เนื้อหาวันที่ : 2016-07-07 17:02:10 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1943 views

พระจอมเกล้าพระนครเหนือ และแอพพลิแคด ร่วมกันพัฒนาบุคลากรและสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการ เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย

บริษัท แอพพลิแคด จำกัด และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ โดยสถาบันนวัตกรรมเทคโนโลยีไทย-ฝรั่งเศส ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาบุคลากร และพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยต่อไปในอนาคต

ทั้งนี้ บริษัท แอพพลิแคด จำกัด เป็นผู้นำด้านโซลูชั่นเพื่องานออกแบบ 3 มิติครบวงจร ทั้งด้านอุตสาหกรรม สถาปัตยกรรมและก่อสร้าง ตลอดจนเป็นตัวแทนจำหน่ายนวัตกรรมเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ โดยสถาบันนวัตกรรมเทคโนโลยีไทย-ฝรั่งเศส สถาบันสหกิจศึกษาและพัฒนาสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ไทย-เยอรมัน คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม และคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งมีหน้าที่ผลิตบัณฑิตและสนับสนุนมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ในการพัฒนาเทคโนโลยีและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับวงการอุตสาหกรรมของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยตระหนักถึงความสำคัญของความร่วมมือกันเพื่อพัฒนาภาคการศึกษา และศักยภาพของเยาวชนไทยที่จะเติบโตไปสู่การเป็นอนาคตของชาติ ตลอดจนบุคลากรที่เกี่ยวข้อง โดยให้การสนับสนุนลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ SolidWorks เพื่อเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการเรียนการสอน การวิจัย และพัฒนาองค์ความรู้ต่างๆ รวมถึงการจัดการงานร่วมกัน การบริการ การถ่ายทอด การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ เทคโนโลยี และการอบรมต่างๆ เป็นเวลา 3 ปี โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัฒนา แก้วมณี ผู้อำนวยการ สถาบันนวัตกรรมเทคโนโลยีไทย-ฝรั่งเศส และ นายประภาส ตั้งอดุลย์รัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอพพลิแคด จำกัด พร้อมด้วย รศ.ดร.ภาวนี นรัตถรักษา คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มจพ.ระยอง ผศ.ดร.พนาฤทธิ์ เศรษฐกุล คณบดีคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม และอาจารย์ธีราทร ซนีเย็ง รองผู้อำนวยการสถาบันสหกิจศึกษาและพัฒนาสื่ออิเล็กทรอนิกส์ไทย-เยอรมัน เป็นผู้ลงนาม โดยมีผู้บริหารทั้งสองหน่วยงานร่วมเป็นสักขีพยาน

จากความร่วมมือกัน ในครั้งนี้จะนำไปสู่การช่วยยกระดับภาคการศึกษาให้สามารถก้าวทันเทคโนโลยีในการออกแบบและการผลิต รวมทั้งยกระดับความสามารถของบุคลากรไทยให้รองรับอุตสาหกรรมด้านวิศวกรรม การออกแบบ และอุตสาหกรรมการผลิตในอนาคต นำไปสู่การพัฒนาความรู้ทางวิชาการ การพัฒนาทางการศึกษา และความมั่นคงในทุกด้านของประเทศอย่างต่อเนื่อง อันจะก่อเกิดประโยชน์สูงสุดในการสร้างมูลค่าให้กับภาคอุตสาหกรรมของประเทศ การสร้างคุณภาพชีวิต และอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อความเข้มแข็งของประเทศชาติต่อไป