กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) จัดงานประชุมระดับนานาชาติ 13th ASIALICS 2016 International Conference ภายใต้หัวข้อ Area-based Innovation in Asia เพื่อแลกเปลี่ยนกรอบแนวคิดวิเคราะห์ ความรู้ ความเข้าใจ และประสบการณ์เกี่ยวกับการพัฒนานวัตกรรมเชิงพื้นที่ ซึ่งเป็นรากฐานการสร้างศักยภาพเชิงพื้นที่ของประเทศยุคใหม่ที่อาศัยนวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อน ระหว่างนักวิชาการ นักปฏิบัติ นักวิจัยนโยบาย รวมถึงผู้มีบทบาทสำคัญในระบบนวัตกรรมในทวีปเอเชียและประเทศชั้นนำอื่นๆ ทั่วโลก
รศ.ดร. สมเจตน์ ทิณพงษ์ ประธานกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ สนช. กล่าวว่า “Asia Association of Learning, Innovation and Coevolution Studies (ASIALICS) ได้ริเริ่มจัดงานประชุมระดับนานาชาติ ASIALICS ขึ้นมาในปี พ.ศ. 2547 เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศแถบเอเชียร่วมกันผ่านการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และการจัดทำนโยบายหรือยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศขึ้นในมิติต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม รวมถึงนวัตกรรม โดยในปี 2559 สนช. ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพงานประชุมระดับนานาชาติ 13th ASIALICS International Conference ภายใต้หัวข้อ Area-based Innovation in Asia ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การพัฒนานวัตกรรมเชิงพื้นที่ของ สนช. เพื่อให้เกิดการกระจายตัวและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางนวัตกรรมของประเทศ”
“สนช. มีการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์จากเดิมที่มีการพัฒนานวัตกรรมในองค์กรอย่างจำกัด ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในภาคอุตสาหกรรม การสร้างนโยบายภาครัฐ หรือ การสร้างและเผยแพร่ความรู้ในภาคการศึกษา เพื่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา แต่ทั้งนี้ สนช. เล็งเห็นถึงโอกาสในการพัฒนาระบบนวัตกรรมอย่างยั่งยืนสำหรับประเทศไทย จึงได้ริเริ่มแนวคิดใหม่โดยรวมนวัตกรรมเชิงพื้นที่เข้าด้วยกัน เพื่อสร้างพื้นฐานระบบนวัตกรรมของประเทศ ซึ่งระบบนวัตกรรมเชิงพื้นที่นี้ จะต่างจากแนวคิดในอุตสาหกรรมและระบบนวัตกรรมเชิงภูมิภาคแบบดั้งเดิม โดยจะมุ่งเน้นในพื้นที่ที่สามารถสร้างให้เกิดนวัตกรรมได้ด้วยการพัฒนาทางกายภาพ เช่น โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ การพัฒนาเมือง และการเชื่อมโยงไปยังท้องถิ่น เพื่อผลักดันและสนับสนุนให้ชุมชนและท้องถิ่นเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบนวัตกรรมเชิงนิเวศในรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “ระบบเกลียว 4 เส้น” ซึ่งประกอบด้วยภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และภาคชุมชน ซึ่งในปัจจุบัน รัฐบาลก็ได้เริ่มลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในระบบขนส่งกว่า 2.2 ล้านล้านบาท ครอบคลุมพื้นที่ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจอนุภาคกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขงใต้ โดยเริ่มต้นจากนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด ทั้งนี้ สนช. ได้ริเริ่มโครงการใหม่ๆ เพื่อรองรับและสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมเชิงพื้นที่ เช่น การพัฒนาย่านนวัตกรรมโยธี การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ การพัฒนาพื้นที่และระเบียงนวัตกรรม” รศ.ดร. สมเจตน์ กล่าว
ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สนช. กล่าวว่า “งานประชุมวิชาการนานาชาติ “ASIALICS 2016” นับเป็นครั้งที่ 13 ภายใต้หัวข้อ "Area-based Innovation in Asia" หรือ “นวัตกรรมเชิงพื้นที่ในเอเชีย” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการศึกษาและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ รวมถึงพัฒนาแนวคิดด้านนวัตกรรมเชิงพื้นที่ระหว่างภาครัฐและเอกชนระหว่างประเทศไทยและประเทศต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ระดับนานาชาติของเครือข่ายนักวิชาการและนักปฏิบัติจากหลากหลายประเทศ ก่อให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ระหว่างกันภายใต้บริบทของเศรษฐกิจยุคใหม่ ภายในงานนี้ได้รับเกียรติจากวิทยากรชั้นนำจากทั่วโลกมาร่วมบรรยาย ถ่ายทอดประสบการณ์ และแลกเปลี่ยนมุมมองกับผู้ที่อยู่ในสาขานี้ทั้งภาคธุรกิจและภาควิจัย รวมถึงผู้ที่สนใจด้วย โดยหัวข้อการบรรยายและการนำเสนองานวิจัยนั้นครอบคลุมถึงนวัตกรรมเชิงพื้นที่ ระเบียงเศรษฐกิจอาเซียน ระบบและนโยบายด้านนวัตกรรมในระดับชาติและระดับภูมิภาค การเติบโตของเศรษฐกิจอย่างมีส่วนร่วม การจัดการระบบการเรียนรู้และองค์ความรู้จำนวนมาก และดัชนีชี้วัดนวัตกรรม กลยุทธ์การเจริญเติบโตและความเป็นผู้ประกอบการ และพลังงานสะอาดเพื่อเศรษฐกิจอาเซียน รวมถึงกรณีศึกษาด้านการพัฒนานวัตกรรมเมือง การทำนวัตกรรมเพื่อสังคม เมืองอัจฉริยะ การรักษาสมดุลระหว่างวัฒนธรรมและอุตสาหกรรม รวมถึงบทบาทของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระดับท้องถิ่นอีกด้วย สนช. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า งานประชุมวิชาการ ASIALICS 2016 นี้จะช่วยต่อยอดและพัฒนาองค์ความรู้ทั้งด้านงานวิจัยและเชิงพาณิชย์ และเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเชิงพื้นในเอเชียให้เติบโตขึ้นต่อไป”