เนื้อหาวันที่ : 2007-08-23 13:47:29 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1546 views

เด็กจุฬาฯ คว้าการแข่งขันออกแบบ และสร้างสรรค์หุ่นยนต์ฯ

ปิดฉากลงไปแล้วอย่างสวยงาม สำหรับ "การแข่งขันออกแบบ และสร้างสรรค์หุ่นยนต์นานาชาติ หรือ IDC Robocon 2007" จัดโดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับเกียรติจาก Tokyo Institute of Tecnology หรือ โตเกียวเทค ประเทศญี่ปุ่น ให้เป็นตัวแทนจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองไทย เนื่องในโอกาสครบรอบความสัมพันธ์ 120 ปี ไทย-ญี่ปุ่น

ปิดฉากลงไปแล้วอย่างสวยงาม สำหรับ "การแข่งขันออกแบบ และสร้างสรรค์หุ่นยนต์นานาชาติ (International Design Contest ) หรือ IDC Robocon 2007" จัดโดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับเกียรติจาก Tokyo Institute of Tecnology หรือ โตเกียวเทค ประเทศญี่ปุ่น ให้เป็นตัวแทนจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองไทย เนื่องในโอกาสครบรอบความสัมพันธ์ 120 ปี ไทย-ญี่ปุ่น   

.

ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าวได้เริ่มมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 6-18 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยมีนักศึกษาจากสถาบันชื่อดังจาก 6 ประเทศเข้าร่วมการแข่งขัน แบ่งเป็นนักศึกษาต่างชาติ 32 คน ซึ่งประกอบด้วย Tokyo Institute of Technology , Tokyo Denki University ประเทศญี่ปุ่น , Massachusetts Institute of Technology ประเทศสหรัฐอเมริกา, Selection by Planet Science ประเทศฝรั่งเศส , Seoul National University ประเทศเกาหลีใต้ และ Universidade de Sao Paulo ประเทศบราซิล พร้อมด้วยเด็กไทยอีก 12 คน จาก 5 สถาบัน คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ,มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,มหาวิทยาลัยมหิดล,มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ         

 

.

 

 

สำหรับการแข่งขัน เริ่มต้นโดยนักศึกษาทั้งหมด ได้เข้าร่วมทำ Workshop ในรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นานถึง 2 สัปดาห์ โดยแบ่งเป็นทีมๆ ละ 4 คน จำนวน 11 ทีม หรือ 11 สี คือ สีเขียว,ส้ม,แดง,ชมพู,เลือดหมู,เขียวมะกอก,เบจ,เทา,น้ำเงิน,ฟ้า และเหลือง โดยแต่ละทีมจะมีนักศึกษาต่างชาติคละกัน หรือเป็นทีมนานาชาตินั่นเอง

.

เมื่อแบ่งทีมได้แล้ว มีกติกาว่า แต่ละทีมจะต้องสร้างหุ่นยนต์บังคับด้วยมือ จากชุดอุปกรณ์ที่เตรียมไว้ให้ ทีมละ 1 ชุด พร้อมทั้งเงินสำหรับซื้อุปกรณ์เพิ่มเติมอีกทีมละ 600 บาท ในการสร้างหุ่นยนต์ไว้สำหรับการแก้โจทย์ ที่ทางผู้จัดการแข่งขันได้ตั้งขึ้น       

.

สำหรับโจทย์ที่ใช้ในการแข่งขันครั้งนี้ คือ Thank You "Mae" โดยแต่ละรอบ จะมีผู้แข่งขัน จำนวน 2 ทีม โดยทีมแต่ละทีม จะต้องบังคับหุ่นยนต์ให้นำพวงมาลัยและดอกไม้ ไปคล้องแขนและกระเช้าที่หุ่นของคุณแม่ให้เร็วที่สุด ภายในเวลา 1.30 นาที ซึ่งหากใครสามารถนำพวงมาลัย ไปใส่มือคุณแม่ก่อน ก็จะเป็นฝ่ายชนะ แต่หากทีมใดไม่สามารถนำพวงมาลัยไปคล้องมือคุณแม่ได้ ก็จะนับจำนวนดอกไม้ที่ใส่ในกระเช้าของคุณแม่ ซึ่งหากทีมใดใส่ดอกไม้ได้มากกว่า ก็จะเป็นฝ่ายชนะ

.

โดยในรอบตัดสินได้จัดขึ้น ภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ณ ศูนย์ประชุมและนิทรรศการไบเทคบางนา เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม ที่ผ่านมา โดยผลปรากฎว่า ทีมที่สามารถคว้าโล่รางวัลไปครอง คือ "ทีมสีเหลือง" โดย สุขุม สัตตรัตนามัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ คอมพิวเตอร์ ชั้นปีที่ 2 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็น 1 ในทีมชนะเลิศ ได้เปิดเผยถึงความรู้สึกว่า การแข่งขันครั้งนี้ ตนประทับใจที่ได้ทั้งความรู้และความสนุก รวมทั้งประสบการณ์ที่มีโอกาส ได้ร่วมทำงานกับเพื่อนๆ ชาวต่างชาติ 2 คนที่อยู่ในทีม คือจากอเมริกา และเกาหลีใต้ ซึ่งพวกเขาจะมีวิธีคิดที่เป็นระบบ มีขั้นตอนการทำงานเริ่มจากการออกแบบหุ่นอย่างไรจึงจะชนะ ทุกคนเป็นมิตรกันหมดหลังจากได้รู้จักและเราช่วยกันผสานการทำงานไม่มีการอวดตัวว่าใครเก่งกว่ากัน มีการทำงานกันเป็นทีม ในความคิดที่แตกต่างบางครั้งก็มีความคิดสร้างสรรค์ที่ดีได้เช่นกัน

.

ขณะที่ หทัยรัชต์ เจริญกุลวณิชย์ เพื่อนนิสิตจุฬาฯ ชั้นปีที่ 2 และคณะเดียวกัน เป็นอีกผู้หนึ่งที่มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์หุ่นยนต์ จนสามารถคว้ารางชนะเลิศมาครองได้สำเร็จ กล่าวว่า รู้สึกดีใจมาก เพราะไม่เคยได้เข้าร่วมกิจกรรม และไม่เคยได้รับรางวัลเช่นนี้มาก่อน เนื่องจากกิจวัตรประจำวันที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะใช้เวลาอยู่กับการเรียนมากกว่า จึงรู้สึกตื่นเต้นและภูมิใจที่มีโอกาสได้ร่วมกิจกรรมกับเพื่อนๆ ต่างชาติจากหลายประเทศ

.

เราสามารถเรียนรู้วิธีคิดจากเพื่อนๆ หลากหลายมาก อย่างเช่นสถาบัน MIT จากอเมริกาจะเรียนด้านวิศวกรรมฯ หลายด้าน หากเปรียบเทียบกับเราเรียนมาทางด้านคอมพิวเตอร์อย่างเดียว อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์การแข่งขันในระดับนานาชาติครั้งนี้ ตนอยากให้ภาครัฐได้เปิดโอกาสสนับสนุนให้เยาวชนได้แสดงออก อนาคตจะได้เป็นพื้นฐานให้นิสิตไทยสามารถก้าวสู่เวทีระดับโลกได้อย่างมั่นใจ

.

ทางด้าน ผศ.ดร.มานพ วงศ์สายสุวรรณ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะเป็นเจ้าภาพ และตัวแทนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า รู้สึกภาค ภูมิใจที่ได้จัดงานครั้งนี้ ซึ่งเป็นปีแรกที่ทางสถาบันได้จัดงาน และได้เข้าร่วม โดยคาดหวังว่าในปีหน้าทาง IDC จะเปิดโอกาสให้เราเข้าร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิกเนื่องจากแต่เดิมเขามีชาติสมาชิกอยู่ 8 ประเทศเท่านั้น ส่วนด้านการจัดงานนั้นประสบความสำเร็จมากพอสมควร โดยเฉพาะนิสิตต่างชาติรู้สึกประทับใจกับผลไม้ อาหาร และความเป็นมิตรภาพของนิสิต นักศึกษาไทยด้วย

.

"การเป็นเจ้าภาพครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับเมืองไทยจะได้ก้าวสู่เวทีระดับโลก ได้รับรู้เทคนิคใหม่ๆ ซึ่งจากนี้ต่อไปทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เตรียมสานต่อกิจกรรมโดยการคัดเลือกนิสิตจากสถาบันทั่วประเทศ เพื่อเป็นตัวแทนจากประเทศไทยเข้าร่วมแข่งขัน ที่ประเทศ บราซิลในปีหน้า"