ว ส่งผลทำให้ความไม่เท่าเทียมกันของข้อมูล (Information Asymmetry) ลดลง ซึ่งกระทบต่อโอกาสของผู้ประกอบการที่จะนำสินค้าจากที่หนึ่งมาขายอีกที่หนึ่ง ทำได้ยากขึ้นเรื่อยๆ หากระบบขนส่งสาธารณะและเอกชนเชื่อมโยงถึง การสั่งสินค้าต่างๆ เหล่านี้ ปลาใหญ่ทาง E-commerce จะกินไปหมด

 

 

ดร.ศักดิพล เจือศรีกุล ผู้อำนวยการศูนย์การสร้างผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม (IDE Center) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

 

          ดร.ศักดิพล เจือศรีกุล ผู้อำนวยการศูนย์การสร้างผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม (IDE Center) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า “อีกหนึ่งวงการที่ต้องจับตาคือกลุ่ม Fin Tech Startup ที่มีการจัดตั้งสมาคมก็อย่างเป็นทางการ และแน่นอนว่าสถาบันการเงินของไทย ต่างไม่พลาดที่จะเข้าวงการดังกล่าว เพื่อรักษาพื้นที่ของตนเอง โดยการสร้างหน่วยงานใหม่ ไม่ว่าจะเป็น Kbank ที่ตั้ง KBTG (Kasikorn Business-Technology Group) หรือ การที่ SCB ตั้ง Digital Ventures ขึ้น เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อใช้ Fin Tech Startup เป็นตัวต่อยอด และเข้าใจถึงรูปแบบทางธุรกิจด้าน Fin Tech ที่จะเข้ามา Disrupt ธุรกิจเดิมของตนเองเพื่อที่จะสามารถปรับตัวและเปลี่ยนแปลง หรือแม้กระทั่งดึงเข้ามาเพื่อเสริมทัพในการให้บริการด้านการเงิน ทั้งนี้ การเข้ามาของ Alibaba ที่ร่วมกับทาง Ascend ต่างเป็นสิ่งที่ต้องจับตามองว่า Alipay จะเข้ามาผ่านช่องทาง 7-11 และส่งผลกระเทือนถึงสถาบันการเงินได้มากน้อยเพียงใด แน่นอนว่า การเข้ามาของ Fin Tech Startup จะทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์และมีทางเลือกในการใช้บริการมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยเกื้อหนุนธุรกิจด้านต่างๆ ได้มากขึ้น เพราะว่าธุรกรรมทางการเงินสามารถทำได้ง่ายมากขึ้น และต้นทุนในการทำธุรกรรมทางการเงินจะลดลง”

 

          “นโยบายของภาครัฐผลักดันเต็มสูบกับ Thailand 4.0 ทั้งจากปี 2559 และปี 2560 โดยทางท่านรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ได้ชงนโยบาย 4.0 ที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศไทย โดยมีแผน 5 ส่วนสำคัญไม่ว่าจะเป็นในด้านบุคลากร, กลุ่มอุตสาหกรรม, การบ่มเพาะผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม, ความเข้มแข็งด้านภูมิภาค, และการบูรณาการกับอาเซียนสู่ Global ซึ่งกลุ่มสมาชิกผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นหอการค้าไทยและสภาอุตสาหกรรมต่างตอบรับนโยบาย โดยผลักดัน Trade 4.0 และ Industry 4.0 ตามลำดับ แต่สำหรับผู้ประกอบการไทยทั้งรายเดิมและรายใหม่นั้น การปรับตัวเพื่อตอบสนองต่อ Thailand 4.0 ต่างเป็นส่วนสำคัญต่อการอยู่รอดของเศรษฐกิจของคนไทย หากแต่หวังว่าผู้ประกอบการจะไม่ตอบรับเพียงแค่เพื่อลดหย่อนภาษีตามนโยบายต่างๆ ที่ภาครัฐเริ่มที่จะออกเครื่องมือทางภาษีอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่จะต้องปรับกระบวนการ แนวคิด และ ทัศนคติ ในการทำธุรกิจ ที่จะต้องมีนวัตกรรมเป็นแรงขับเคลื่อน อีกทั้งยังจะต้องเข้าใจถึงผู้บริโภคเป็นที่ตั้ง โดยจะต้องมองถึงความต้องการและปัญหาของผู้บริโภคเป็นหลัก เพื่อที่จะนำเสนอสินค้าและบริการที่ตอบสนองกับผู้บริโภคได้” ผู้อำนวยการศูนย์การสร้างผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม (IDE Center) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวเพิ่มเติม

               

          ทั้งนี้สิ่งที่จะต้องปรับตัวนอกจากผู้เล่นที่ทางรัฐบาลเปิดให้เข้ามาเล่นมากยิ่งขึ้น นั้นหมายถึงผู้ประกอบการายใหม่เข้ามาเป็นผู้เล่นง่ายมากยิ่งขึ้น ผู้ประกอบการรายเก่าต่างก็ต้องปรับตัวกับสภาพการแข่งขันที่เปลี่ยนไป อย่างไรก็ดี พ.ร.บ. ฉบับใหม่ที่เกิดขึ้นและจะเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองต่อกลุ่มวิสาหกิจรายใหม่ รวมไปถึงเฉพาะกลุ่มธุรกิจ อาจจะส่งผลดีไม่ทุกแง่มุม ซึ่งอาจจะมีข้อวิพากษ์วิจารณ์กันตามน่า Social media ต่างๆ ทั้งนี้ก็คงจะต้องทำการแก้ไขไปเป็นเรื่องกันไป กฎระเบียบเป็นส่วนหนึ่งที่ผู้ประกอบการพิจารณา หากไม่สามารถเหมาะสมต่อการสร้างธุรกิจ ก็สามารถโยกย้ายไปทำธุรกิจที่อื่นๆ ซึ่งแน่นอนหากมีจำนวนมากรัฐบาลย่อมย้อนมองถึงปัญหาและพิจารณาทำการเปลี่ยนแปลง ท้ายสุด นโยบาย 4.0 กับปีใหม่ที่เกิดขึ้นจะทำให้เกิดแรงสนับสนุนต่างๆ มากมายทั้งในแง่งบประมาณ และกิจกรรมต่างๆ เพื่อสนองต่อผู้ประกอบการที่มีความประสงค์ที่จะเปลี่ยนแปลงและตอบรับกับนโยบาย และท้ายที่สุด การขับเคลื่อนโดยนวัตกรรมจะช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันอย่างยั่งยืน