เนื้อหาวันที่ : 2007-08-08 10:49:42 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2533 views

ค้าเหล็กไทยจับมือยักษ์ใหญ่วงการเหล็กญี่ปุ่น บุกตลาดเหล็กในไทย

ค้าเหล็กไทยเนื้อหอม ยักษ์ใหญ่ในวงการอุตสาหกรรมเหล็กของญี่ปุ่น เมทัล วัน คอร์ปอเรชั่นจับมือร่วมเป็นพันธมิตร เดินหน้าสร้างความแข็งแกร่งและเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจให้ค้าเหล็กไทย

ค้าเหล็กไทยเนื้อหอม ยักษ์ใหญ่ในวงการอุตสาหกรรมเหล็กของญี่ปุ่น เมทัล วัน คอร์ปอเรชั่นจับมือร่วมเป็นพันธมิตร พร้อมนำจุดแข็งของสองบริษัทประสานเข้าเป็นหนึ่งเดียว เดินหน้าสร้างความแข็งแกร่งและเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจให้ค้าเหล็กไทย

.

นายปานชัย พิพัฒนสกุล กรรมการผู้อำนวยการ  บริษัท ค้าเหล็กไทย จำกัด (มหาชน) (TMT) ผู้ดำเนินธุรกิจศูนย์บริการเหล็กครบวงจรรายใหญ่ของประเทศไทย เปิดเผยว่าบริษัทได้ร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับเมทัล วัน คอร์ปอเรชั่น โดยเมทัล วัน คอร์ปอเรชั่น จะเข้ามาถือหุ้นในบริษัทค้าเหล็กไทย จำกัด (มหาชน) ในสัดส่วนร้อยละ5 % ของทุนจดทะเบียนของบริษัทซึ่งปัจจุบันทุนจดทะเบียนของบริษัทอยู่ที่ 425 ล้านบาท 

.

"การจับมือกันเป็นพันธมิตรในครั้งนี้มีกรอบความร่วมมือหลัก 3 ประการได้แก่ 1.) การร่วมมือกันในการตอบสนองความต้องการ และพัฒนาตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์เหล็กในกลุ่มบริษัทข้ามชาติจากญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย 2.) ให้การส่งเสริม และพัฒนาตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์เหล็กชนิดใหม่ๆในประเทศไทย รวมถึงเทคโนโลยีใหม่ๆที่ต้องใช้ในการจัดการ หรือผลิตสินค้าใหม่ๆเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้สูงสุด และ 3.) เมทัล วัน คอร์ปอเรชั่น จะเป็นหนึ่งในเครือข่ายการจัดหาสินค้าจากทั่วโลกให้แก่บริษัท ค้าเหล็กไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อให้บริษัท ค้าเหล็กไทย จำกัด (มหาชน) มีเครือข่ายผลิตภัณฑ์เหล็กได้ครบวงจรมากขึ้น" นายปานชัยกล่าว

.

นายปานชัยกล่าวต่อไปว่า "บริษัท ค้าเหล็กไทย จำกัด (มหาชน) กับเมทัล วัน คอร์ปอเรชั่น มีความร่วมมือทางธุรกิจกันมาเป็นเวลาหลายปี โดยมีโครงการต่างๆที่ทำร่วมกัน เช่น โครงการ BLCP Power Plant ที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง และโครงการ South Bangkok Power Plant เป็นต้นไ

.

นายปานชัยกล่าวถึงผลประกอบการของบริษัท ค้าเหล็กไทย จำกัด (มหาชน) ว่า ผลประกอบการของบริษัทในช่วงไตรมาสแรกนั้น บริษัทมียอดรายได้เท่ากับ 1,790 ล้านบาทและมีกำไรสุทธิ 48.06 ล้านบาท 

.

นาย Mr. Moriji Kanada  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เมทัล วัน คอร์ปอเรชั่น กล่าวถึงการร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจและเข้าถือหุ้นในครั้งนี้ว่า "เมทัล วัน คอร์ปอเรชั่น มีนโยบายในการผนึกเครือข่ายให้มีความสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้สูงสุด และประเทศไทยเป็นประเทศที่ญี่ปุ่นให้ความสนใจในการลงทุนขนาดใหญ่ โดยเฉพาะในด้านอุตสาหกรรมต่างๆ และการก่อสร้างสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ ซึ่งต้องใช้เหล็กเป็นวัสดุพื้นฐาน ทำให้เมทัล วัน คอร์ปอเรชั่น เห็นความจำเป็นที่จะต้องมีพันธมิตรเพื่อเป็นผู้จัดการ และให้บริการเหล็กแบบครบวงจรในประเทศไทย ซึ่งบริษัท ค้าเหล็กไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้มีศักยภาพสูงสุดและเป็นที่ยอมรับของตลาดตรงตามที่กล่าวมาทั้งหมด อีกทั้งเราได้เคยมีความร่วมมือทางธุรกิจกันมาแล้วในหลายโครงการจึงไม่มีความลังเลหรือความยากลำบากในการตัดสินใจร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจในวันนี้"

.

เมทัล วัน คอร์ปอเรชั่น ก่อตั้งเมื่อเดือนมกราคม 2546 จากการรวมตัวของสองบริษัทยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมเหล็กของประเทศญี่ปุ่น นั่นคือ ฝ่ายผลิตเหล็กของมิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น และ นิชโช อิไว คอร์ปอเรชั่น (ปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็น โซจิทสึ คอร์ปอเรชั่น) ซึ่งทั้งสองกลุ่มมีความเชื่อว่าการแยกตัวออกจากบริษัทแม่ และรวมกิจการเหล็กของสองกลุ่มเข้าไว้ด้วยกัน จะทำให้ทั้งสองกลุ่มสามารถดำรงสถานะ และความแข็งแกร่งของบริษัทไว้ได้ 

.

เมทัล วัน คอร์ปอเรชั่น วางบทบาทของตนเองในการเป็น "ผู้กำหนดทิศทางและสร้างสรรค์ให้แก่ตลาดเหล็ก " โดยเน้นการทำงานร่วมกับลูกค้าในการสร้างมูลค่าเพิ่ม ให้กับสินค้า พัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กให้ได้ระดับมาตรฐานโลก และสรรหาตลาดใหม่ๆอยู่เสมอๆ รวมถึงการปรับปรุงและพัฒนาตลาดเหล็กโดยรวม ปรับปรุงระบบการจัดการขนส่ง และการจัดจำหน่ายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตลอดจนการศึกษาและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดในแต่ละภูมิภาค โดยการประสานงานกับผู้ผลิต และผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเหล็กเหล่านั้น เพื่อแสวงหาความพึงพอใจสูงสุดให้แก่ลูกค้าตามวิสัยทัศน์ที่ว่า "เป็นผู้สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจเหล็ก"

.

ปัจจุบัน เมทัล วัน คอร์ปอเรชั่น เป็นผู้จัดการผลิตภัณฑ์เหล็กต่างๆ มากกว่า 25 ล้านตันต่อปี ผ่านเครือข่ายพันธมิตรและสาขา กระจายอยู่ในทั่วทุกภูมิภาคของโลกมากกว่า 170 แห่ง  ได้แก่ ประเทศไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย อินเดีย บังคลาเทศ เวียดนาม จีน ฮ่องกง ไต้หวัน สหราชอาณาจักร ฮังการี เยอรมนี รัสเซีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหรัฐอเมริกา แคนาดา เม็กซิโก กัวเตมาลา โคลัมเบีย และบราซิล