เนื้อหาวันที่ : 2006-05-29 13:11:05 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2030 views

รัฐบาลเล็งใช้พลังงานแสงอาทิตย์ตัดพีคในช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้าสูง

ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี เสนอรัฐบาลนำพลังงานแสงอาทิตย์มาตัดพีคไฟฟ้าในช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้าสูง 10% ตั้งแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี ผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ให้ถูกลง

 

ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี เสนอรัฐบาลนำพลังงานแสงอาทิตย์มาตัดพีคไฟฟ้าในช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้าสูง( Cut Peak )10% แนะพลังงานแสงอาทิตย์มีราคาถูกและเป็นพลังงานสะอาด ดีกว่าใช้แก๊สธรรมชาติหรือถ่านหินที่ก่อมลภาวะ พร้อมตั้งแผนยุทธศาสตร์ 5 ปีที่จะลดต้นทุนการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ให้ถูกลงเพื่อขยายขอบเขตการใช้งาน

.

ดร.พอพนธ์ สิชฌนุกฤษฏ์  รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (ศจ.) กล่าวว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าในปัจจุบันมีสูงมาก ทั้งในส่วนของโรงงานอุตสาหกรรมและบ้านเรือน โดยเฉพาะช่วงฤดูร้อน มีสถิติอัตราการใช้ไฟฟ้าในปี 2005 ระบุว่า อัตราการใช้ไฟฟ้าช่วงพีคสูงถึง 20,000 เมกะวัตต์ ในขณะที่ราคาต้นทุนการผลิตไฟฟ้าสูงถึงหน่วยละ 16.67 บาท ดังนั้นศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี เสนอแนวทางการแก้ปัญหาต่อรัฐบาล โดยการนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้สำหรับการตัดพีคของการใช้ไฟฟ้า เนื่องจากต้นทุนของพลังงานแสงอาทิตย์อยู่ที่หน่วยละ 10 บาท และพลังงานแสงอาทิตย์จะผลิตไฟฟ้าในช่วงเวลากลางวัน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงพอดี

.

ศจ.นำเสนอการตัดพีคด้วยโซล่าเซลล์ 10% ภายใน 15 ปี ให้กับรัฐบาลในโครงการเมกะโปรเจ็กต์ เนื่องจากอัตราการใช้ไฟฟ้าสูงถึง 20,000 เมกะวัตต์ อีก 15 ปี คือปี 2020 มีการคาดการณ์ในอนาคตจากการไฟฟ้าแห่งประเทศไทย ว่าอัตราการใช้จะเพิ่มขึ้น เป็น 50,000 เมกะวัตต์ 10% ของพีค คือ 5,000 เมกะวัตต์ จะนำพลังงานแสงอาทิตย์มาทดแทน เพราะเป็นพลังงานสะอาด ไม่มีปัญหามลภาวะและสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ ทำให้โลกร้อนขึ้นเหมือนการใช้ถ่านหินมาผลิตไฟฟ้า ในต่างประเทศเช่น ญี่ปุ่นและเยอรมัน มีการนำพลังงานแสงอาทิตย์มาตัดพีคเช่นกัน

.

ประเทศไทยมีการใช้พลังงานแสงอาทิตย์น้อย เนื่องจากมีพลังงานทดแทนอื่น เช่น แก๊สธรรมชาติ ที่สามารถนำมาผลิตกระสไฟฟ้าได้ แต่ในอนาคตประมาณ 10 ปีแก๊สธรรมชาติจะหมดไป การหาแก๊สธรรมชาติจากแหล่งอื่นจะทำให้คอร์สแพงขึ้นถ้าระยะทางไกล การสร้างเขื่อนก็ได้รับการคัดค้านจากประชาชนในประเทศ หากจะสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าในประเทศเพื่อนบ้าน ก็ถือว่ามีความเสี่ยง หากเกิดปัญหาไม่สามารถส่งกระแสไฟฟ้าเข้ามาในประเทศได้ ถือว่าไม่มีความมั่นคงด้านพลังงาน

.

ดร.พอพนธ์กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยียังมีแผน 5 ปีในการ (พ.ศ. 2553) ลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าด้วย กำลังงานพลังงานแสงอาทิตย์ เนื่องจากราคาในปัจจุบันยูนิตละ 10 ปี ในขณะที่ราคาต้นทุนค่าไฟฟ้า 5 บาทต่อหน่วย และเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ เช่น ถ้าราคาน้ำมันขึ้น ค่า FT ก็ขึ้น ทำให้ต้นทุนแพงขึ้น ถ้าศจ. สามารถลดต้นทุนการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ได้ จะทำให้ราคาพลังงานแสงอาทิตย์ถูกลง แผนลดต้นทุนดังกล่าว ประกอบด้วย การผลิตวัตถุดิบเองในประเทศ การสร้างเครื่องจักรเองในประเทศไทย แทนการซื้อจากต่างประเทศที่แพงกว่าประมาณ 2 เท่า พัฒนาประสิทธิภาพที่มีอยู่ให้สูงขึ้น พัฒนาแอพพลิเคชั่นใหม่เพื่อลดต้นทุน

.

ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกต่างหันมาผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ เช่น ญี่ปุ่น และเยอรมัน ทำให้กำลังการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์มีอัตราการเติบโตสูงมาก ตั้งแต่ปี 2542 – 2545 อัตราการผลิตสูงประมาณ 38% ส่วนในปี 2546-2548 อัตราการการผลิตเติบโตสูงถึง 60% โดยกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ปัจจุบันเทียบเท่ากับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ 2 โรง (โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 1000 เมกะวัตต์ ต่อ 1 โรง)

.

กำลังการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์รายปี ดังนี้  (ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2542 -2548) 

       ปี พ.ศ.      กำลังการผลิต (เมกะวัตต์)
          2542      202
          2543      287
          2544      401
          2545      506
          2546      750
          2547      1256
          2548      1818