เนื้อหาวันที่ : 2016-12-15 12:14:51 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1491 views

พลังงานนิวเคลียร์สามารถช่วยแก้ปัญหาภูมิอากาศ-พลังงานของประเทศไทย

ประเทศไทยให้คำมั่นต่อที่ประชุมความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ณ กรุงปารีส เมื่อปีที่แล้วว่าจะลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 20 – 25 ภายในปี 2030 โดยข้อตกลงปารีสจะมีผลบังคับใช้ในปี 2020 และกำหนดให้ทุกประเทศต้องป้องกันไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส จะทำให้มีสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ต่าง ๆ ตายไปร้อยละ 18 ของทั้งหมด และหากอุณหภูมิสูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส ระดับน้ำทะเลก็จะเพิ่มสูงขึ้น 7 เมตร และทำให้เกิดภัยพิบัติอื่น ๆ ตามมา ผู้เชี่ยวชาญจึงให้ความเห็นว่าหากประเทศไทยต้องการที่จะรักษาคำมั่นที่ให้ไว้ในที่ประชุมกรุงปารีส ก็ควรทบทวนแผนการใช้พลังงานผสม โดยการเริ่มผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานนิวเคลียร์

พลังงานเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การพัฒนาทางสังคม และสวัสดิการต่าง ๆ โดยรายงานภาพร่างนโยบายใหม่ (New Policies Scenario) ของทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ซึ่งเป็นองค์การอิสระภายใต้กรอบองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) คาดการณ์ว่าความต้องการพลังงานโลก ซึ่งส่วนมากขับเคลื่อนโดยประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่และเติบโตเร็ว หรือเศรษฐกิจเกิดใหม่ จะเพิ่มขึ้นเทียบได้เกือบเท่าน้ำมัน 18 กิกะตัน (Gtoe) ภายในปี 2040 ในทางตรงกันข้าม การจะบรรลุเป้าหมายจำกัดการเพิ่มของอุณหภูมิให้ไม่เกิน 2 องศาเซลเซียสนั้น ต้องลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ร้อยละ 41 ของการใช้พลังงานทั้งหมด และลดการปล่อยแก๊สจากการผลิตไฟฟ้าลงให้ได้ร้อยละ 70 ตามข้อมูลของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA)

แสวงหาสมดุลที่เหมาะสมที่สุด

การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การเปลี่ยนแปลงของส่วนผสมพลังงานโลกจากการแสวงหาสมดุลที่ลงตัว และการบูรณาการประเภทของพลังงานสะอาด พลังงานนิวเคลียร์ กระบวนการดักจับและกักเก็บคาร์บอน โครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ และเทคโนโลยีการขนส่งใหม่ที่มีใช้อยู่ สามารถลดทอนการปล่อยแก๊สเรือนกระจกลงได้ ขณะเดียวกันก็ต้องส่งเสริมความตระหนักรู้ด้านความมั่นคงทางพลังงาน ตลอดจนดำเนินการเพื่อประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

ดังนั้น หนึ่งในอุปสรรคสำคัญในช่วงทศวรรษข้างหน้าก็คือ การเสริมสร้างการพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจโดยการจัดสรรพลังงานที่ปลอดภัย น่าเชื่อถือ และราคาไม่แพง ขณะที่ต้องสามารถลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกลงได้ด้วย พลังงานนิวเคลียร์เป็นหนึ่งในแหล่งพลังงานและเทคโนโลยีที่มีใช้อยู่ในปัจจุบันที่สามารถช่วยบรรเทาปัญหาภูมิอากาศ-พลังงานดังกล่าวได้

แอกนีตา ไรซิง ผู้อำนวยการใหญ่สมาคมนิวเคลียร์โลก ระบุในช่วงแถลงข่าวระหว่างการประชุมกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาคี COP22 ในเมืองมาร์ราเกช (วันที่ 7-18 พฤศจิกายน 2016) ว่า: “ไฟฟ้าเป็นส่วนสำคัญของโลกสมัยใหม่ การเข้าถึงแหล่งผลิตไฟฟ้าที่เชื่อถือได้และราคาไม่แพงได้ทั่วทั้งโลกอย่างเต็มที่ถือเป็นสิ่งจำเป็น การจะบรรลุเป้าหมายด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศตามข้อตกลงปารีสจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าที่มาจากกระบวนการผลิตที่คาร์บอนต่ำ นิวเคลียร์เป็นพลังงานที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าคาร์บอนต่ำ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมพันธกิจลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกลง โดยที่ยังคงมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน”

ในงานเดียวกัน คิริลล์ โคมารอฟ รองซีอีโอฝ่ายพัฒนาบรรษัทและธุรกิจระหว่างประเทศของรอสอะตอม บริษัทพลังงานนิวเคลียร์แห่งชาติของรัสเซีย กล่าวว่าการจะผลิตไฟฟ้าได้ตามความต้องการและแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไปด้วยนั้น จำเป็นต้องพิจารณาแหล่งพลังงานทั้งโลกแล้วตั้งเป้าการลดทอนการปล่อยแก๊สเรือนกระจก “เราเชื่อว่าในสถานการณ์เช่นนี้ ทางออกที่ดีที่สุดคือการขยายสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานนิวเคลียร์” เขาย้ำอีกว่า “เรามั่นใจว่าอนาคตของพลังงานจะขึ้นกับการผสมผสานอย่างสมดุลระหว่างเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำต่าง ๆ ซึ่งช่วยให้มีราคาไม่แพง ผลิตได้อย่างเพียงพอต่อความต้องการ และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด”

การปล่อยแก๊สเรือนกระจกของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีปริมาณน้อยมาก และพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งใช้ร่วมกับพลังงานสะอาดอื่น ๆ ได้อย่างลงตัว ถือเป็นหนึ่งในวิธีผลิตพลังงานที่ปล่อยแก๊สเรือนกระจกน้อยที่สุด เมื่อพิจารณาจากปริมาณการปล่อยแก๊สทั้งกระบวนการ

ข้อได้เปรียบของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ในเชิงการปล่อยคาร์บอนต่ำ ในเชิงการแข่งขันและความน่าเชื่อถือเมื่อเทียบกับพลังงานอื่น รวมทั้งการให้พลังงานที่สามารถกำหนดหรือเพิ่มลดปริมาณการผลิตได้และสามารถบรรเทาโลกร้อนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้หลายประเทศเริ่มหันมาใช้พลังงานนิวเคลียร์ในช่วงหลายทศวรรษข้างหน้า หรือขยายโครงการจากที่มีอยู่เดิม

ผศ.ดร. ดุลยพงศ์ วงศ์แสวง จากภาควิชานิวเคลียร์เทคโนโลยี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า “มีแรงกดดันอย่างมากจากนานาชาติให้เร่งการลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกลง เนื่องมาจากผลกระทบของอุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้น ส่งผลถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และในแง่นี้ การผลิตพลังงานไฟฟ้าด้วยนิวเคลียร์สามารถลดแรงกดดันดังกล่าว ว่าด้วยโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้”

รายงานของสมาคมนิวเคลียร์โลกระบุว่า สมาชิกในแวดวงอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ของโลกต่างก็มีเป้าหมายที่จะร่วมผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ให้ได้ 1,000 กิกะวัตต์ภายในปี 2050 เพื่อให้นิวเคลียร์มีสัดส่วนร้อยละ 25 ในการผลิตไฟฟ้าในโลก ทั้งนี้ ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศระบุในรายงานเทคโนโลยีนิวเคลียร์ประจำปี 2016 ว่า พลังงานนิวเคลียร์ช่วยบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศลงได้มาก ด้วยการตัดทอนการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลงปีละ 2,000 ล้านตัน

นิวเคลียร์คือความ กรีนแบบใหม่

นิทรรศการเกี่ยวกับการพัฒนาแบบคาร์บอนต่ำที่จัดขึ้นระหว่างการประชุมภาคี COP22 โดยรัฐบาลรัสเซียนั้น แสดงให้เห็นถึงบทบาทของพลังงานนิวเคลียร์ในการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การแก้ไขพลังงานขาดแคลน และการลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจก ขณะเดียวกับที่คงระดับการผลิตพลังงานในปริมาณมาก เพื่อตอบสนองความต้องการของประชากรโลกที่เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ และการพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไม่ปล่อยแก๊สเรือนกระจกหรือมลพิษทางอากาศออกมาระหว่างกระบวนการผลิต และมีการปล่อยแก๊สออกมาน้อยมากตลอดระยะอายุการใช้งานทั้งหมด พลังงานนิวเคลียร์ช่วยให้เกิดความมั่นคงทางพลังงานและการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม โดยการส่งมอบกระแสไฟฟ้าอย่างมีเสถียรภาพและคงที่ ในราคาที่คาดการณ์ล่วงหน้าได้

“เราส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี VVER ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งในรัสเซียและต่างประเทศ ซึ่งปลอดภัย เชื่อถือได้ และได้รับการยอมรับไปทั่วโลก” คิริลล์ โคมารอฟ กล่าว จากคำพูดของเขาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ VVER (เตาปฏิกรณ์แรงดันน้ำของรัสเซีย) ทั่วโลกสามารถยับยั้งการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ได้ราว 15 กิกะตัน ในปริมาณนี้จะเทียบเท่ากับการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของโรงไฟฟ้าถ่านหิน 40 โรง โรงละ 1 กิกะวัตต์ ในเวลา 60 ปี “ปัจจุบันสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ของรัสเซียคิดเป็นร้อยละ 48 จากพลังงานคาร์บอนต่ำทั้งหมด ถือเป็นสิ่งที่เรามอบให้กับอนาคตแบบคาร์บอนต่ำของโลก” โคมารอฟกล่าว

แอกนีตา ไรซิง กล่าวว่า “ฝรั่งเศส สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ และรัฐออนตาริโอในแคนาดาสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานคาร์บอนต่ำได้กว่าร้อยละ 80 จากทั้งหมดด้วยการใช้พลังงานนิวเคลียร์ร่วมกับพลังงานสะอาดอื่น ๆ ซึ่งเท่ากับว่าประเทศเหล่านี้บรรลุแนวทางการผสมผสานพลังานคาร์บอนต่ำที่ทั่วโลกเตรียมจะทำภายในปี 2050 ตามข้อตกลงปารีสได้แล้ว” คามารอฟ เน้นย้ำว่าพลังงานปรมาณูและพลังงานสะอาดไม่สามารถพิจารณาแยกจากกันได้ “เรามั่นใจว่าอนาคตของอุตสาหกรรมพลังงานขึ้นอยู่กับการสร้างดุลระหว่างเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำที่หลากหลาย ที่จะทำให้ราคาพลังงานไม่แพง ปลอดภัย และไม่กระทบกับสิ่งแวดล้อม” ซึ่งโคมารอฟได้เปิดเผยถึงโครงการล่าสุดของรอสอะตอมในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมด้วย การลงทุนทั้งหมดของรอสอะตอมครั้งนี้มีมูลค่ากว่า 1,000 ล้านยูโร

ร.ศ. ดร.สัญชัย นิลสุวรรณโฆษิต หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานฝ่ายวิชาการสมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทยมีความเห็นว่า “พลังงานนิวเคลียร์มีประโยชน์และเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับอนาคต” และได้กล่าวว่า “พวกเราควรศึกษาและเตรียมพร้อมที่จะนำมาประยุกต์ใช้”

สำหรับอ้างอิง

การประชุมกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาคี COP22 ของสหประชาชาติ มีขึ้นตั้งแต่วันที่ 7-18 พฤศจิกายน 2016 ณ เมืองมาร์ราเกช ประเทศโมร็อกโก มีผู้เข้าร่วมราว 20,000 คน วันที่ 12 ธันวาคม 2015 ข้อตกลงปารีสได้รับการลงนามในการประชุมภาคี COP21 โดยมีเป้าหมายเพื่อยับยั้งการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยโลกภายในปี 2100 ไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม และเพื่อการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิให้อยู่ที่ 1.5 องศาเซลเซียส