เนื้อหาวันที่ : 2007-08-15 14:24:10 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1675 views

ปตท. เริ่มขยายการใช้ NGV ในภาคคมนาคมขนส่งทางน้ำ

ปตท. ลงนามความร่วมมือขยายการใช้ NGV กับผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางน้ำขนาดใหญ่ หันมาใช้ NGV ก็จะช่วยลดการใช้ดีเซลได้ถึงปีละเกือบ 7 ล้านลิตร คิดเป็นมูลค่าประมาณ 180 ล้านบาทต่อปี

ปตท. ลงนามความร่วมมือขยายการใช้ NGV กับผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางน้ำขนาดใหญ่ และผู้ประกอบการเรือด่วนเจ้าพระยา ซึ่งนอกจะช่วยลดค่าเชื้อเพลิงให้กับผู้ประกอบการแล้ว ยังช่วยให้ประเทศลดการใช้น้ำมันดีเซลได้ถึงปีละประมาณ  7  ล้านลิตร  หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 180  ล้านบาท /ปี

.

ที่อาคารสำนักงานใหญ่  บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)  นายสรรเสริญ  วงศ์ชะอุ่ม  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม  เป็นประธานในพิธีลงนามเงื่อนไขหลักในสัญญา (Head of Term) จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ โครงการขยายผลการใช้ NGV ในเรือด่วนเจ้าพระยา ระหว่าง ปตท.  โดย นายจิตรพงษ์  กว้างสุขสถิตย์  รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจสำรวจ ผลิต และก๊าซธรรมชาติ  -  บริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด  โดย นางสุภาพรรณ   พิชัยรณรงค์สงคราม ประธานกรรมการ    และ บริษัท จีเอฟเอส เอเซียแปซิฟิค จำกัด  โดย  นายอาทิตย์ วรรณโลบล  กรรมการผู้จัดการ  และ สัญญาการซื้อขาย NGV สำหรับเรือขนส่งสินค้าทางน้ำ ระหว่าง ปตท.  โดย  นายจิตรพงษ์  กว้างสุขสถิตย์  รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจสำรวจ ผลิต และก๊าซธรรมชาติ และ      บริษัท เอส ซี จี โลจิสติกส์ จำกัด  (เอส ซี จี แอล)   โดย นายณัฐภพ  รัตนสุวรรณทวี  ประธานกรรมการ และกรรมการผู้จัดการใหญ่

.

หลังจากการทดลองใช้ NGV ในเรือด่วนเจ้าพระยาประสบผลสำเร็จ  ปตท.  -  บริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด  และ บริษัท จีเอฟเอส เอเซียแปซิฟิค จำกัด จึงได้มีการลงนามขยายผลการใช้ NGV ในเรือด่วนเจ้าพระยา ซึ่งมีสาระสำคัญของสัญญาดังนี้  ภายในระยะเวลา 6 เดือน บริษัท จีเอฟเอสฯ จะต้องติดตั้งอุปกรณ์ NGV ระบบเชื้อเพลิงร่วมให้กับเรือด่วนจำนวน  40  ลำให้แล้วเสร็จ    ในขณะที่บริษัทเรือด่วนเจ้าพระยาฯ จะต้องดำเนินการปรับปรุงท่าเทียบเรือให้เหมาะสมต่อการให้บริการเติมNGV และ ปตท. จะต้องก่อสร้างสถานี LCNG เพื่อให้บริการ CNG หรือที่เราคุ้นเคยเรียกว่า NGV แก่เรือด่วนในพื้นที่ของบริษัทเรือด่วนเจ้าพระยาฯ  ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา  6  เดือนเช่นเดียวกัน

.

สำหรับสาระสำคัญของสัญญาซื้อขาย NGV สำหรับเรือขนส่งสินค้าทางน้ำ ระหว่าง ปตท. และ บริษัท เอส ซี จี โลจิสติกส์ จำกัด  (เอส ซี จี แอล)  มีดังนี้   บริษัท เอส ซี จี แอล  ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเรือขนส่งสินค้าทางน้ำ  จะนำเรือขนส่งสินค้าจำนวน  12  ลำ ใช้เฉพาะ NGV เป็นเชื้อเพลิง ให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบัง  จังหวัดชลบุรี และ ท่าเรือนครหลวง  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดย ปตท. จะจำหน่าย NGV ให้บริษัทฯ ที่สถานี NGV แบบแม่ (NGV Mother Station)  ที่อำเภอบ้านบึงจังหวัดชลบุรี  ซึ่งบริษัทฯ จะเป็นผู้ดำเนินการนำ Gas Pack ไปเติม NGV และขนย้าย Gas Pack ลงเรือที่ท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบัง  จังหวัดชลบุรี 

.

นายสรรเสริญ  วงศ์ชะอุ่ม  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม  เปิดเผยว่า  ความร่วมมือของทุกฝ่ายในครั้งนี้  ถือเป็นเจตนารมณ์ที่ดีที่จะช่วยประเทศชาติประหยัดพลังงาน  ลดการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งในภาคการขนส่งทางน้ำยังมีประโยชน์ในการช่วยลดปัญหาน้ำมันรั่วปนเปื้อนในแม่น้ำอีกด้วย   และการที่ทั้งสองบริษัทฯ หันมาใช้ NGV ก็จะช่วยลดการใช้ดีเซลได้ถึงปีละเกือบ 7 ล้านลิตร คิดเป็นมูลค่าประมาณ 180 ล้านบาทต่อปี  ซึ่งหากผลการใช้ NGV ในเชิงพาณิชย์ของทั้งสองบริษัทประสบผลสำเร็จก็จะช่วยกระตุ้นให้บริษัทอื่นๆ หันมาใช้ NGV กันมากยิ่งขึ้น 

.
นายจิตรพงษ์  กว้างสุขสถิตย์  รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจสำรวจ ผลิต และก๊าซธรรมชาติ ปตท.  กล่าวว่า ปตท. จะขยายการใช้ NGV กับภาคการขนส่งทางน้ำให้หลายหลากยิ่งขึ้น สถานี LCNG  ที่จะก่อสร้างเพื่อให้บริการ CNG (หรือ NGV) แก่เรือด่วนนี้จะเป็นสถานี LCNG แห่งแรกที่ ปตท. จะนำร่องการนำ LNG มาใช้ในภาคการขนส่ง ซึ่งขณะนี้โรงงานผลิต LNG ที่  จังหวัดระยอง ใกล้จะก่อสร้างแล้วเสร็จ  คาดว่าจะทำการทดลองเดินเครื่องโรงงานได้ในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ ซึ่ง LNG นี้เหมาะสำหรับยานพาหนะที่มีข้อจำกัดในการบรรทุกน้ำหนัก เพราะว่าในปริมาณค่าพลังงานที่เท่ากันน้ำหนักถังและเนื้อ LNG   จะมีน้ำหนักเบากว่า CNG (หรือ NGV)  ประมาณ 2.5 เท่า ซึ่งในระยะเวลา 4 เดือนที่เหลือของปีนี้  ปตท. จะทำการทดลองการใช้ LNG กับเรือประมง และ เรือลากจูง   นอกจากนั้นหากการรถไฟแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่มีการใช้น้ำมันดีเซลในปริมาณมาก สนใจจะขอทดลองใช้ LNG  ปตท. ก็พร้อมยินดีให้การสนับสนุน
.

นางสุภาพรรณ  พิชัยรณรงค์สงคราม ประธานกรรมการ บริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด   นายณัฐภพ  รัตนสุวรรณทวี ประธานกรรมการ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอส ซี จี โลจิสติกส์ จำกัด  และ นายอาทิตย์ วรรณโลบล กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีเอฟเอส เอเซียแปซิฟิค จำกัด  ร่วมกันเปิดเผยว่า  รู้สึกภูมิใจและขอขอบคุณ ปตท. ที่ได้ให้การสนับสนุนและให้ความอนุเคราะห์เลือกบริษัทเป็นผู้นำร่องการใช้ NGV ในภาคการขนส่งทางน้ำ ซึ่งการใช้ NGV นอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงของบริษัทแล้ว บริษัทยังรู้สึกยินดีที่เป็นส่วนหนึ่งที่ได้ช่วยเหลือประเทศชาติในการลดการนำเข้าน้ำมันอีกด้วย  นางสุภาพรรณและนายณัฐภพยังได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า  ในอนาคตบริษัทมีแผนที่จะขยายการใช้ NGV กับเรือทั้งหมดของบริษัทอีกด้วย