เนื้อหาวันที่ : 2016-05-31 14:59:12 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1649 views

สศอ. เผย MPI เดือนเมษายน 2559 ขยายตัวร้อยละ 1.54

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผย ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน เมษายน 2559 ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ1.54 เนื่องจากการผลิตของอุตสาหกรรมหลักปรับตัวเพิ่มขึ้น

นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในภาพรวมของเดือน เมษายน 2559 มีอัตราการขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 1.54 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการผลิตของอุตสาหกรรมหลักที่สำคัญ ประกอบด้วย อุตสาหกรรมรถยนต์, อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า, อุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียม ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่

อุตสาหกรรมรถยนต์ การผลิตรถยนต์เดือนเมษายน ปี 2559 มีจำนวน 138,237 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 11.51 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของตลาดในประเทศ เนื่องจากผู้ประกอบการบางรายเร่งผลิตรถยนต์ PPV ให้ทันต่อความต้องการของตลาด

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ การผลิตเดือนเมษายน 2559  ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.84   เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้าปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.36 ได้แก่ กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนคอนเดนซิ่ง  เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนแฟนคอยล์ยูนิต คอมเพรสเซอร์ หม้อหุงข้าว สายไฟฟ้า และเครื่องรับโทรทัศน์ และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.91 โดย Other IC เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 9.43 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากเป็นชิ้นส่วนสำคัญในสินค้าอิเล็กทรอนิกส์   โดยการส่งออกไปสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และจีน เพิ่มขึ้น

อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า ผลผลิตเดือนเมษายน ปี 2559เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.31  เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการบริโภคเหล็กของไทยเดือนเมษายน ปี 2559 เพิ่มขึ้นร้อยละ 45.7 ส่งผลให้ผู้ผลิตเพิ่มการผลิต ทั้งเหล็กทรงยาว เช่น เหล็กเส้น เหล็กลวด ลดลง และเหล็กทรงแบน เช่น เหล็กแผ่นรีดร้อน เหล็กแผ่นรีดเย็น

อุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียม จากสินค้าน้ำมันแก็สโซฮอล 91 และน้ำมันแก็สโซฮอล 95 เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาราคาน้ำมันปรับตัวลดลง และผลจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐผ่านมาตรการกินเที่ยวทำให้มีการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น

ด้านอุตสาหกรรมอาหาร แม้การผลิตและการส่งออกในภาพรวมเดือนเมษายน 2559 ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 14.6 และ 5.3 ตามลำดับเนื่องจากการผลิตสินค้ากลุ่มน้ำตาลที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง แต่ปริมาณการผลิตและการส่งออก สินค้าผักผลไม้ ปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.7 และ 14.2 ตามลำดับ เนื่องจากการผลิตน้ำผลไม้จากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นของประเทศผู้นำเข้าเช่น สหรัฐอเมริกา และเนเธอร์แลนด์ รวมถึงผลไม้สดแช่เย็นแช่เข็งที่มีการผลิตและคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น จากการเข้าสู่ฤดูกาลออกผลผลิต เช่น ทุเรียน ซึ่งคำสั่งซื้อของประเทศผู้นำเข้าอย่าง จีน ฮ่องกง และเวียดนามเพิ่มขึ้น