เนื้อหาวันที่ : 2007-08-16 18:32:06 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1560 views

ก.พลังงาน ตื่น! กระแสโลกร้อน เร่งออก 3 มาตรการกู้วิกฤตแล้ว

กระทรวงพลังงาน เสนอ 3 มาตรการกู้วิกฤตโลกร้อน ประหยัดพลังงาน ส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน ส่งเสริมนิวเคลียร์ และกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ วอนประชาชนคนไทยทั้งประเทศให้ตระหนักถึงปัญหาวิกฤตโลกร้อนและดำเนินการลดผลกระทบอย่างจริงจัง

กระทรวงพลังงาน เสนอ 3 มาตรการกู้วิกฤตโลกร้อน ประหยัดพลังงาน ส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน ส่งเสริมนิวเคลียร์ และกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ พร้อมโชว์นิทรรศการพลังงานทดแทนและสัมมนาเชิงวิชาการ ในงาน "กระทรวงพลังงาน มติชน ชวนเที่ยวงานแฟร์ ร่วมกันดูแลสังคม" ระหว่างวันที่ 15-19 สิงหาคม 2550  

.

ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานในฐานะผู้กำหนดนโยบายและผู้ดูแลจัดหาพลังงานของประเทศ ได้ผลักดันนโยบายและโครงการต่างๆ ที่จะลดการใช้พลังงานที่ส่งผลให้โลกร้อน โดยเฉพาะการส่งเสริมการใช้พลังงานที่ได้จากธรรมชาติ รวมทั้งกลไกการพัฒนาพลังงานสะอาด เนื่องจากปัจจุบันสภาวะโลกร้อน เป็นกระแสที่คนทั่วโลกต่างให้ความสนใจ และเริ่มตระหนักถึงผลกระทบจากวิกฤติดังกล่าว ซึ่งประเทศไทย นับเป็นประเทศในลำดับต้น ๆ ที่ตระหนักถึงปัญหาวิกฤตโลกร้อนและดำเนินการลดผลกระทบดังกล่าวอย่างจริงจัง

.

ในส่วนของกระทรวงพลังงาน ได้กำหนดแนวทางเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาสภาวะโลกร้อนไว้ 3 มาตรการ ได้แก่  1. การประหยัดพลังงานและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ 2. การส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน และ 3. การส่งเสริมการใช้นิวเคลียร์ในการผลิตไฟฟ้า

.

สำหรับ การรณรงค์ประหยัดพลังงาน ทางกระทรวงพลังงานได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องและเต็มที่ ส่วนการส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ได้เร่งออกกำหนดมาตรฐานการใช้พลังงานสำหรับเครื่องจักรอุปกรณ์ วัสดุอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน การจ่ายฉลากเบอร์ 5 ให้กับอุปกรณ์ไฟฟ้า รวมทั้งการส่งเสริมการใช้หลอดตะเกียบทั่วประเทศแทนหลอดไส้ และเปลี่ยนหลอดผอม เป็นหลอดผอมมาก ซึ่งใช้กำลังไฟฟ้าเพียง 28 วัตต์เท่านั้น ขณะที่หลอดผอมกินไฟฟ้า 36 วัตต์ ด้านการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน  เน้นการนำของเสียและวัสดุเหลือใช้ อาทิ น้ำเสีย ขยะ แกลบ มาผลิตเป็นไฟฟ้าให้มากขึ้น

.

"มาตรการส่งเสริมพลังงานนิวเคลียร์ในการผลิตไฟฟ้า ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะนอกจากแก้ปัญหาโลกร้อนแล้ว ยังจะช่วยแก้ปัญหาข้อจำกัดด้านเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าที่มีอย่างจำกัดได้ และต้นทุนค่าไฟฟ้าก็ต่ำ โดยการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใช้เวลาเตรียมการ 7 ปี และก่อสร้าง 6 ปี ส่วนเรื่องการกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ปัจจุบันต้นทุนในการดำเนินการยังสูงอยู่ และยังมีข้อจำกัดในเรื่องเทคโนโลยี ซึ่งเป็นมาตรการที่ประเทศอุตสาหกรรม จะต้องดำเนินการในฐานะที่เป็นผู้ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องดำเนินการทุกมาตรการไปพร้อมๆ กัน จะปฏิเสธเรื่องใดเรื่องหนึ่งไม่ได้" ดร.ปิยสวัสดิ์กล่าว

.

พร้อมกันนี้ เพื่อรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาโลกร้อน รวมถึงเพื่อเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ กระทรวงพลังงานจึงได้ร่วมกับภาคเอกชน ได้แก่ เครือมติชน จัดงาน  "กระทรวงพลังงาน มติชน ชวนเที่ยวงานแฟร์ ร่วมกันดูแลสังคม ภายใต้แนวคิด พลังงานทดแทน กู้วิกฤตโลกร้อน" ระหว่างวันที่ 15-19 สิงหาคม 2550 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

.

โดยกระทรวงพลังงาน จะนำเรื่องราวของพลังงานทดแทน ภายใต้แนวคิด 10 มหัศจรรย์ พลังงานทดแทนกู้วิกฤตโลกร้อนอันประกอบด้วย ไบโอดีเซล ขยะ ชีวมวล ไบโอแก๊ส โซลาร์เซลล์ พลังน้ำ นิวเคลียร์ มาจัดแสดงในงานอย่างครบถ้วน เพื่อให้เป็นทางเลือกใหม่ในการรับมือกับภาวะโลกร้อน ลดความสิ้นเปลืองการใช้น้ำมันที่กำลังมีปริมาณที่กำลังมีปริมาณลดลงเรื่อยๆ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมต่าง ๆ ที่น่าสนใจหลากหลายรูปแบบ อาทิ การจัดเสวนาเรื่องพลังงาน โดยผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ ได้แก่ นิวเคลียร์ ถ่านหิน พลังงานแสงอาทิตย์ ไบโอดีเซล ชีวมวล และ NGV เป็นต้น