เนื้อหาวันที่ : 2016-04-08 13:56:02 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1752 views

มจธ.จัดหลักสูตร WiL เพื่อตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม สร้างนักศึกษาคุณภาพ “คิดเป็น ทำได้จริง” สู่สถานประกอบการ

ในยุคที่ความรู้และทักษะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นกลไกหนึ่งที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และช่วยให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดับรายได้ปานกลาง ดังนั้น บุคลากรหรือแรงงานที่มีทักษะและมีประสบการณ์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความต้องการอย่างมาก ดังนั้นตลอด 55 ปีที่ผ่านมาการผลิตบัณฑิตที่เก่ง ดี มีคุณภาพ และทักษะตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม จึงเป็นหนึ่งในปณิธานของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)

กว่า 20 ปี ที่ มจธ.ได้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรการบูรณาการการเรียนรู้ร่วมกับการทำงาน หรือ WiL (Work-integrated Learning) เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ประยุกต์ความรู้ในสาขาที่เรียนมาไปใช้ในการทำงานจริง ณ สถานประกอบการ ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดจากอาจารย์ที่ปรึกษาและอาจารย์พี่เลี้ยงของสถานประกอบการ ที่ผ่านมา WiL สามารถสร้างผลงานที่ได้รับการตอบรับจากภาคอุตสาหกรรมเจ้าของโจทย์ที่นักศึกษาได้เข้าไปเรียนรู้อย่างมากมาย ดังนั้นคณะทำงานส่งเสริมและสนับสนุนการบูรณาการการเรียนรู้ร่วมกับการทำงาน ภายใต้กลุ่มงานนวัตกรรมและพันธมิตร สำนักงานวิจัย นวัตกรรมและพันธมิตร มจธ.จึงได้จัดงานนิทรรศการ “สัปดาห์แสดงผลงานนักศึกษาหลักสูตรการบูรณาการการเรียนรู้ร่วมกับการทำงาน ประจำปี พ.ศ. 2559 (WiL Week)”  ขึ้น ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม ถึง 1 เมษายน พ.ศ. 2559 ณ Science Learning Space คณะวิทยาศาสตร์ มจธ.

รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมีเป้าหมายที่จะผลิตบัณฑิตเก่งดีและมีคุณภาพออกไปช่วยแก้ปัญหาสังคมและสร้างประเทศชาติ ด้วยความเชื่อที่ว่าการเรียนรู้ที่ดีที่สุด คือ การลงมือปฏิบัติแก้ปัญหาจริง จึงจะทำให้นักศึกษาคิดเป็น ทำได้ ซึ่งหลักสูตร WiL นั้น จะนำนักศึกษาเข้าไปเรียนรู้ร่วมกับการทำงานในสถานประกอบการที่มีโจทย์ปัญหาจริง ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้ อยากรู้ลึกลงไปในเนื้อหาของงานที่ทำไม่ว่าจะเป็นด้านวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือแม้แต่เทคโนโลยี และสามารถนำความรู้นั้นไปแก้โจทย์ปัญหาจริงได้ จึงถือเป็นลักษณะสำคัญของการเรียนการสอนแบบ WiL การตั้งใจที่จะมุ่งสู่สิ่งที่เราทำได้ดีที่สุด และทำสิ่งที่ทำได้ให้ดีที่สุด จะทำให้เกิดผลกระทบที่ดีต่อเศรษฐกิจและสังคมได้ในที่สุด

ดร.สรัญญา ทองเล็ก ประธานคณะทำงานโครงการ WiL กล่าวว่า มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการจัดหลักสูตร การเรียนการสอนในรูปแบบ WiL และประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากมาเกือบ 20 ปีแล้ว สามารถสร้างผลงานที่ได้รับการตอบรับอย่างดีจากภาคอุตสาหกรรมและหน่วยงานต่างๆ ที่นักศึกษาเข้าไปเรียนรู้ร่วมกับการทำงานจริง ทำให้ปัจจุบันได้ขยายหลักสูตรจากระดับปริญญาโทเป็นปริญญาตรีเพิ่มขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เข้าไปเรียนรู้ทักษะการทำงานต่างๆ นอกเหนือจากที่ได้ในห้องเรียนจากผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ ณ สถานประกอบการมากขึ้น

“การจัดนิทรรศการฯ ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 5 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ผลงานนักศึกษา ที่ได้นำความรู้ จากที่เรียนในห้องเรียนกว่า 3 ปี ไปประยุกต์ใช้กับโจทย์จริงในสถานประกอบการ นอกจากนั้นยังได้ทำงานร่วมกับบุคลากรของภาคอุตสาหกรรม ทำให้นักศึกษาเรียนรู้ถึงวิถีชีวิตการทำงานจริงในสถานประกอบการ ฉะนั้นสิ่งที่นักศึกษาได้รับ จึงไม่ใช่แค่เพียงวิชาการแต่ยังได้ทักษะการทำงานต่างๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาอย่างมากในอนาคต”

ภายในนิทรรศการฯ จัดให้นักศึกษานำโครงงานวิจัยของตนเองมานำเสนอในรูปแบบโปสเตอร์ โดยแบ่งประเภทของผลงานออกเป็น 6 หัวข้อ ได้แก่ Safety, Innovation, Quality Improvement, Process Improvement, Information Management, Resource Management  มีผลงานของนักศึกษาที่นำมาจัดแสดงทั้ง 2 ระดับ จาก 4 คณะ ประกอบด้วย คณะวิทยาศาสตร์ 33 ผลงาน, คณะวิศวกรรมศาสตร์ 33 ผลงาน, คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี 2 ผลงาน และบัณฑิตวิทยาลัยการจัดการและนวัตกรรม หรือ GMI 1 ผลงาน รวมทั้งสิ้น 69 ผลงาน การจัดงานครั้งนี้คาดว่าจะสามารถสร้างแรงจูงใจให้ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนทั้งอาจารย์ บุคลากรจากภาคอุตสาหกรรมและหน่วยงานต่างๆ ได้เข้าใจและเห็นประโยชน์ของการเรียนการสอนรูปแบบ WiL ชัดเจนมากขึ้น และหันมามีส่วนร่วมมากขึ้น เพื่อที่จะได้ร่วมกันผลิตบัณฑิตที่เก่ง ดี และมีคุณภาพให้กับสังคมและประเทศต่อไป”

ด้านนายชนวีร์ ลิขสิทธิ์ นักศึกษาปริญญาโทจากโครงการทักษะวิศวกรรมเคมี Chemical Engineering Practice School (ChEPS) คณะวิศวกรรมเคมี มจธ. เป็นหนึ่งในนักศึกษาที่ร่วมส่งผลงานเข้าร่วมแสดงในงาน WiL Week ครั้งที่ 5 และได้รับรางวัลชนะเลิศ ในหัวข้อ Innovation กล่าวว่า  มีโอกาสได้เข้าไปฝึกงานในหน่วยงาน Process Innovation ที่บริษัท SCG Chemicals ซึ่งได้รับผิดชอบโปรเจกต์ในหัวข้อ “การจำลองพลศาสตร์ของไหลเชิงคำนวณสำหรับการแขวนลอยอนุภาคละเอียดในถังกวน” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยนำองค์ความรู้ที่เรียนมาเข้าไปประยุกต์และต่อยอด

“การที่ได้ฝึกงานกับภาคอุตสาหกรรมทำให้ได้เรียนรู้ประสบการณ์การทำงานจริงๆ ที่แตกต่างจากในห้องเรียน เพราะมันเป็นการรับผิดชอบโปรเจกต์ที่ผลลัพธ์นั้นมีผลกระทบต่อคนหลายคน เราจึงต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้น เพราะตอนเรียนเรารับผิดชอบแค่ตัวเอง ตั้งแต่เรียนจบมาผมยังไม่เคยสัมผัสประสบการณ์การทำงานจริงๆ เพราะจบปริญญาตรีก็เรียนต่อเลย การได้มีโอกาสมาฝึกงานกับอุตสาหกรรมจริงอย่างนี้แน่นอนว่าความรู้เราได้มากขึ้นอยู่แล้ว ประสบการณ์หน้างานจริงมันสอนอะไรมากกว่าในห้องเรียนเยอะ เอาง่ายๆ แค่เรื่องทักษะพื้นฐานเราเรียนวิศวกรรมมาตอนเรียนถ้าเครื่องมือวิจัยชำรุดเราก็แค่ตามคนมาซ่อม แต่ที่หน้างานมันฝึกให้เราต้องคิดหาสาเหตุของการชำรุดและเรียนรู้การแก้ปัญหาด้วยตัวเอง” ชนวีร์ กล่าว