เนื้อหาวันที่ : 2007-08-29 09:30:25 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1734 views

ความไม่รู้ต้นเหตุพลังงานชุมชนรั่วไหล หนุน อปท.ทำแผน

ก.พลังงาน เผยแผนพลังงานชุมชน 3 เดือนช่วยลดค่าใช้จ่ายพลังงาน อบต.ละกว่า 3 แสน ชี้ความไม่รู้ทำชาวบ้านจนโดยไม่รู้ตัว หากปล่อยไว้ตัวเลขจะสูงขึ้นจนไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้

 .

ก.พลังงาน เผยแผนพลังงานชุมชน 3 เดือนช่วยลดค่าใช้จ่ายพลังงาน อบต.ละกว่า 3 แสน ชี้ ความไม่รู้ทำชาวบ้านจนไม่รู้ตัว บางครัวเรือน "ค่าใช้จ่ายพลังงาน" สูงถึง 60% หากปล่อยไว้ตัวเลขจะสูงขึ้นจนไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ เดินหน้าหนุน อปท.ทำแผนฯ ต่อเนื่อง ปี 2551 ตั้งเป้าขยายอีก 162 แห่ง สนองพระราชดำริ "เศรษฐกิจพอเพียง"

 .

ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานได้ดำเนินโครงการสนับสนุนการวางแผนจัดการพลังงานระดับท้องถิ่นขึ้นในปี พ.ศ.2549  โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของประเทศ และพัฒนาพลังงานอย่างมีดุลยภาพควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นกลไกประสานงานหลักนั้น

 .

ผลจากการการดำเนินงานในพื้นที่ชุมชนนำร่อง 24  แห่ง ทำให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจในคุณค่าของพลังงาน รวมทั้งตระหนักถึงผลกระทบจากการใช้พลังงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพที่มีต่อวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อมในระยะสั้น และในระยะยาว

 .

ในขณะเดียวกันผลจากการหันมาใช้พลังงานทดแทน และการใช้พลังงานอย่างประหยัดของชุมชน ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานลดลงโดยเฉลี่ย 10-15%  และจากการติดตามข้อมูลของ อบต. หรือ เทศบาลตำบลนำร่อง ในช่วงระยะ 3 เดือนที่มีทดลองปฏิบัติตามแผนพลังงานชุมชน พบว่าค่าใช้จ่ายพลังงานของแต่ละแห่งลดลงจากเดิมประมาณ 3-4 แสนบาท ซึ่งในระยะยาวถือว่ามูลค่ามหาศาล

 .

ดร.ทวารัฐ กล่าวว่า ข้อมูลจากการสำรวจการใช้พลังงานของชุมชนพบว่า การใช้พลังงานของชุมชนส่วนใหญ่ยังไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งมีสาเหตุสำคัญมาจาก ความไม่รู้ทั้งในส่วนวิธีการจัดการ และการใช้เทคโนโลยี ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของชุมชนมีสัดส่วนค่อนข้างสูง บางแห่งพบว่าค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของครัวเรือน สูงถึง 60% หากปล่อยไว้ตัวเลขจะสูงขึ้นจนไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ ก่อให้เกิดปัญหาหนี้สิน รวมทั้งก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ตามมาอีกด้วย

 .

ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร

 ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงพลังงาน

.

"จุดรั่วไหลสำคัญด้านพลังงานของชุมชนไม่ได้เกิดจากการไม่ประหยัด แต่เกิดจากความไม่รู้ ทั้งที่เขามีวัสดุที่สามารถแปลงเป็นพลังงานได้ เขาไม่รู้ก็ทำให้เขาเสียโอกาส สูญเสียค่าใช้จ่ายไปโดยไม่รู้ตัว เพราะกิจกรรมบางอย่างถ้าหากเรามีวิธีการใช้พลังงานที่เหมาะสมจะช่วยประหยัดได้อย่างมหาศาล เทคโนโลยีที่นำมาใช้ก็ไม่ได้ยุ่งยาก

 .

ยกตัวอย่าง เช่น ชาวบ้านที่ชุมชนโคกว่าน จังหวัดบุรีรัมย์มีเตาที่ใช้คั่วข้าวสารให้เป็นข้าวพอง ปกติเขาจะใช้ฟืนดุ้นใหญ่ๆ วิธีการปรับระดับความร้อนให้ลดลงด้วยการดึงฟืนออกมาจากเตา ทำให้เกิดการสูญเสียพลังงานไปค่อนข้างมากซึ่งลักษณะเตาแบบนี้มีประสิทธิภาพจริงไม่เกิน 5% เมื่อเราลงไปช่วยเขาวางแผนจัดการพลังงาน เราแก้ปัญหาเรื่องนี้ด้วยการช่วยปรับปรุงเตา

 .

โดยการทำฉนวนหุ้มเตา และใช้ถ่านประสิทธิภาพสูง หรือ ฟืนท่อนเล็ก ๆ แทนฟืนดุ้นใหญ่ ช่วยเขาลดค่าใช้จ่ายได้มาก อีกทั้งลดปัญหาการตัดไม้มาทำฟืนได้อีกด้วยผอ.สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงพลังงานให้ข้อมูลเพิ่มเติม

 .

ผลสัมฤทธิ์ในจากการดำเนินงานในพื้นที่นำร่อง ทำให้ทางกระทรวงพลังงานขยายผลการสนับสนุนชุมชนต่อเนื่อง ในปี พ.ศ.2550 ภายใต้ โครงการจัดทำแผนพลังงาน 80 ชุมชน สนองพระราชดำริ เศรษฐกิจพอเพียงซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินกิจกรรมร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยในปลายปีนี้จะมีการคัดเลือก และมอบรางวัลชุมชนบริหารจัดการพลังงานและสิ่งแวดล้อมดีเด่น ให้กับชุมชนเพื่อเป็นกำลังใจ

 .

สำหรับปี พ.ศ.2551 ทางกระทรวงมีแผนจะขยายผลต่อเนื่องอีก 162 ชุมชน จะมุ่งเน้นไปที่การจัดการขยะ และวัสดุเหลือใช้ในชุมชน โดยตั้งเป้าจังหวัดละ 2 แห่ง พร้อมทั้งให้การสนับสนุนกับพื้นที่พิเศษเช่น พื้นที่ท่องเที่ยว หรือเทศบาลนคร หรือเทศบาลเมือง ซึ่งอาจมีความจำเป็นต้องมีวิธีการและเทคโนโลยีในการจัดการพลังงานที่มีรูปแบบเฉพาะเหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่

 .

"ผมคิดว่า ชุมชน หรือ องค์กรส่วนท้องถิ่น ควรจะน้อมนำพระราชดำรัฐของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาใช้ในการประยุกต์ใช้วางแผนในการจัดการพลังงาน  หนึ่งหลักพอประมาณ คือใช้พลังงานอย่างรู้ค่า ใช้ให้พอดี ไม่ฟุ่มเฟือย สองหลักการมีเหตุมีผล ต้องรู้ว่าชุมชนของเรามีวัสดุ มีศักยภาพที่แปลงมาเป็นพลังงานได้หรือไม่

 .

ถ้าทำได้ให้พยายามทำอย่างเต็มที่ ให้ได้ประโยชน์สูง ถ้าชุมชนไหนสามารถแปลงเศษวัสดุเหลือใช้เป็นพลังงานได้ เท่ากับมีภูมิคุ้มกันจากราคาน้ำมันที่แพงให้กับชุมชนของตัวเองได้ ในขณะเดียวกันชุมชนที่ทำเรื่องนี้ได้ ผู้นำ หรือ แกนนำชุมชน มีความรู้ มีคุณธรรม เป็นแบบอย่างที่จะเหนี่ยวนำให้คนมาช่วยกันคิด ช่วยกันทำ เพื่อส่วนรวม  เป็นชุมชนที่เข้มแข็ง" ดร.ทวารัฐ กล่าวย้ำถึงหลักคิดในการจัดการพลังงานชุมชนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง