เนื้อหาวันที่ : 2016-04-21 14:50:33 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2271 views

ผู้บริโภคในปัจจุบันเข้าใจความหมายของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมากเพียงใด

เพื่อแสดงถึงการตระหนักถึงความสำคัญของวันคุ้มครองโลกหรือ Earth Day 2016 Booking.com ผู้นำระดับโลกที่ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างผู้เดินทางกับตัวเลือกที่พักที่ยอดเยี่ยมและหลากหลาย ได้เปิดเผยผลจากรายงานการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน[i]ที่จัดทำทั่วโลก ซึ่งประกอบด้วยหัวข้อน่าสนใจมากมาย เช่น ‘การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน’ มีความหมายเช่นไรต่อผู้บริโภค ภาพลักษณ์ของที่พักแบบอย่างยั่งยืนในสายตาผู้บริโภค และในอนาคตมีสิ่งใดบ้างรองรับผู้เดินทางที่ตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม

การท่องเที่ยวสีเขียวหมายถึงอะไร?

ผู้เข้าร่วมการสำรวจจากทั่วโลกเพียงร้อยละ 42 เท่านั้นที่กล่าวว่าพวกเขาเป็นผู้เดินทางซึ่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยผู้เดินทางชาวจีนร้อยละ 72 มีความเห็นว่าตนท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ส่วนชาวญี่ปุ่นนั้นอยู่ที่ร้อยละ 25 ผลการสำรวจยังแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคมีความเข้าใจที่แตกต่างกันต่อคำว่า ‘การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน’ โดยผู้เข้าร่วมการสำรวจมากกว่าครึ่ง (ร้อยละ 56) เห็นว่าการเข้าพักที่ที่พักที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมคือการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และมากกว่า 2 ใน 3 ของผู้เข้าร่วมการสำรวจยืนยันว่าพวกเขามีโอกาสที่จะเลือกจองที่พักหากทราบว่าที่พักดังกล่าวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม ผู้เดินทางจากทั่วโลกเกือบสองในสาม (ร้อยละ 65) กล่าวว่าพวกเขาไม่เคยหรือไม่ทราบว่าที่พักซึ่งเคยพักนั้นเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ทั้งนี้ ร้อยละ 39 ของผู้เดินทางที่ไม่ได้วางแผนจะพักในที่พักซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในปีนี้ เป็นเพราะพวกเขาไม่ทราบว่ามีที่พักรูปแบบดังกล่าวให้บริการ นอกจากนี้ยังพบว่าผู้เดินทางที่ระบุเหตุผลดังกล่าวนี้มากที่สุด ได้แก่ ชาวญี่ปุ่น (ร้อยละ 43) ชาวนิวซีแลนด์ (ร้อยละ 39) และชาวเยอรมัน (ร้อยละ 46)

ผู้เข้าร่วมการสำรวจร้อยละ 32 ระบุว่า กิจกรรมชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon offsetting) จากการเดินทางทางอากาศเป็นการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ในขณะที่ร้อยละ 22 รู้สึกว่าการพักในพื้นที่อนุรักษ์ธรรมชาติ เช่น อุทยานแห่งชาติ ถือเป็นการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ส่วนร้อยละ 16 คิดว่าการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนหมายถึงการตั้งแคมป์ และมากกว่าหนึ่งในสิบ (ร้อยละ 14) คิดว่าหมายถึงการเดินทางไปยังจุดหมายที่สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับสัตว์ป่าท้องถิ่นได้

นอกเหนือจากด้านธรรมชาติแล้ว กิจกรรมด้านการสงเคราะห์ก็จัดว่าเป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวอย่าง ‘ยั่งยืน’ เช่นกัน ซึ่งรวมถึงการซื้องานฝีมือและอาหารจากท้องถิ่น (ร้อยละ 35) หรือเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือชุมชนท้องถิ่น (ร้อยละ 14) และการพักในชุมชนพื้นเมืองและเรียนรู้วัฒนธรรม (ร้อยละ 12)

ข้อสงสัยเกี่ยวกับที่พักซึ่งสอดคล้องกับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

นอกจากการสำรวจดังกล่าวจะแสดงให้เห็นว่าความหมายของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในความเข้าใจของแต่ละบุคคลนั้นแตกต่างกันแล้ว ยังแสดงให้ด้วยเห็นว่าเมื่อกล่าวถึง ‘ที่พักซึ่งสอดคล้องกับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน’ ผู้คนมักมีความสับสนและสงสัย เช่น ผู้เดินทางยืนยันว่าจะไม่จองที่พักซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในปีนี้ เนื่องจากที่พักประเภทดังกล่าวมีราคาแพง (ร้อยละ 22) ไม่หรูหราเท่าที่พักอื่นๆ (ร้อยละ 10) หรือไม่เชื่อว่าที่พักแห่งนั้นเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง (ร้อยละ 13) ชาวอังกฤษและออสเตรเลียนั้นมีความเหมือนกันที่จะไม่จองที่พักเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเนื่องจากข้อจำกัดด้านค่าใช้จ่าย (ร้อยละ 30 เท่ากัน) ส่วนชาวญี่ปุ่นร้อยละ 14 กล่าวว่าสาเหตุเป็นเพราะไม่ไว้วางใจว่าที่พักจะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจริงตามที่กล่าวอ้าง

นางกิลเลียน ทานส์ ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการของ Booking.com ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “ที่พักซี่งสอดคล้องกับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนนั้นไม่ได้หมายถึงเพียงการจัดแสงไฟสลัว ใช้น้ำแรงดันต่ำ หรือไม่มีเครื่องปรับอากาศ ผู้เข้าพักอาจไม่ได้ตระหนักว่าพวกเขาเอนกายอยู่บนผ้าปูที่นอนซึ่งทอจากฝ้ายที่ปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ ชำระร่างกายด้วยน้ำอุ่นซึ่งใช้พลังงานของโรงแรมเอง ซึ่งถือเป็นการเข้าพักอย่างยั่งยืน หรือแม้แต่การรับประทานอาหารซึ่งใช้วัตถุดิบจากแหล่งในระยะ 30 กิโลเมตรจากที่พัก ก็นับได้ว่าเป็นผู้เดินทางอย่างยั่งยืนที่ช่วยสนับสนุนธุรกิจของท้องถิ่น”

ในความเป็นจริงแล้ว เมื่ออ้างอิงจากงานวิจัยของ Booking.com[ii] ที่พักมากกว่า 1 ใน 4 (ร้อยละ 26) ยืนยันว่าได้เริ่มดำเนินการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และเกือบ 1 ใน 5 (ร้อยละ 19) ช่วยสนับสนุนชุมชนท้องถิ่น ในขณะที่ที่พักขนาดใหญ่ (มี 36 ห้องขึ้นไป) มีการดำเนินการเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมากกว่า โดย 1 ใน 3 (ร้อยละ 33) ได้เริ่มดำเนินการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และ เกือบเป็น 1 ใน 4 (ร้อยละ 24) ให้การสนับสนุนชุมชนท้องถิ่น  นอกจากนี้ที่พักมากกว่าครึ่ง (ร้อยละ 51) ได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งกำหนดโดยองค์กรที่เป็นที่ยอมรับ เช่น สภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Council: GSTC)

นางกิลเลียน ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “หากการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมีความชัดเจนเพิ่มขึ้น เป็นที่เข้าใจยิ่งขึ้น และเป็นที่รับรู้มากขึ้น  ก็จะช่วยให้ผู้เดินทางมีข้อมูลเพื่อตัดสินใจเลือกที่พักและจุดหมายได้ดีขึ้น งานวิจัยและการพูดคุยกับผู้ให้บริการที่พักผ่าน Booking.com นั้น เป็นการแสดงออกถึงความพยายามที่จะให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งเรายินดีอย่างยิ่งที่สามารถแบ่งปันข้อมูลกับผู้เดินทางซึ่งกำลังค้นหาและเลือกที่พักบนเว็บไซต์ของเรา”

ผลสำรวจแสดงให้เห็นถึงมติอันเป็นเอกฉันท์ว่าจำเป็นต้องมีการดำเนินการอย่างแข็งขันอีกมากเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยมีผู้เดินทางเพียงร้อยละ 5 เท่านั้นที่คิดว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นเรื่องง่าย ในขณะที่มีแนวความคิดที่หลากหลายในการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ในจำนวนนั้นมี 2 แนวคิดที่มีการเสนอขึ้นมามาก คือการให้สิทธิพิเศษในเชิงเศรษฐกิจ เช่น การลดภาษีสำหรับผู้เดินทางเชิงอนุรักษ์ (ผู้เข้าร่วมการสำรวจร้อยละ 41 เห็นด้วยกับแนวความคิดนี้) และการกำหนดมาตรฐานสากลด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (ร้อยละ 41)  อนึ่ง แม้ว่าจะยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนในขณะนี้ แต่เว็บไซต์จองที่พักมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เนื่องจากร้อยละ 38 ของผู้เข้าร่วมการสำรวจระบุว่าต้องการให้เว็บไซต์จองที่พักช่วยทำให้เข้าใจความหมายและเปรียบเทียบที่พักและการเดินทางต่างๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ง่ายยิ่งขึ้น

อนาคตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น?

ร้อยละ 62 ของผู้เข้าร่วมการสำรวจยืนยันว่าจะเลือกพักที่พักซึ่งสอดคล้องกับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนภายในปีนี้ และ ร้อยละ 50 กล่าวว่าได้พิจารณาหรือกำลังพิจารณาเลือกจุดหมายการเดินทางที่ตอบสนองการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนแม้ว่าพวกเขาไม่ได้สนใจนำประเด็นนี้มาพิจารณาเลือกที่พักมาก่อน ซึ่งจุดหมายการเดินทางดังกล่าว หมายรวมถึงที่พักที่มีการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติและสัตว์ป่า มีการปฏิบัติกับสัตว์อย่างเป็นธรรม และมีโครงการช่วยเหลือชุมชนท้องถิ่น

เมื่อมีผู้คนที่ต้องการสัมผัสประสบการณ์เข้าพักที่สอดคล้องกับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมากขึ้น Booking.com จึงได้พิจารณาหนทางที่จะพัฒนาแพลตฟอร์มค้นหาที่พัก Passion Search ให้รวมความสนใจเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ รวมถึงพัฒนาฐานข้อมูลจุดหมายการเดินทางที่จะช่วยให้ค้นหาจุดหมายที่ดีที่สุดที่สนับสนุนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนได้ง่ายดายยิ่งกว่าเดิม

นางกิลเลียน ทานส์ กล่าวสรุปว่า “เรายินดีอย่างยิ่งที่ได้เห็นความตั้งใจจริงของผู้คนมากมายที่ต้องการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ด้วยจำนวนที่มากขึ้นของผู้คนที่ต้องการเลือกที่พักซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในอนาคต เราจะเสาะหาวิธีที่มีประสิทธิภาพเพื่อช่วยให้ผู้เดินทางท่านอื่นสามารถค้นพบและสัมผัสการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยอาศัยคำแนะนำกว่า 26 ล้านรายการจากฐานลูกค้าขนาดใหญ่ของเรา”

 

[i] รวบรวมข้อมูลจากตลาดสำคัญ 10 แห่งซึ่งมีผู้ร่วมตอบแบบสอบถามแห่งละ 1,000 คน โดยผู้ตอบแบบสอบถามจะต้องมีอายุตั้งแต่ 18 ขึ้นไป และเคยเดินทางอย่างน้อยหนึ่งครั้งในปี 2015 รวมถึงกำลังวางแผนเดินทางอย่างน้อยหนึ่งครั้งในปี 2016 ผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดจะต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินเมื่อวางแผนการเดินทางของพวกเขา Booking.com  รวบรวมข้อมูลดังกล่าวในเดือนมีนาคม 2016 ด้วยความช่วยเหลือของผู้ให้บริการพาเนลระหว่างประเทศ
[ii] การวิจัยจัดทำโดย Booking.com ในเดือนมีนาคมและกุมภาพันธ์ 2016 ร่วมกับที่พักคู่ค้า 5,761 แห่งใน 20 ประเทศ