เนื้อหาวันที่ : 2007-08-10 09:07:01 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2004 views

GTL เชื้อเพลิงทางเลือกใหม่ทดแทนน้ำมันวิกฤตในอนาคต

ผลงานวิจัยเชื้อเพลิงทางเลือกใหม่ เป็นการต่อจากระบบการผลิตไฮโดรเจน สามารถนำไปใช้ในการผลิตเชื้อเพลิงที่มีคุณสมบัติเหมือนน้ำมันดีเซล และเบนซินทุกประการ ง่ายต่อการใช้ ไม่ต้องเปลี่ยนเครื่องยนต์ ไม่เพียงช่วยฝ่าวิกฤตยุคน้ำมันแพงและน้ำมันขาดแคลนในอนาคต

นักวิจัย JGSEE คว้ารางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ด้วยผลงานวิจัยเชื้อเพลิงทางเลือกใหม่ ซึ่งเป็นการต่อจากระบบการผลิตไฮโดรเจน และสามารถนำไปใช้ในการผลิตเชื้อเพลิงที่มีคุณสมบัติเหมือนน้ำมันดีเซล และเบนซินทุกประการ ง่ายต่อการใช้ ไม่ต้องเปลี่ยนเครื่องยนต์ ไม่เพียงช่วยฝ่าวิกฤตยุคน้ำมันแพงและน้ำมันขาดแคลนในอนาคต ที่สำคัญยังเป็นเชื้อเพลิงสะอาดที่อาจลดปัญหาโลกร้อนได้

 
.  

ความหนักใจของประชาชนกับการใช้น้ำมันในทุกวันนี้ คือราคาน้ำมันที่แพงขึ้นเรื่อยๆ

ผศ.ดร.นวดล เหล่าศิริพจน์ บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี
อย่างไม่มีขีดจำกัด อีกทั้งในอนาคตอาจต้องหนักใจขึ้นอีกทวีคูณ เนื่องจากน้ำมันที่เคยใช้คล่องมือจะเริ่มขาดแคลนและหมดไป ปัจจุบันมีการพัฒนาพลังงานทางเลือกหลายประเภทขึ้นมาทดแทนน้ำมัน อาทิ ก๊าซ NGV  และ LPG  หากแต่การนำเชื้อเพลิงดังกล่าวไปใช้ยังมีปัญหาเกี่ยวกับเครื่องยนต์ โดยต้องมีการปรับแต่งเครื่องยนต์เพื่อให้สามารถใช้กับเชื้อเพลิงได้ จึงทำให้เกิดความยุ่งยากในการใช้ และเป็นสาเหตุที่หลายคนไม่เปลี่ยนมาใช้เชื้อเพลิงทางเลือกดังกล่าว

อย่างไรก็ดี ขณะนี้ได้มีการวิจัยเพื่อคิดค้นการสังเคราะห์เชื้อเพลิงทางเลือกชนิดใหม่ขึ้น โดย ผศ.ดร.นวดล เหล่าศิริพจน์ บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี ผู้ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ปี 50 จากมูลนิธิสิ่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์  ผู้ทำวิจัยเรื่อง "การผลิตเชื้อเพลิงทางเลือกใหม่ อันประกอบด้วย ก๊าซสังเคราะห์ เชื้อเพลิงไฮโดรเจน เชื้อเพลิง Gas-to-Liquid (GTL) เชื้อเพลิง Dimethyl Ether (DME) เชื้อเพลิง Biomass-to-Liquid (BTL) จากวัตถุดิบต่างๆในประเทศไทย" โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)  

ผศ.ดร.นวดล เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาเชื้อเพลิงทางเลือกใหม่ที่ถูกกล่าวถึงค่อนข้างมากคือ เชื้อเพลิงไฮโดรเจน ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงทางเลือกสะอาดเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หากแต่การนำใช้จริงในปัจจุบันยังมีความเป็นไปได้น้อย เนื่องจากเป็นเชื้อเพลิงที่ต้องใช้ควบคู่กับเทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิง ซึ่งยังมีราคาสูงมากในปัจจุบัน ดังนั้นจึงมีแนวคิดการเปลี่ยนเชื้อเพลิงไฮโดรเจน (หรือก๊าซสังเคราะห์) เป็นเชื้อเพลิงทางเลือกใหม่ที่มีคุณสมบัติคล้ายน้ำมันดีเซล และน้ำมันเบนซิน ซึ่งใช้กันทั่วไปในปัจจุบัน โดยเชื้อเพลิงที่มีความเป็นไปได้ที่จะนำมาใช้ในอนาคตอันใกล้นี้มากที่สุด คือ เชื้อเพลิง Gas-to-Liquid (GTL)

"เชื้อเพลิง Gas-to-Liquid (GTL) เป็นเชื้อเพลิงที่ได้จากการนำก๊าซสังเคราะห์ ที่มีองค์ประกอบของก๊าซไฮโดรเจนกับก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ ซึ่งผลิตได้จากสารประกอบไฮโดรคาร์บอน มาผ่านกระบวนการความร้อนเคมีที่เหมาะสมเพื่อจัดเรียงโมเลกุลใหม่ให้มีโครงสร้างเหมือนกับน้ำมันดีเซลทุกประการ ซึ่งจะสามารถนำไปใช้กับเครื่องยนต์ได้โดยไม่ต้องปรับแต่งเครื่องยนต์ งานวิจัยครั้งนี้เป็นการพัฒนาต่อยอดจากการพัฒนาการผลิตก๊าซไฮโดรเจน จากวัตถุดิบต่างๆ ที่มีอยู่ในประเทศ เช่น ก๊าซธรรมชาติ ก๊าซชีวภาพ ก๊าซหุงต้ม โดยการเปลี่ยนไฮโดรเจนเป็น GTL จำเป็นต้องมีการพัฒนาตั้งแต่กระบวนการสังเคราะห์ตัวเร่งปฏิกิริยา ศึกษาสภาวะที่เหมาะสม ทั้งอุณหภูมิและความดัน รวมถึงเตาปฏิกรณ์ที่ใช้ในการทำปฏิกิริยา ทั้งนี้ วัตถุดิบแต่ละชนิดจะใช้ตัวเร่งปฏิกิริยา และสภาวะที่เหมาะสมแตกต่างกัน จึงต้องมีการศึกษาหลายสภาวะ ซึ่งการพัฒนาเทคโนโลยีการสังเคราะห์เชื้อเพลิงทางเลือกใหม่ได้ภายในประเทศ จะช่วยให้ประเทศไทยไม่ต้องนำเข้าเทคโนโลยีดังกล่าวจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาแพง และอาจทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากวัตถุดิบที่ใช้ในการสังเคราะห์อาจมีคุณสมบัติไม่เหมือนกับวัตถุดิบภายในประเทศไทย งานวิจัยนี้จึงเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีสังเคราะห์เชื้อเพลิงทางเลือกที่เป็นของประเทศไทยโดยเฉพาะ"

 

 

การสังเคราะห์เชื้อเพลิงที่มีคุณสมบัติเหมือนน้ำมัน สามารถสังเคราะห์ได้ทั้งน้ำมันดีเซลและเบนซิน หากแต่การวิจัยนี้จะมุ่งเน้นไปที่การสังเคราะห์ให้ได้น้ำมันดีเซล เนื่องจากปัจจุบันมีอัตราการใช้น้ำมันดีเซลสูงมาก ทั้งในภาคการขนส่งสินค้า พวกรถบรรทุก และภาคคมนาคม พวกรถบัส รถโดยสาร และรถกระบะ ต่างจำเป็นต้องใช้น้ำมันดีเซลทั้งสิ้น ซึ่งมีจำนวนมากกว่าเมื่อเทียบกับน้ำมันเบนซิน นอกจากเป็นการช่วยลดปัญหาน้ำมันขาดแคลนแล้ว เชื้อเพลิงทางเลือกใหม่ยังช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อีกทางหนึ่ง เนื่องจากน้ำมันที่สังเคราะห์ได้จะมีความสะอาดมากกว่าน้ำมันดีเซลที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมีการปนเปื้อนของสารซัลเฟอร์จำนวนมาก หากในอนาคตมีกฎหมายระหว่างประเทศเกี่ยวกับการห้ามปลดปล่อยมลภาวะ เชื้อเพลิงทางเลือกใหม่นี้จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยลดปัญหามลภาวะได้

 
.  

ผศ.ดร.นวดล กล่าวอีกว่า ในอนาคตหากน้ำมันมีราคาแพงขึ้น เชื้อเพลิงทางเลือกใหม่จะมีความเป็นไปได้ในการนำมาใช้จริง แต่อย่างไรก็ดี การแก้ปัญหาพลังงานในระยะยาวนั้น ไม่สามารถแก้ไขได้โดยใช้เทคโนโลยีใดเทคโนโลยีหนึ่ง แต่ต้องอาศัยเทคโนโลยีหลายเทคโนโลยีเข้ามาร่วมกัน ทั้งเทคโนโลยีพลังงานทดแทน หรือเทคโนโลยีเชื้อเพลิงทางเลือกใหม่นี้ รวมถึงพฤติกรรมการใช้พลังงานต้องเปลี่ยนจากการใช้อย่างฟุ่มเฟือย เป็นการใช้อย่างรู้คุณค่า เราจึงจะสามารถผ่านวิกฤตพลังงานไปได้พร้อมกัน