เนื้อหาวันที่ : 2016-08-02 16:56:59 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1934 views

มาตรการสนับสนุนการผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย

การประชุมคณะรัฐมนตรีในที่ 2 สิงหาคม 2559 ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานได้มีการพิจารณาเรื่อง มาตรการสนับสนุนการผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย โดยมติที่ประชุมได้เห็นชอบมาตรการสนับสนุนตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ และได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการออกมาตรการเพื่อสนับสนุนการผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทยให้เกิดผลเป็นรูปธรรม รวมทั้ง เพื่อเร่งรัดการดำเนินงานให้สามารถนำรถโดยสารไฟฟ้ามาใช้ได้จริงภายในเดือนพฤศจิกายน 2559 ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี

กระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหน่วยงานหลักซึ่งได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรี ได้มีการจัดประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม กระทรวง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และภาคอุตสาหกรรม จำนวน 3 ครั้ง เพื่อพิจารณาประเด็นปัญหาและข้อเสนอมาตรการสนับสนุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยใน 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ได้แก่ รถยนต์นั่งไฟฟ้า รถยนต์นั่งไฟฟ้าขนาดเล็ก และรถโดยสารไฟฟ้า นอกจากนี้ ได้มีการเชิญผู้ประกอบการเป็นรายบริษัท จำนวน 11 ราย มาประชุมหารือเรื่องแผนการลงทุนในการผลิตรถยนต์นั่งที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า (Motor Driven) เพื่อประมวลผลและกำหนดมาตรการสนับสนุนที่เหมาะสม ก่อนที่จะมีการนำเสนอมาตรการสนับสนุนการผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทยเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้

นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า “ในส่วนของการส่งเสริมการผลิตรถยนต์นั่งไฟฟ้านั้น ที่ประชุม ครม. ได้อนุมัติในหลักการว่า บริษัทฯ ที่สนใจจะลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย จะต้องยื่นแผนการดำเนินงานในลักษณะแผนงานรวม (Package) ซึ่งประกอบด้วยแผนการลงทุนประกอบรถยนต์ไฟฟ้าและผลิตชิ้นส่วนสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้า เช่น แบตเตอรี่ มอเตอร์ ระบบควบคุมการจ่ายไฟฟ้า เป็นต้น จึงจะได้รับสิทธิประโยชน์ภาษีเงินได้และสิทธิประโยชน์ด้านภาษีอื่นๆ โดยบริษัทฯ ที่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนแล้ว จะสามารถนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูป (CBU) โดยได้รับการลดหย่อนหรือยกเว้นอากรขาเข้า ในรุ่นรถยนต์ที่จะผลิต เพื่อนำมาทดลองตลาดในปริมาณที่กำหนด รวมทั้ง จะได้รับสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนหรือยกเว้นอากรขาเข้าชิ้นส่วนสำคัญซึ่งยังไม่มีการผลิตในประเทศในช่วงเริ่มต้นของการประกอบรถยนต์ไฟฟ้าอีกด้วย ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กระทรวงการคลัง และกระทรวงอุตสาหกรรม จะร่วมกันกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของปริมาณการนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูปและชิ้นส่วน ที่จะได้รับสิทธิลดหย่อนหรือยกเว้นอากรขาเข้าของบริษัทฯ ที่สนใจลงทุนต่อไป”

นอกจากประเด็นเรื่องนโยบายส่งเสริมการลงทุนแล้ว ที่ประชุม ครม. ยังได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการจัดทำมาตรฐานของรถยนต์นั่งไฟฟ้า การกำหนดมาตรฐานของขนาดสายไฟ เบรกเกอร์ หม้อแปลงที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการชาร์จแบตเตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้าในบ้าน การพิจารณามาตรการสนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐ สามารถจัดซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้งานในหน่วยราชการ รวมทั้ง การพิจารณามาตรการรองรับด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการกำจัดซากของแบตเตอรี่อีกด้วย

ในส่วนของรถโดยสารไฟฟ้า ซึ่งจะต้องนำมาใช้ได้จริงภายในเดือนพฤศจิกายน 2559 นั้น ที่ประชุม ครม. ได้มอบหมายให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำ TOR จัดซื้อรถโดยสารไฟฟ้า จำนวน 200 คัน เร่งรัดกระบวนการจัดซื้อรถโดยสารไฟฟ้าให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ส่วนการส่งเสริมการผลิตรถยนต์นั่งไฟฟ้าขนาดเล็กนั้น ได้เร่งรัดให้มีการดำเนินการเสนอร่างประกาศ เพื่อให้รถยนต์ประเภทนี้สามารถจดทะเบียนได้ รวมทั้ง กำหนดแนวทางการใช้รถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กอย่างปลอดภัย

นายศิริรุจ กล่าวทิ้งท้ายว่า “การที่รัฐบาลให้การส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า (Battery Electric Vehicles : BEV) นั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอนาคตของยานยนต์ ซึ่งมีทิศทางที่ชัดเจนว่า มุ่งไปสู่การขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า (Motor Driven) เนื่องจาก การทำงานของมอเตอร์ไฟฟ้ามีประสิทธิภาพสูงกว่าเครื่องยนต์สันดาปภายใน อีกทั้ง การใช้พลังงานไฟฟ้าในรถยนต์ไม่ก่อให้เกิดปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม รัฐบาลขอเน้นย้ำว่า ยังคงให้การส่งเสริมรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion Engine) โดยเฉพาะ ECO Car และรถกระบะ 1 ตัน ซึ่งเป็น Product Champion ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย รวมทั้ง รถยนต์ไฮบริดแบบเสียบปลั๊ก (Plug-in Hybrid Electric Vehicles : PHEV) ซึ่งเริ่มมีการผลิตในประเทศไทยแล้ว ควบคู่กันไปด้วย”