เนื้อหาวันที่ : 2016-12-20 15:58:11 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2296 views

“ม.หอการค้าไทย จับมือ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โนมูระ พัฒนาสิน และ เอสเอ็มอีแบงค์ ขับเคลื่อน SMEs และ Startup ไทยผ่าน The Angel Biz Challenge ”

          มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สถาบันการศึกษาชั้นนำด้านธุรกิจของประเทศไทย ร่วมกับ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) และ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย จัดโครงการ “The Angel Biz Challenge (ABC)” ครั้งที่ 1 เพื่อส่งเสริม สนับสนุนและบ่มเพาะ ผู้ประกอบการในประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นเวทีในการนำเสนอ ความคิดสร้างสรรค์ไอเดียทางธุรกิจใหม่ โดยใช้นวัตกรรมต่อ “Angle Investors” หรือ นักลงทุนที่ลงทุนในธุรกิจใหม่ ระยะเริ่มแรก ไม่เพียงแต่การนำเสนอความคิดทางธุรกิจใหม่ๆ ภายในการจัดงานยังมีการจัด “Angle Boot Camp” ขึ้นเพื่อบ่มเพาะไอเดียใหม่ให้ตกผลึกและเป็นรูปธรรมเพื่อพร้อมต่อการนำเสนอต่อนักลงทุนและผู้สนใจเข้าร่วมทำธุรกิจอย่าง Angle Investor ซึ่งภาคีการจัดงานครั้งนี้ได้เข้ามาเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้

 

          The Angel Biz Challenge(ABC) ครั้งนี้ร่วมสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการ SMEs และ Startup ด้านต่างๆ ได้แก่ โอกาสได้นำเสนอเพื่อระดมทุนในระยะเริ่มต้นกับ Angel Investor เข้ารับการบ่มเพาะกับ Angel Boot Camp จัดโดยเครือข่ายไตรภาคีที่ร่วมกัน,โอกาสนำเสนอกับฐานลูกค้า พันธมิตรทางธุรกิจของบริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) ,ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยและมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย,โอกาสการได้รับคำแนะนำในการจัดหาแหล่งเงินทุนจากนักลงทุน,โอกาส

  

          ในการเข้ารับบริการจาก Center ต่างๆของเครือข่ายไตรภาคีและโอกาสจัดบูธสำหรับแสดงสินค้าและบริการในงาน Startup Expo ณ CNS Corporate Convention Center พร้อมรับเงินรางวัลในการเข้าร่วมงาน The Angel Biz Challenge กว่า 1,350,000.00 บาท

 

 

          การแข่งขันครั้งนี้เน้นด้าน “Ideation Track” คือ มีไอเดียใหม่ทางธุรกิจหรือผลงานขั้นต้นที่ต้องการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม เป็นไอเดียใหม่ทางธุรกิจหรือผลงานขั้นต้นที่มีความเป็นไปได้ในการสร้างนวัตกรรมใหม่ รูปแบบทางธุรกิจใหม่ (Business Model) หรือบริการใหม่,ต้องการคำแนะนำในการพัฒนาไอเดียหรือผลงาน, ต้องการหาทีมงานปฏิบัติการ (Execution Team)

           

          นอกจากนี้ต้องประกอบด้วย “Angel Track” คือ เป็นผลงานหรือ Project ทางธุรกิจที่เป็นนวัตกรรมใหม่และมีรูปแบบทางธุรกิจ (Business Model) หรือ การใช้เทคโนโลยีใหม่ที่ได้มีการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม ,เป็นผลงานหรือ Project ทางธุรกิจที่สามารถแก้ไข/ตอบปัญหา Customer Pains ที่เกิดขึ้นกับลูกค้า ผู้บริโภค หรือคนในสังคม (ซึ่งลูกค้าอาจจะตระหนักหรือไม่ตระหนักถึง) หรือ Idea Solution ในรูปแบบสินค้าหรือบริการ,มีรูปแบบการสร้างรายได้ (Revenue Model) สำหรับ Project ที่นำเสนอ,มีศักยภาพทางด้านตลาด (Potential Market),มีแผนการใช้เงินทุน มูลค่าของ Seed Capital ที่ต้องการและมีทีมงานปฏิบัติการ (Execution Team) ที่พร้อมปฏิบัติการ

 

          ดร.ศักดิพล เจือศรีกุล ผู้อำนวยการศูนย์การสร้างผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม (IDE Center) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า “Angel Biz Challenge นอกจากจะเป็นเวทีที่ผู้ประกอบการเปิดตัวและนำเสนอไอเดียทางธุรกิจ แต่สิ่งที่ทางผู้จัดมองเห็นความสำคัญคือการทำ Accelerator Program ที่เรียกว่า Angel Bootcamp ให้กับผู้ประกอบการ Ideation Track  โดยนอกจากจะมีการทำฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการแล้ว ยังมีการติดตาม และให้คำปรึกษาจากโค้ชเป็นเวลากว่า 2 เดือนเพื่อให้ผู้ประกอบการพัฒนา และทำจริงในไอเดียของตนเอง ด้วยเหตุนี้เองผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการจึงได้รับประโยชน์จากตรงนี้มาก ซึ่งแตกต่างจากการแข่งขันแผนธุรกิจอื่นๆ ส่วนใหญ่ที่มีส่วนการแข่งขันและชิงเงินรางวัลเพียงอย่างเดียว จุดประสงค์ของภาคีผู้จัดโครงการมีวัตถุประสงค์หลักคือการทำให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินการและทำไอเดียให้เกิดขึ้นจริงให้ได้เป็นรูปธรรมมากที่สุดเท่าที่จะผลักดันไปได้

 

          จากโครงการที่ผ่านมาทำให้เราเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของผู้ประกอบการ จากวันแรกของการทำ Bootcamp จนถึงวันสุดท้ายที่เข้ารอบมานำเสนอแผนและสิ่งที่ได้ทำมา เราเชื่อว่าผู้ประกอบการได้องค์ความรู้ และกระบวนการ ที่สามารถนำไปใช้ได้จริง ทางทีมงานของมหาวิทยาลัยหอการค้าได้ใช้ กรอบแนวคิด (Framework) 24 ขั้นตอนของ การประกอบการอย่างมีวินัย (24 Steps: Disciplined Entrepreneurship) ของทาง MIT ซึ่งเราได้รับการถ่ายทอดจากทาง Bill Aulet โดยเรามุ่งเน้นในการสร้างผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม (Innovation-Driven Entrepreneurship: IDE) ซึ่งจากโครงการที่ผ่านมาทำให้เราพิสูจน์ได้ว่าผู้ประกอบการสามารถสอนได้ และทำได้จริง

 

          ท้ายสุดนี้ผมขอตอกย้ำถึงแก่นแท้ของ Business Plan ที่ผู้ประกอบการเขียน นำเสนอ และแข่งขันเพื่อชิงเงินรางวัล โดยผมอยากจะอ้างถึง Steve Blank ได้เขียนใน Harvard Business Review  กล่าวไว้ว่า แผนธุรกิจน้อยนักที่จะอยู่รอดเมื่อได้ติดต่อกับลูกค้าครั้งแรก (Business plans rarely survive first contact with customers) หรือ อย่างที่ไมด์ ไทสัน (Mike Tyson) นักมวยชื่อดังได้กล่าวว่า “ทุกๆ คนมีแผนในการสู้จนกว่าเขาจะถูกต่อยปาก” กล่าวคือ แผนอาจจะไม่มีความหมายเมื่อเวลาเข้าสนามแข่งขันทางธุรกิจจริงด้วยเหตุนี้เองทำให้มีความเข้าในที่ผิดๆ สำหรับแผนธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการ ในความจริงแล้วแผนธุรกิจที่แท้จริงเป็นกระบวนการที่มีการปรับปรุงอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากว่าแผนธุรกิจในร่างฉบับแรกต่างเป็นไอเดียทางธุรกิจเริ่มแรก มีข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน รวมไปถึงการประมาณการต่างๆ ดังนั้นการได้มาซึ่งข้อสมมุติฐาน (Assumption) ต่างๆ ยังไม่สามารถที่จะทราบได้ว่าแผนธุรกิจดังกล่าว แต่อย่างน้อยก็สามารถที่จะตั้งกรอบได้ว่าธุรกิจกำลังจะต้องทำอะไรบ้าง มีรายได้มาจากไหน มีคู่แข่งเป็นใคร ซึ่งในบางครั้งอาจจะเป็นไม่เป็นจริงเช่นนั้นตามที่คาดการณ์ไว้ ดังนั้นผู้ประกอบการจำเป็นที่จะต้องออกจากการคาดการณ์ในกระดาษ (แผนธุรกิจ) ไปสู่การโลกแห่งความเป็นจริง โดยการพูดคุย ค้นหาคำตอบ จากลูกค้าในอนาคตของเราจริงๆ เพื่อได้มาซึ่งข้อมูลที่แท้จริงและทำการปรับใช้กับธุรกิจของตนเองที่ได้ริเริ่ม และแน่นอนว่าแผนธุรกิจของเราจะมีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้ทั้งนั้นท้ายสุดแล้วเป้าหมายจะค่อยๆ ปรากฏขึ้นมาตามสิ่งที่ผู้ประกอบการค่อยๆ สร้างขึ้นมาจากแผนธุรกิจ” ดร.ศักดิพล เจือศรีกุล ผู้อำนวยการศูนย์การสร้างผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม (IDE Center) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวเพิ่มเติม

 

          ทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในครั้งนี้ได้แก่ ทีม PickaPet  ประกอบด้วยสมาชิกทั้งหมด 7 คน ได้แก่ นายสุพพัต ปิยะชัยวุฒิ นายกิตติศักดิ์ ชายสมสกุล นายสิรภพ จึงธนสมบูรณ์ นายระติพรรณ ตรีวนิชย์กุล นายรุจิชนม์ เอี่ยมพัฒนธรรม นายกฤษฎา วิเวก และนายภูมิพัฒน์ ธรรมเลอศักดิ์ โดย PickaPet เป็นตลาดสัตว์ซื้อ-ขายสัตว์เลี้ยง รูปแบบใหม่ ที่ดูแลและกำหนดมาตรฐานโดยสัตวแพทย์ทุกขั้นตอน เตรียมความพร้อมให้ผู้เลี้ยงมีความพร้อมก่อนจะรับเจ้าตัวน้อยมาเป็นสมาชิกในครอบครัว และมีระบบ Coaching คอยแนะนำ และติดตามการเลี้ยงสัตว์ ให้คุณสามารถดูแลเจ้าตัวน้อยให้ดีกว่าที่เคย ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์อยู่แล้วสามารถเข้ามาปรึกษาปัญหาต่างๆของเจ้าตัวน้อยได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย มีสัตวแพทย์คอยให้คำแนะนำตลอดเวลา PickaPet จะเข้าไปเปลี่ยนประสบการณ์การเลี้ยงสัตว์ของทุกคน ให้มีแต่เรื่องราวแห่งความประทับใจ  

 

          นาย สุพพัต ปิยะชัยวุฒิ สัตว์แพทย์ประจำทีม PickaPet กล่าวว่า “ก่อนเข้าแคมป์The Angel Biz ที่มหาลัยวิทยาลัยหอการค้าไทย เรายังเป็นแค่ก้อนไอเดีย แต่ยังไม่ได้ลงรายละเอียด แค่เชื่อว่าเป็นไอเดียที่อาจเป็นไปได้ แต่พอหลังจากได้พบโค้ชของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยทำให้กระบวนการคิดเราเป็นระบบมากขึ้น มีโค๊ชมาคอยสอนกระทั่งกระบวนการคิดเริ่มต้นของ Startup ว่าต้องเริ่มจากคิดอะไรบ้าง และเดินต่อยังไง เหมือนคอยสอนเราอยู่ตลอดการแข่งขัน ทำให้เราพัฒนาจากแค่ก้อนความคิด เป็นธุรกิจที่พร้อมเข้าไปต่อสู้ในตลาดข้างนอก  โค๊ชก็เหมือนเป็นลูกค้า และอาจารย์ไปพร้อมๆกัน คอยมองถึงจุดบอด และชี้ให้เห็น แนะนำให้เราแก้ไข เพราะบางครั้งการคิดไอเดียที่มองแต่คนใน ก็มองไม่เห็นปัญหา เพราะหลักคิดทุกคนใกล้เคียงกันหมด ทำให้บางครั้ง Startup ที่ดีๆพัฒนาไปต่อไม่ได้ เพราะไม่ได้มองในมุมมองลูกค้าจริงๆ”

           

          “สุดท้าย PickaPet ขอฝากเนื้อฝากตัวกับทุกท่าน ใครที่คิดจะเริ่มเลี้ยงสัตว์ซักตัว อยากได้ที่ปรึกษา และจัดหาสัตว์เลี้ยงที่เหมาะสมกับคุณที่สุด ให้นึกถึง PickaPet เราหวังจะสร้างสังคมของคนรักสัตว์ เป็นสังคมที่เราจะช่วยให้คนรักสัตว์จ่ายน้อยลง ด้วยคุณภาพที่สูงขึ้น เพราะเราใช้เงื่อนไขของการสร้างเครือข่าย ทำให้คนในชุมชนทุกคนใช้จ่ายถูกลง ไม่ว่าจะเป็นค่าอาหารสัตว์ ค่ารักษา ค่าอุปกรณ์เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงทั้งหมด”นาย สุพพัต ปิยะชัยวุฒิ กล่าวทิ้งท้าย