เนื้อหาวันที่ : 2016-09-29 16:14:38 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1668 views

จุฬาฯ และ WHA Group ลงนาม MOU สนับสนุนและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการพัฒนาบุคลากร ทางด้านการบริหารจัดการน้ำเสียและวิศวกรรมการบำบัดน้ำเสีย

บุคคลในภาพ (จากซ้าย): รองศาสตราจารย์ ดร.เขมรัฐ โอสถาพันธุ์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รองศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) นายวิวัฒน์ จิรัฐติกาลสกุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมและการลงทุนต่างประเทศ บริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน)

 

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ประกาศลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วย “การสนับสนุนและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการพัฒนาบุคลากรทางด้านการบริหารจัดการน้ำเสียและวิศวกรรมการบำบัดน้ำเสีย” โครงการความร่วมมือครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายร่วมกันพัฒนาฝึกอบรมนักศึกษาและบุคลากร ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำเสียในการนำความรู้ความเข้าใจทางวิชาการในชั้นเรียนมาประยุกต์ใช้กับการดำเนินงานในสถานประกอบการจริง ที่นิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ของเหมราช ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของดับบลิวเอชเอกรุ๊ป โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อพัฒนาการบริหารจัดการน้ำเสียและเทคโนโลยีวิศวกรรม   การบำบัดน้ำเสียของประเทศให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างยั่งยืนต่อไป

รศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “โครงการความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นโอกาสอันดียิ่งที่จะช่วยให้นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ของเราสามารถนำความรู้และทฤษฎีที่ได้ในชั้นเรียนไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานจริงที่นิคมอุตสาหกรรมเหมราชของบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยนักศึกษาจะได้เข้าไปเรียนรู้การดำเนินงานด้านการบริหารจัดการน้ำเสียที่มีประสิทธิภาพ ภายใต้การกำกับดูแลและให้คำแนะนำจากวิศวกรที่ปรึกษา ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ การบริหารจัดการน้ำเสียเป็นสาขาวิชาที่มีความสำคัญ โดยเฉพาะในปัจจุบันที่สังคมให้ความสำคัญเรื่องการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างยิ่ง เรามั่นใจว่าความร่วมมือครั้งนี้จะกลายเป็นอีกหนึ่งประสบการณ์การเรียนรู้อันมีค่าต่อนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ทุกคน พร้อมช่วยต่อยอดองค์ความรู้ด้านการวิศวกรรมการบำบัดน้ำเสีย และสิ่งแวดล้อมโดยรวมเพื่อการพัฒนาประเทศได้”

ปัจจุบันคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีนิสิตที่สำเร็จการศึกษาจากภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมทั้งในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก จำนวน 73 คน ต่อปี ซึ่งบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มีความพร้อมที่จะรับนิสิตเข้าร่วมเรียนรู้งานด้านบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ที่นิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของเหมราชได้ “ดับบลิวเอชเอจะร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนที่จัดทำขึ้นโดยเฉพาะ เพื่อช่วยผลักดันให้มีการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทางด้านการบริหารจัดการและการบำบัดน้ำเสียมากขึ้น” นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าว “ด้วยการริเริ่มโครงการหลายโครงการ เราพร้อมจะดำเนินการและถ่ายทอดความรู้ความเชี่ยวชาญและเทคนิคที่ดีที่สุดในสาขาวิชาดังกล่าว และเรามีความยินดีที่ได้สร้างมาตรฐานในการเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อความยั่งยืน การอยู่ร่วมกันในสังคมและปกป้องสิ่งแวดล้อม”

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยบริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) มีนิคมอุตสาหกรรมและเขตประกอบการอุตสาหกรรมทั้งสิ้น 8 แห่ง รวมที่ดินกว่า 45,000 ไร่ ครอบคลุมจังหวัดระยอง ชลบุรี และสระบุรี และจะเป็นพันธมิตรสำคัญของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการทำหน้าที่เป็น “ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้” (Real Learning Center) ให้กับนิสิตของคณะ นอกจากนี้ บริษัทยังได้เดินหน้าลงทุนในธุรกิจด้านสาธารณูปโภคและไฟฟ้าเพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มศักยภาพนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ในฐานะที่เป็นผู้ให้บริการด้านน้ำภายในนิคมอุตสาหกรรมรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย บริษัทได้ให้บริการน้ำดิบ น้ำประปา และน้ำเพื่อการอุตสาหกรรม ด้วยกำลังการผลิตรวมกว่า 60 ล้านลูกบาศก์มิลลิเมตรต่อปี รวมถึงระบบจัดการน้ำเสีย ด้วยกำลังการผลิตรวมกว่า 36.5 ล้านลูกบาศก์มิลลิเมตรต่อปีด้วย

“เหมราชฯ เป็นหนึ่งในผู้นำด้านการบริหารจัดการและการบำบัดน้ำเสีย” นายวิวัฒน์ จิรัฐติกาลสกุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม และการลงทุนต่างประเทศ บริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) กล่าว “นับตั้งแต่วันแรก เราได้มุ่งมั่นทุ่มเทอย่างเต็มที่เพื่อให้ระบบบริหารจัดการน้ำเสียของเราส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด เพื่อให้นิคมอุตสาหกรรม ชุมชนโดยรอบ และธรรมชาติ สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืนและยั่งยืน”

น้ำทิ้งจากอุตสาหกรรมจะถูกส่งไปบำบัดที่ระบบบำบัดน้ำเสียส่วนกลางของนิคมฯ จนกระทั่งผ่านมาตรฐานสิ่งแวดล้อม ก่อนจะนำไปกำจัดตะกอนหรือนำกลับมาใช้ในกิจกรรมอื่น ๆ ต่อไป นิคมอุตสาหกรรมเหมราชแต่ละแห่งจะใช้เทคโนโลยีการบำบัดน้ำเสียที่แตกต่างกันไป เช่น ระบบบำบัดน้ำเสียแบบบ่อเติมอากาศที่ใช้เครื่องเติมอากาศเพิ่มออกซิเจนเข้าไปในน้ำเพื่อให้น้ำมีปริมาณออกซิเจนเพียงพอ และระบบบำบัดน้ำเสียแบบ “บึงประดิษฐ์” โดยใช้พืชและแบคทีเรียช่วยบำบัดน้ำเสียด้วยระบบบำบัดน้ำเสียแบบ “บึงประดิษฐ์” เกิดขึ้นจากความร่วมมือของเหมราชฯ กับสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) ที่ได้น้อมนำแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในการบำบัดน้ำเสียมาปรับใช้ ซึ่งเป็นระบบบำบัดน้ำเสียที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เหมาะกับการดำเนินงานในนิคมอุตสาหกรรม โดยใช้พืชและแบคทีเรีย ในการดูดซับสารโลหะในน้ำเสียที่ออกจากโรงงาน ซึ่งจะสามารถลดการใช้พลังงานจากการบำบัดน้ำเสียจากอุตสาหกรรม และน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วจะสามารถนำกลับมาใช้ในภายในโรงงานได้ เช่น การรดน้ำต้นไม้ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีเทคโนโลยีบำบัดน้ำเสียอื่น ๆ อีก ได้แก่ ระบบกำจัดตะกอน ซึ่งทีมงานวิศวกรของเหมราชฯ ได้ร่วมคิดค้นกับหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการศึกษาชั้นนำ โดยทดสอบการใช้กากตะกอนจากระบบผลิตน้ำ ซึ่งมีส่วนผสมของสารอาหารที่เป็นประโยชน์ในการใช้เป็นสารปรับปรุงคุณภาพดินในการเพาะปลูก โดยเฉพาะในการปลูกกล้ายางพารา มันสำปะหลัง และฟักเขียว

“ด้วยโครงการความร่วมมือนี้ เราได้ริเริ่มแนวคิดเรื่อง Water for Planet ขึ้น ซึ่งเป็นนโยบายกิจกรรมเพื่อสังคมระดับโลกของดับบลิวเอชเอกรุ๊ป ที่จะดำเนินควบคู่ไปกับกลุ่มธุรกิจด้านสาธารณูปโภคและไฟฟ้า (Utility & Power Hub) ของเรา เพราะเราตระหนักดีว่าน้ำเป็นทรัพยากรที่มีค่าและควรได้รับการดูแลรักษาอย่างดีที่สุด การมีน้ำใช้อย่างสม่ำเสมอ รวมถึงคุณภาพของน้ำ มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของทุกคนอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะเราต้องพึ่งพาน้ำในการใช้ชีวิตทุกด้าน ด้วยการบริหารจัดการและการบำบัดน้ำที่มีประสิทธิภาพ จะสามารถช่วยดูแลรักษาน้ำให้สะอาดและปลอดภัย เพื่อตนเอง รวมทั้งครอบครัวและชุมชนของเราด้วย” นางสาวจรีพร กล่าวสรุป