เนื้อหาวันที่ : 2016-10-03 13:48:37 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1870 views

โชว์โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ พร้อมขายไฟ ติดหน่วยงานรัฐ ไม่ออกใบอนุญาต เสียหายกว่า 1,700 ล้านบาท

ตัวแทนกลุ่มผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์โซนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในส่วนของ จ.หนองคาย จ.บึงกาฬ และ จ.สกลนคร เปิดให้เข้าชมโรงไฟฟ้าฯ  ขนาดไม่เกิน 1 เมกะวัตต์ โชว์ศักยภาพ ซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2555 เตรียมขายไฟให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ติดปัญหายืดยาวเป็นมหากาพย์ ซึ่งทุกโรงไฟฟ้าร่วมกันฝ่าฟันชี้แจง แต่สุดท้ายติดปัญหาและอุปสรรคจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ออกเอกสารแจ้งการประกอบกิจการพลังงานที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาต คือ เป็นกิจการพลังงานที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาตการประกอบกิจการพลังงาน ตามพระราชกฤษฎีกา กำหนดประเภท ขนาด และลักษณะของกิจการพลังงานที่ได้รับยกเว้นฯ ประกาศใช้เมื่อ 1 มิถุนายน 2552  ชี้เสียหายหนัก ตีมูลค่าเฉพาะเงินลงทุนทั้งหมดกว่า 1,700 ล้านบาท ผู้ประกอบการ พร้อมหน่วยงานส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องและชุมชน ตั้งข้อสังเกตเรื่องความไม่โปร่งใสของภาครัฐ

 

นายคฑายุทธ์ เอี่ยมเล็ก กรรมการผู้จัดการ บริษัท สุริยะพลัง จำกัด ในฐานะผู้แทนผู้เสียหายของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดไม่เกิน 1 เมกะวัตต์ จำนวนทั้งสิ้น 12 โรงไฟฟ้า เชิญสื่อมวลชนเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ที่มีปัญหายืดเยื้อกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มาร่วม 5 ปี จากการไม่ให้ขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ทั้ง ๆ ที่สร้างแล้วเสร็จมานาน โชว์ศักยภาพความพร้อมโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในแต่ละพื้นที่ 5 บริษัท  ได้แก่ บจก.อินโดจีน เทรดดิ้ง จ.หนองคาย บจก.แม่โขง เทคโนโลยี บจก.พัฒนาโซลาร์เธอร์มอล บจก.สยามพลังงานทดแทน และ บจก.สุริยะพลัง จ.บึงกาฬ ซึ่งทั้งหมดเป็นเพียง 5 ใน 12 บริษัทที่มีสัญญาในการจำหน่ายไฟฟ้าให้กับ กฟภ. แต่หลังจากสร้างแล้วเสร็จ ก็ถูกดึงเรื่องไม่ให้จำหน่ายไฟให้ กฟภ.โดยทาง กกพ.แจ้งถึงปัญหาและอุปสรรคต่างๆ เช่น แจ้งว่าโครงการสร้างเสร็จล่าช้ากว่ากำหนด ซึ่งทางออกเรื่องนี้ทางผู้ประกอบการโรงไฟฟ้า พร้อมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็ทำหนังสือชี้แจง กกพ.ผ่านทาง กฟภ.เรียบร้อย และทาง กฟภ.เองในฐานะคู่สัญญาก็เข้าใจ ซึ่งไม่เป็นการผิดข้อสัญญาแต่อย่างใด และผู้ประกอบการก็เดินหน้าดำเนินโครงการจนแล้วเสร็จ เตรียมพร้อมขายไฟ แต่ก็ถูกดึงเรื่องและถูกกล่าวหาว่ายังสร้างโรงไฟฟ้าไม่เสร็จบ้าง เอกสารจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ชัดเจนบ้าง มีการดึงเรื่องมาโดยตลอด แม้กระทั่งสุดท้ายแล้วมี 4 บริษัทสามารถฝ่าฟันข้อท้วงติงที่ไม่เป็นธรรมมาได้ แต่ก็ต้องเฝ้ารอเอกสารเอกสารแจ้งการประกอบกิจการพลังงานที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาต จาก กกพ.อีกทำให้ยังไม่สามารถจำหน่ายไฟฟ้าให้กับ กฟภ.ได้ในเวลาที่ กฟภ.กำหนด

“วันนี้ 12 บริษัทที่เดือดร้อน จากเงินที่ลงทุนไปรวมแล้วกว่า 1,700 ล้านบาท อันนี้เฉพาะเงินลงทุนที่ยังไม่รวมดอกเบี้ยรายปี รวมถึงคดีความกับธนาคารที่ไปกู้เงินมาลงทุน แล้วสุดท้ายพวกเรายังไม่ได้ขายไฟให้กับ กฟภ. โดยวันนี้มาร่วมกันโชว์หลักฐานการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่สร้างเสร็จแล้ว จนบางโรงฯ มีคนเข้าไปขโมยตัดสายไฟ บางโรงฯ แล้วเสร็จ ปรับปรุงเปลี่ยนอุปกรณ์ให้ทันสมัย เพราะต้องการให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีปัจจุบัน ท้ายที่สุดความหวังในการหารายได้มาใช้หนี้สถาบันการเงินก็หมดลงทุกวัน จนเกิดข้อสงสัยว่า กกพ.กำลังทำอะไรอยู่ ที่ผ่านมาทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้รับความเดือดร้อนกันถ้วนหน้า ทั้งบริษัทเอง กับคดีความที่เกิดขึ้น ดอกเบี้ยธนาคาร การลักลอบตัดสายไฟไปขาย ชุมชนเองก็เดือดร้อนจากการเริ่มมีไฟตก เนื่องจากมีโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นในท้องถิ่น การจ้างงานในท้องถิ่นก็ไม่เกิด เป็นต้น มองดูแล้วคล้ายกับเป็นการเลือกปฏิบัติ ก็พยายามคาดหวังกันว่าจะไม่มีวาระซ่อนเร้นใด ๆ ซึ่งผู้ประกอบการอยากจะขอความเป็นธรรมจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ว่าเวลา 5-6 ปีที่ผ่านมา ที่ไม่สามารถทำธุรกิจได้ เกิดความเดือดร้อนจริง ๆ” นายคฑายุทธ์ กล่าว

ด้าน นายพงศกร เขจรชัย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลชัยพร อ.เมือง จ.บึงกาฬ ในฐานะหนึ่งในผู้นำท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบ ชี้แจงว่า “สิ่งที่ อบต. เข้ามาเกี่ยวข้องมีหลายเรื่องด้วยกัน ซึ่งอันดับแรกคือ เมื่อทาง กกพ.ทำหนังสือถามในข้อสงสัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ อบต. เช่นปัญหาเรื่องที่ดิน การสร้างความเข้าใจชุมชน เป็นต้น ก็ได้ทำเป็นเอกสารชี้แจงไปให้เรียบร้อย และดำเนินการส่งไปหลายฉบับ ในส่วนอื่น ๆ เช่นประโยชน์ของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในชุมชนนั้น มีแน่นอน คือ มีรายได้จากภาษีที่โรงไฟฟ้าต้องจ่ายมา ก็สามารถเป็นรายได้นำมาพัฒนาชุมชน รวมถึงการจ้างงานในท้องถิ่น เพราะทางโรงไฟฟ้าฯ เข้ามาพูดคุยถึงอัตราการจ้างงานให้ชุมชนได้รับทราบ ชุมชนบางส่วนก็มีความหวังว่าจะมีรายได้จากที่นั่น แต่พอโรงไฟฟ้าไม่ได้เปิดทำการ หลายคนก็ตกงาน จริง ๆ ถ้าชาวบ้านมีรายได้บ้าง เศรษฐกิจชุมชนก็เดินหน้า ที่สำคัญคือเรื่องไฟตก เพราะตอนนี้มีโรงงานอุตสาหกรรมยางพาราเกิดขึ้นจำนวนมาก ทำให้ไฟตกบ่อย คิดว่าถ้าโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เปิดขายไฟได้ ชาวบ้านก็คงไม่ต้องกังวลเรื่องนี้”