เนื้อหาวันที่ : 2016-12-13 14:53:30 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1437 views

บี.กริม เพาเวอร์ เดินหน้าผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเสริมกำลังผลิต จากโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์เข้าสู่ระบบ ยันการดำเนินงานเป็นไปตามแผนที่ตั้งไว้

บี.กริม เพาเวอร์ เดินหน้าเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าในระบบโดยใช้พลังงานหมุนเวียน เปิดตัว โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ใน 4 จังหวัด ขนาดกำลังผลิตรวม 114.2 เมกะวัตต์ โชว์ศักยภาพการผลิตไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ชี้เสริมความแข็งแกร่งทางธุรกิจและหนุนนโยบายพลังงานหมุนเวียนของประเทศ เพื่อลดการพึ่งพา “พลังงานนำเข้า” และลดคาร์บอนไดออกไซด์ ย้ำชัด “โรงไฟฟ้าต้องอยู่คู่กับชุมชน และสิ่งแวดล้อม”  พร้อมยืนยันแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าสำหรับโครงการในอนาคตเป็นไปตามเป้า

นางปรียนาถ  สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี. กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน)  เปิดเผยว่า ในช่วง 2-3   ปีที่ผ่านมาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทย อันได้แก่ พลังงานชีวมวล พลังงานแสงอาทิตย์พลังงานลม ก๊าซชีวภาพ พลังงานขยะ และเทคโนโลยีอื่นๆ ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยข้อมูล ณ เดือนมีนาคม 2559 นั้น มีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนสูงถึง 4 กิกะวัตต์ และเป็นพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ประมาณ 1.5 กิกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าในปลายปี 2559 ปริมาณจะเพิ่มเป็น 3 กิกะวัตต์ ซึ่งจะส่งผลให้สัดส่วนของไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 5 ของกำลังผลิตไฟฟ้ารวมของประเทศ

บมจ. บี. กริม เพาเวอร์ เห็นความสำคัญต่อการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน  โดยได้ลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ในพื้นที่ที่มีศักยภาพเชิงพลังงานแสงอาทิตย์สูง ได้แก่ ในเขตอำเภอบางเลน และ อำเภอดอนตูม จังหวัดนครปฐม และอำเภอเสนา จังหวัดอยุธยา รวมกำลังผลิตรวม 59.7 เมกะวัตต์  (ตามสัดส่วนการถือครองหุ้น) นอกจากนี้ยังมีโรงไฟฟ้าอีก 4 แห่งในพื้นที่จังหวัดนครปฐม และ อีก 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสระบุรี และ สระแก้ว มีกำลังผลิตรวมอยู่ที่ 54.5 เมกะวัตต์ รวมกำลังผลิตทั้งสิ้น 114.2 เมกะวัตต์

นางปรียนาถ กล่าวต่อไปว่า  “การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ถือเป็นอีกโครงการหนึ่งที่สำคัญของบริษัทฯ ซึ่งไม่เพียงแต่จะสร้างศักยภาพในเชิงธุรกิจให้กับ บมจ. บี.กริม เพาเวอร์ เท่านั้น หากแต่ยังเป็นโครงการที่ช่วยสนับสนุนให้การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทย เดินหน้าไปตามเป้าหมายในการลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ CO2 อันเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อน รวมทั้งเสริมสร้างความมั่นคงในระบบไฟฟ้าให้กับประเทศ และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในพื้นที่นั้นๆ ด้วย”

กระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้  บริษัทฯ ได้จำหน่ายให้กับ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)  ผ่านโครงข่ายเชื่อมโยงการจ่ายไฟฟ้าผ่านสายส่งไฟฟ้า 22 กิโลโวลต์ หรือ 115 กิโลโวลต์ ซึ่งเชื่อมต่อกับสถานีย่อยของ กฟภ. ซึ่งบริษัทฯ ได้ลงทุนสร้างสายส่งไฟฟ้าเหล่านี้เองทั้งหมด   อย่างไรก็ตาม แม้ว่า บริษัทฯ จะเป็นผู้สร้างสายส่งเหล่านี้เอง แต่กลุ่มบริษัทฯ เป็นเจ้าของสายส่งไฟฟ้าเหล่านี้เฉพาะบริเวณภายในโครงการโรงไฟฟ้าของกลุ่มบริษัทฯเท่านั้น ขณะที่ กฟภ. จะเป็นเจ้าของและเป็นผู้บำรุงรักษาสายส่งไฟฟ้าระหว่างสถานีไฟฟ้าย่อย ที่ตั้งอยู่บริเวณโครงการโรงไฟฟ้าของกลุ่มบริษัทฯ ไปยังจุดที่เชื่อมต่อกับ กฟภ.

นางปรียนาถ  กล่าวว่า บมจ. บี. กริม เพาเวอร์ ได้ใช้เงินลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 8,000 ล้านบาท ตั้งอยู่บนพื้นที่ขนาด (รวมทั้งหมด) 1,670 ไร่ ใน 4 จังหวัด โดยมีกำลังการผลิตจำนวน 114.2 เมกะวัตต์ และจำหน่ายเข้าระบบ กฟภ. เป็นสัดส่วน 100 % และมีรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าในช่วงครึ่งปีแรก 500 ล้านบาท โดยการดำเนินงานของโครงการนี้นั้น ถือเป็นการประกอบธุรกิจผลิตไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนอย่างแท้จริง

กล่าวคือ ตั้งแต่แหล่งที่มาของพลังงาน กระบวนการผลิตและการดำเนินกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมร่วมกับชุมชน โดยบริษัทฯ ได้เลือกใช้เทคโนโลยีอินเวอร์เตอร์ที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าจากยุโรป ซึ่งได้รับการยอมรับถึงคุณภาพไฟฟ้าและกระบวนการผลิตไฟฟ้าที่ได้มาตรฐานในระดับสากล โดยชุดแผงพลังงานแสงอาทิตย์จะถูกรวบรวมและติดตั้งให้เป็นกลุ่มเพื่อสร้างกระแสไฟฟ้าให้ได้ปริมาณตามต้องการ แล้วส่งออกไปรวมกันเพื่อให้มีปริมาณกระแสไฟฟ้าสูงขึ้นก่อนที่จะส่งไปยังเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้า เพื่อเปลี่ยนไฟฟ้าจากกระแสตรงให้เป็นไฟฟ้ากระแสสลับให้สามารถเชื่อมต่อกับระบบไฟฟ้าทั่วไป ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้มีการเพิ่มแรงดันไฟฟ้าโดยใช้หม้อแปลงไฟฟ้าชนิดเพิ่มแรงดันเพื่อให้ไฟฟ้าที่ได้สามารถต่อกับระบบสายส่งของ กฟภ. ด้วย

และนอกจากกระบวนการผลิตไฟฟ้าฯ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว บริษัทฯ ยังได้เห็นความสำคัญของการส่งเสริมกิจกรรมกับชุมชนและสังคมโดยรอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมให้เกิดความตระหนักรู้เกี่ยวกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม โดยบริษัทฯ ได้ดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องมากกว่า 10 โครงการ และได้จัดสรรงบประมาณในแต่ละปีเป็นจำนวนมากกว่า 10 ล้านบาท เพื่อเป็นการส่งเสริมกิจกรรมร่วมกันระหว่างชุมชนและโรงไฟฟ้า อันจะเป็นรากฐานสำคัญที่นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

“เรามองว่า สิ่งสำคัญในการทำธุรกิจโรงไฟฟ้า คือ ทำอย่างไรที่จะสร้างสรรค์สิ่งที่ดีให้เกิดขึ้น ทั้งในด้านความมั่นคงทางพลังงานควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมและดูแลชุมชนโดยรอบ ต้องบอกว่านับตั้งแต่เริ่มทำโครงการนี้ สิ่งที่เราภาคภูมิใจคือ เราได้รับการต้อนรับที่ดีจากสังคมและชุมชนโดยรอบ เรามีกระบวนการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ”

อนึ่ง บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ได้ประกอบธุรกิจโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เป็นจำนวน 15 โครงการ มีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้ง 114.2 เมกะวัตต์ ครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัด คือ จังหวัดนครปฐม จังหวัดสระบุรี จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและจังหวัดสระแก้ว โดยเป็นการลงทุนผ่านบริษัทย่อยและบริษัทร่วมค้า 4 บริษัท คือ บริษัท บี.กริม ยันฮี โซลาร์ เพาเวอร์ จำกัด (BGYSP) บริษัท โซลาร์วา จำกัด (Solarwa) บริษัท ทีพีเอส คอมเมอร์เชียล จำกัด (TPS) และ บริษัท บี.กริม โซลาร์ เพาเวอร์ (สระแก้ว) จำกัด (BGPSK)

นางปรียนาถ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้บริษัทฯ ได้มีการเซ็นสัญญาแล้ว รวมกับกำลังผลิตที่มีอยู่แล้วทั้งในและต่างประเทศ  จำนวนประมาณ  2,383  เมกกะวัต มั่นใจว่าการพัฒนาและการก่อสร้างเป็นไปตามเป้าหมาย

สำหรับแผนงานในอนาคตที่คาดว่าจะทำให้บริษัทฯ ดำเนินการได้ตามเป้า จำนวน 5,000 เมกกะวัตนั้น บริษัท ได้ศึกษาความเหมาะสม และพิจารณาการลงทุนเพิ่มเติมในประเทศที่มีศักยภาพรอบบ้านเรา อาทิ ลาว อินโดนีเซีย เวียตนาม กัมพูชา และฟิลิปปินส์ เป็นต้น  คาดว่าในอนาคตจะมีการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าโดยใช้พลังงานหมุนเวียน จาก 10% เป็น 25-30% ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และ พลังงานน้ำ นอกนั้นจะเป็นการผลิตโดยใช้เชื้อเพลิงผสมผสานแบบคอมไบน์ไซเคิล ซึ่งทำให้มีความเป็นไปได้ที่จะทำให้การดำเนินงานเป็นไปตามแผนงานที่ตั้งไว้