เนื้อหาวันที่ : 2007-08-21 18:08:49 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1660 views

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ สร้างไม่สร้างในไทย เตรียมเสนอ กพช.

คณะกรรมการเตรียมศึกษาความเหมาะสมการผลิตไฟฟ้า คาดร่างแผนโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะเสร็จทันตามกำหนดและเสนอให้ กพช. พิจารณาในเดือนตุลาคมนี้ เพื่อทบทวน ปรับปรุงร่างแผนการจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานทางพลังงานนิวเคลียร์ให้ปลอดภัย และคุ้มค่าการลงทุน

คณะกรรมการเตรียมศึกษาความเหมาะสมการผลิตไฟฟ้า คาดร่างแผนโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะเสร็จทันตามกำหนดและเสนอให้ กพช. พิจารณาในเดือนตุลาคมนี้ เพื่อทบทวน ปรับปรุงร่างแผนการจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานทางพลังงานนิวเคลียร์ให้สมบูรณ์ ปลอดภัย และคุ้มค่ากับการลงทุน เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของรัฐบาลว่าจะเดินหน้าก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หรือไม่

.

ดร.กอปร กฤตยากีรณ ประธานคณะกรรมการเพื่อเตรียมการศึกษาความเหมาะสมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการทำงานของคณะกรรมการ ว่า ได้ดำเนินการยกร่างแผนการเตรียมจัดทำโครงสร้างพื้นฐานพลังงานนิวเคลียร์เพื่อการผลิตไฟฟ้ามีความคืบหน้าไปมากแล้ว และคาดว่าเสร็จทันกำหนดและเสนอให้กับคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช. พิจารณาในเดือนตุลาคม คาดว่าจะมีการนำเสนอต่อ ครม. เพื่อพิจารณาต่อไป

.

"คณะกรรมการเพื่อเตรียมการศึกษาความเหมาะสมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ มีความตั้งใจจะยกร่างแผนการเตรียมจัดทำโครงสร้างพื้นฐานพลังงานนิวเคลียร์ให้สมบูรณ์และปฏิบัติได้ให้มากที่สุด ผู้แทนของคณะกรรมการฯมีกำหนดการจะเดินทางไปประชุมร่วมกับ IAEA เพื่อหารือการคัดเลือกผู้ที่มีประสบการณ์และเชี่ยวชาญในการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มาช่วยเสนอแนะความคิดเห็นต่อร่างแผนของคณะกรรมการฯ ในเดือนสิงหาคม ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย" ดร.กอปร กล่าว          

.

IAEA มีกำหนดจะส่งผู้เชี่ยวชาญรวม 4 ท่านมาให้คำปรึกษาและคำแนะนำให้กับคณะกรรมการฯของไทย เพื่อทบทวน ปรับปรุงร่างแผนการจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานทางพลังงานนิวเคลียร์ให้สมบูรณ์ ปลอดภัย และคุ้มค่ากับการลงทุน เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของรัฐบาลว่าจะเดินหน้าก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หรือไม่

.

ทั้งนี้การก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จำเป็นต้องใช้เวลานานไม่ต่ำกว่า 13 ปี ตั้งแต่เริ่มวางแผน โดยต้องใช้เวลาเตรียมการศึกษาความเหมาะสมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ และวางแผนเตรียมดำเนินการและออกแบบโรงไฟฟ้า 6 ปี และดำเนินการก่อสร้างอีก 6 ปี ทั้งนี้ภาครัฐจะต้องเร่งสร้างบุคลากรทางด้านนี้ขึ้นมารองรับให้เพียงพอ เพราะประเทศไทยยังขาดแคลนบุคลากรอยู่จำนวนมาก ทั้งนี้ เพื่อให้โครงการไฟฟ้านิวเคลียร์ของไทย ดำเนินไปอย่างมีคุณภาพ มีความปลอดภัยสูงสุด ได้ประโยชน์คุ้มค่า ทั้งด้านการเสริมความมั่นคงทางพลังงาน การชะลออัตราเพิ่มของราคาค่าไฟฟ้า และการช่วยต่อสู้กับภาวะโลกร้อนอีกด้วย

.

อนึ่ง คณะกรรมการเพื่อเตรียมการศึกษาความเหมาะสมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ ได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมางาน 6 ชุด ประกอบด้วย 1.คณะอนุกรรมการด้านระบบกฎหมาย ระบบกำกับและข้อผูกพันระหว่างประเทศ 2.คณะอนุกรรมการด้านโครงสร้างพื้นฐานอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ 3.คณะอนุกรรมการด้านการถ่ายทอด พัฒนาเทคโนโลยีและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 4.คณะอนุกรรมการด้านความปลอดภัยและการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม 5.คณะอนุกรรมการด้านการสื่อสารและการยอมรับของสาธารณชนและ6.คณะอนุกรรมการวางแผนดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

.

สำหรับในประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมที่หลายฝ่ายได้แสดงความเป็นห่วง คณะกรรมการฯได้มีแผนที่จะดูแลความพร้อมในด้านความปลอดภัยและการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมเอาไว้แล้ว เช่น ในช่วงเดินเครื่องโรงไฟฟ้าจะต้องจำกัดการปล่อยสารกัมมันตรังสีในชั้นบรรยากาศอย่างเคร่งครัด การตรวจสภาพท่อน้ำและสายส่งไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าไม่ให้มีจุดรั่วไหลในช่วงเปิดเดินเครื่องโรงไฟฟ้า ทั้งนี้ประเทศต่างๆ ในโลกได้มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์เป็นจำนวนมาก รวม 31 ประเทศ มีเตาปฏิกรณ์ปรมาณูเพื่อผลิตไฟฟ้า จำนวนรวมกันกว่า 437 เตา เช่น สหรัฐอเมริกามี 103 เตา ฝรั่งเศส 59 เตา ญี่ปุ่น 55 เตา เกาหลีใต้ 20 เตา อินเดีย 17 เตา จีน 11 เตา ไต้หวัน 6 เตา ปากีสถาน 2 เตา ทั่วโลกมีเตาปรมาณูที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง 30 เตา และมีแผนจัดตั้งแน่นอนแล้วอีก 74 เตา