เนื้อหาวันที่ : 2016-10-10 14:15:56 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1392 views

สคช. ปรับแผนยุทธศาสตร์ 5 ปีข้างหน้า มุ่งเชื่อมโลกการศึกษากับอาชีพสู่ Thailand 4.0

เมื่อเร็ว ๆ นี้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย จัดเวทีนำเสนอ (ร่าง)แผนยุทศาสตร์โครงการทบทวนและจัดทำแผนยุทธศาสตร์สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ พ.ศ.2560-2564  และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายโดย

นายวีระชัย ศรีขจร ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) กล่าวเปิดงาน โดยมีใจความสำคัญระบุถึงความจำเป็นของการทบทวนและจัดทำแผนยุทธศาสตร์ฯใหม่เพิ่มเติม จากแผนยุทศาสตร์เดิมที่ดำเนินการมาระยะหนึ่ง (แผนยุทธศาสตร์สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ พ.ศ. 2558-2562) และมีผลงานมากพอสมควร  แต่ด้วยประเด็นความท้าทายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและในอนาคตทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว   ทำให้สถาบันฯ ตระหนักถึงความสำคัญของการทบทวนยุทธศาสตร์การดำเนินงานเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป  จึงให้มีการทบทวนและจัดทำแผนยุทธศาสตร์สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ พ.ศ. 2560-2564 เพื่อนำไปกำหนดทิศทางการดำเนินงานตามภารกิจของสถาบันให้สอดคล้องกับบริบทต่างๆ และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาล และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12  และเกิดประโยชน์สูงสุดในการเป็นสถาบันหลักในการให้การรับรองคุณวุฒิวิชาชีพของประเทศไทย รวมทั้งสามารถเชื่อมโยงมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพของไทยกับมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพของอาเซียนและระดับสากลได้   ซึ่ง สคช.พร้อมทำงานร่วมกับทุกฝ่ายเพื่อตอบสนองในการพัฒนาสมรรถนะกำลังคนทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว

รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผอ.วิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน ทีดีอาร์ไอ นำเสนอผลการทบทวนและจัดทำแผนยุทธศาสตร์สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ พ.ศ.2560-2564 โดยมีสาระสำคัญ จากการพิจารณาถึงประเด็นความท้าทายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคตทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ   ความเชื่อมโยงของแผนยุทศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ซึ่งกำหนดให้มีการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน เพื่อช่วยสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ  ซึ่งนับเป็นภารกิจหลักของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (สคช.)

จากการทบทวนแผนยุทศาสตร์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งสถานการณ์ด้านกำลังคน บริบทแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง  และโครงสร้างและผลการดำเนินการที่ผ่านมาของ สคช.  ผลวิเคราะห์ได้ (ร่าง)แผนยุทธศาสตร์ใหม่สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ พ.ศ.2560-2564 ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ สำคัญ คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานทุกภาคส่วน ในการประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้เกี่ยวกับระบบคุณวุฒิวิชาชีพและมาตรฐานอาชีพให้เป็นที่รู้จัก และผลักดันให้มีการนำไปใช้ประโยชน์   ยุทธศาสตร์ที่ 2 จัดทำและทบทวนมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคเศรษฐกิจ และเทียบเคียงมาตรฐานสากล ยุทธศาสตร์ที่ 3 ผลักดันให้มีการนำระบบคุณวุฒิวิชาชีพและมาตรฐานอาชีพไปสู่การต่อยอดกับหน่วยงานด้านการศึกษา แรงงาน และผู้ประกอบการ นำไปใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาสมรรถนะเพื่อเป็นเครื่องมือในการสร้างความก้าวหน้าในอาชีพให้กับกำลังคน รวมถึงผู้ที่ขาดโอกาสในการเข้าสู่ระบบการศึกษา ยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนาระบบการรับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและผลักดันให้กำลังคนได้รับการรับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพให้ครอบคลุมทุกสาขาวิชาชีพ ยุทธศาสตร์ที่ 5 นำระบบศูนย์กลางเครือข่ายข้อมูลสารสนเทศและการบริการเกี่ยวกับคุณวุฒิวิชาชีพและมาตรฐานอาชีพไปใช้สนับสนุนในการบริการระบบคุณวุฒิวิชาชีพตามแนวทางรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์(E-Government)ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การศึกษาให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อให้บรรลุผลตามยุทธศาสตร์ คือ  บทบาท สคช.ควรมุ่งเน้นอาชีพที่มีทักษะระดับสูง เป็นอาชีพที่จำเป็นและเป็นความต้องการของประเทศอย่างแท้จริง   ดำเนินการโดยเน้นการบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากขึ้นและมีความชัดเจน ทั้งกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ภาคการศึกษา และภาคอุตสาหกรรม  ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน  พิจารณาเพิ่มอัตรากำลังให้สอดคล้องกับภารกิจ และส่งเสริมการทำงานของบุคลากรให้มีประสิทธิภาพ  ที่สำคัญเร่งผลักดันให้หน่วยงานเกี่ยวข้องนำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพไปใช้ประโยชน์  รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถือแก่องค์กรรับรองสมรรถนะบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ  ขยายเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่ให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มช่องทางให้แก่ผู้ประกอบอาชีพในการทดสอบสมรรถนะอาชีพ  และควรมีการติดตามประเมินผล รวมทั้งกำกับดูแลมาตรฐานอาชีพที่แล้วเสร็จและนำไปทดสอบ

อย่างไรก็ตาม จากกรอบยุทธศาสตร์และแนวทางการดำเนินงานที่มีการปรับปรุงแล้วของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพและการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง จะเป็นสะพานเชื่อมต่อโลกของการศึกษากับโลกของอาชีพ  โดยกำหนดคุณวุฒิวิชาชีพและมาตรฐานอาชีพที่สอดคล้องกับ Thailand 4.0  เพื่อพัฒนาศักยภาพคนไทยได้สอดคล้องกับความต้องการทั้งในปัจจุบันและอนาคต และได้มาตรฐานสากล