เนื้อหาวันที่ : 2016-05-04 10:46:50 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1623 views
สศอ.เผย MPI เดือน มี.ค. สูงสุดในรอบ 3 ปี สอดคล้องกับการส่งออกที่ขยายตัว คาด MPI ไตรมาส 2 อุตสาหกรรมหลักปรับตัวเพิ่มขึ้น
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผย ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) และ อัตราการใช้กำลังการผลิต (CAPU) เดือน มี.ค. สูงสุดในรอบ 3 ปี โดย MPI เดือน มี.ค. กลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ร้อยละ 1.83 และคาดไตรมาส 2 อุตสาหกรรมที่สำคัญปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมรถยนต์
นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน มี.ค. 2559 กลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ร้อยละ 1.83 หลังจากติดลบ 2 เดือนติดต่อกัน จากเครื่องยนต์และรถยนต์ เครื่องสำอาง เครื่องประดับ และเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ อัตราการใช้กำลังการผลิต (Capacity Utilization Rate หรือ CAPU) ของภาคอุตสาหกรรมในเดือน มี.ค. 2559 มีระดับสูงที่สุดในรอบ 3 ปี โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในไตรมาสแรกของปี 2559 มีอัตราการหดตัวร้อยละ 1.08 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม ยังมีสัญญาณถึงแนวโน้มเศรษฐกิจในทิศทางที่ปรับตัวดีขึ้นในเดือน ก.พ. และ มี.ค. 2559
สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ MPI เดือน มี.ค.2559 เป็นบวกได้แก่
- เครื่องยนต์สำหรับรถยนต์ มีการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.01 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากสินค้าเครื่องยนต์ดีเซล มีปัจจัยหลักจากความนิยมของตลาดในประเทศสำหรับรถปิกอัพรุ่นใหม่ รวมถึงตลาดต่างประเทศ มีความต้องการเพิ่มสูงขึ้น อาทิ ตะวันออกกลาง ออสเตรเลีย กลุ่มประเทศลาตินอเมริกา และยุโรป
- รถยนต์ มีการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.02 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากสินค้าประเภทรถปิกอัพ เนื่องจากมีการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่
- เครื่องสำอาง มีการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 41.51 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากสินค้าแป้งฝุ่น ผงซักฟอก และยาสระผม เนื่องจากสภาพอากาศในปีนี้ร้อนกว่าปีก่อนส่งผลให้ความต้องการแป้งฝุ่น (เย็น)เพิ่มขึ้น
- เครื่องประดับ มีการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 40.72 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากสินค้าประเภทต่างหู สร้อย แหวน จี้ และกำไร เนื่องจากผู้ประกอบการเน้นความโดดเด่นของดีไซน์และรูปแบบการใช้สอยจึงได้รับความนิยมมากขึ้น
- เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน มีการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.48 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากสินค้าประเภทคอนเดนซิ่งยูนิต และแฟนคอยล์ยูนิต เนื่องจากอากาศที่ร้อนมากขึ้นทำให้เครื่องปรับอากาศมีความต้องการมากขึ้น
อุตสาหกรรมสำคัญที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นใน 1/2559 และคาดจะปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในไตรมาส 2/2559 ได้แก่
- อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ในไตรมาส 1/2559 การผลิตในภาพรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.13 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้ามีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.51 ซึ่งกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบทั้งหมด ขณะที่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวลดลงร้อยละ 4.77 กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง เช่น Semiconductor HDD ลดลงร้อยละ 18.21 และ 18.43 ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการคอมพิวเตอร์และโน้ตบุ๊คลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การผลิต Other IC เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.75
คาดว่าในไตรมาส 2/2559 อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จะมีการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้า คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ซึ่งมีสินค้าที่มีแนวโน้มขยายตัว คือ เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น จากการจำหน่ายในประเทศและการส่งออกเพิ่มขึ้น แต่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าจะลดลงร้อยละ 2 จากความต้องการ HDD ลดลงตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ขณะที่ IC คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเนื่องจาก IC ยังคงเป็นชิ้นส่วนสำคัญในการพัฒนาสินค้าที่มีการยกระดับของการใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้นซึ่งมีการออกรุ่นใหม่มาอย่างต่อเนื่อง
- อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ไตรมาส 1/2559 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีทิศทางเดียวกับเดือนมีนาคม 2559 โดยการผลิตผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.81 ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากความต้องการใช้ในประเทศประกอบกับการส่งออกที่เพิ่มขึ้น แต่ในกลุ่มผ้าผืนและเสื้อผ้าสำเร็จรูปลดลงร้อยละ 8.67 และ 12.74 ตามลำดับ หดตัวตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ส่งผลให้ประชาชนลดการใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือย ส่วนการผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไตรมาส 2/2559 คาดว่า จะขยายตัวดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะในกลุ่มเส้นใยสังเคราะห์และเสื้อผ้าสำเร็จรูป
นอกจากนี้ อุตสาหกรรมที่มีการปรับตัวลดลงในไตรมาสแรก แต่คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในไตรมาส 2/2559 ได้แก่
- อุตสาหกรรมอาหาร ในไตรมาส 1/2559 การผลิตในภาพรวมปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.8 จากสินค้ากลุ่มประมง สำหรับสินค้าผักและผลไม้ (สับปะรดกระป๋องและน้ำผลไม้กระป๋อง) ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากคำสั่งซื้อของกลุ่มประเทศอาเซียนและสหรัฐอเมริกา
ทั้งนี้ ในไตรมาส 2/2559 การผลิตและส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.3 และ 0.5 ตามลำดับ เนื่องจากสินค้ากลุ่มปศุสัตว์ (เนื้อไก่แช่แข็งและแช่เย็น และไก่แปรรูป) ได้รับปัจจัยบวก จากประเทศคู่แข่งอย่างบราซิลและจีนจะลดการผลิตลง ประกอบกับประเทศคู่แข่งหลายประเทศยังคงประสบปัญหาไข้หวัดนก จึงเป็นโอกาสดีของประเทศไทย
- อุตสาหกรรมรถยนต์ ในไตรมาส 1/2559 แม้การผลิตจะชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการลดลงของตลาดในประเทศและตลาดส่งออก เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว โดยไตรมาส 2/2559 คาดการณ์ว่า จะมีการผลิตรถยนต์ประมาณ 490,000 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 19.30 โดยเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศประมาณ 260,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 51.76 และเป็นการผลิตเพื่อการส่งออกประมาณ 230,000 คัน ลดลงร้อยละ 7.20