เนื้อหาวันที่ : 2007-09-06 19:27:20 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1993 views

ก.วิทย์ฯ เดินหน้าฟื้นฟูเครื่องจักรกล CNC เพื่อการพัฒนายั่งยืน

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ สมาคมเครื่องจักรกลไทย เปิดตัวโครงการพัฒนาเทคโนโลยีการสร้างเครื่องจักรและการฟื้นฟูและซ่อมแซมเครื่องจักรกลซีเอ็นซี

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ สมาคมเครื่องจักรกลไทย จัดแถลงข่าวโครงการพัฒนาเทคโนโลยีการสร้างเครื่องจักรและการถ่ายทอดเทคโนโลยีการฟื้นฟูและซ่อมแซมเครื่องจักรกลซีเอ็นซี เพื่อการพัฒนายั่งยืนให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ปีงบประมาณ 2550 โดยนางสุจินต์ ศรีคงศรี ผู้ตรวจราชการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เป็นประธานการแถลงข่าว เมื่อวันพุธที่ 5 กันยายน 2550 ณ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ

 .

สืบเนื่องจาก กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้พิจารณาเห็นว่าการผลิตเครื่องจักรซีเอ็นซีเป็นเทคโนโลยีพื้นฐานที่สามารถนำไปใช้งานเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมตามยุทธศาสตร์การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและยังใช้สนับสนุนอุตสาหกรรมหลักของประเทศ ไม่ว่าจะเป็น อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารและผลผลิตทางการเกษตร อุตสาหกรรมสิ่งทอและหัตถกรรม อุตสาหกรรมเครื่องจักรการเกษตรและอุตสาหกรรมชีวการแพทย์ เป็นต้น

 .

นอกจากนี้ เทคโนโลยีด้านเครื่องจักรซีเอ็นซี (CNC : Computer Numerical Control) มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ทำให้สามารถผลิตชิ้นงานได้อย่างแม่นยำและใช้เวลาไม่มาก เนื่องจากเครื่องจักรซีเอ็นซีสามารถเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ ทำให้การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของชิ้นงานที่ต้องการสร้างเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว เครื่องจักรซีเอ็นซีจึงมีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมการผลิต และสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดที่มีการแข่งขันสูงในปัจจุบันได้

 .

ดังนั้น ในแต่ละปีจึงมีการนำเข้าเครื่องจักรซีเอ็นซีจากต่างประเทศจำนวนมาก แต่บุคลากรและผู้ประกอบการ SMEs ที่มีความรู้ที่เกี่ยวกับเครื่องจักรซีเอ็นซียังมีน้อยมาก เมื่อเทียบกับจำนวนเครื่องจักรที่มีทั้งหมด ในประเทศ เมื่อเครื่องจักรเกิดการเสียหายหรือเสื่อมสภาพตามกาลเวลา ต้องมีการว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทผู้ผลิตมาทำการซ่อมแซมหรือซ่อมบำรุงซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง ในบางครั้งอาจไม่คุ้มค่าต่อการซ่อมแซม จึงเป็นผลให้เกิดมีเครื่องจักรเก่าจำนวนมากที่ไม่สามารถใช้งานได้หรือใช้งานได้ แต่ขาดการบำรุงรักษา เพื่อทำให้มีความแม่นยำที่ยอมรับได้ อันเป็นปัญหาที่สะสมในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต

 .

ทำให้เป็นภาระของเจ้าของเครื่องจักร หากเครื่องจักรเหล่านี้ได้รับการฟื้นฟูสภาพจากผู้มีความเชี่ยวชาญ เครื่องจักรเหล่านี้จะสามารถถูกนำกลับมาใช้ใหม่ได้ โดยมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่าการซื้อเครื่องจักรใหม่มาก จะเป็นการลดการนำเข้าเครื่องจักรใหม่ที่มีราคาสูงจากต่างประเทศ อีกทั้งยังเป็นการสร้างเครื่องจักรซีเอ็นซีที่มีราคาถูกให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กและสามารถแก้ปัญหาเครื่องจักรเก่าตกค้างอีกด้วย นอกจากนี้ หากมีผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับการฝึกอบรมเป็นจำนวนมาก ก็จะสามารถฟื้นฟูสภาพเครื่องจักรเพื่อส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศได้อีกทางหนึ่งด้วย

 .

นางสุจินต์ ศรีคงศรี ผู้ตรวจราชการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่างเพิ่มเติมในการแถลงข่าวว่า "กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เล็งเห็นความสำคัญ ความคุ้มทุน และความเป็นไปได้ในการฟื้นฟูเครื่องจักรกลเก่าภายในประเทศ จึงได้พิจารณา ดำเนินการโครงการพัฒนาเทคโนโลยีการสร้างเครื่องจักรและการถ่ายทอดเทคโนโลยีการฟื้นฟูและซ่อมแซมเครื่องจักรกลซีเอ็นซีเพื่อการพัฒนายั่งยืนให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ร่วมกับ สมาคมเครื่องจักรกลไทย ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการฟื้นฟูสภาพเครื่องจักรซีเอ็นซีเก่าให้สามารถกลับมาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพประมาณ 80 % ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรม ช่วยแก้ปัญหาเครื่องจักรเก่าตกค้าง และสามารถส่งออกจำหน่ายต่างประเทศ เป็นการสร้างรายได้อีกทางหนึ่งด้วย"

 .

ด้านนายณรงค์ สกุลศิริรัตน์ อุปนายกสมาคมเครื่องจักรกลไทย เปิดเผยว่า เครื่องจักรที่ผ่านการฟื้นฟูสภาพแล้ว จำเป็นต้องสร้างความมั่นใจในความเชื่อถือ สมรรถนะและความแม่นยำของเครื่องจักร โดยการศึกษาและจัดทำแนวทางการปฏิบัติการประเมินความเชื่อถือ สมรรถนะและความแม่นยำของเครื่องจักร อันจะนำไปสู่การจัดตั้งหน่วยรับรองคุณภาพมาตรฐานเครื่องจักรกลที่ผลิตขึ้นหรือผ่านการฟื้นฟูสภาพ ในประเทศ

 .

โดยคาดหวังว่าการดำเนินโครงการฯ ดังกล่าวนี้ จะส่งผลให้เกิดการร่วมมืออันดีระหว่างกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs และบุคลากรทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษาและเอกชน อันจะช่วยส่งเสริมบุคลากรของไทยให้สามารถพัฒนา ฟื้นฟูสภาพเครื่องจักรกล CNC ได้ และจะเป็นการสร้างความแข็งแกร่งของภาคอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและอุตสาหกรรมอื่นๆของไทยในอนาคต นอกจากนี้ยังช่วยส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีของตนเองอย่างยั่งยืน และช่วยให้ประเทศไทยมีรายได้จากการฟื้นฟูเครื่องจักรกล CNC ในอนาคตอันใกล้นี้