เนื้อหาวันที่ : 2016-04-05 10:23:17 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1880 views

ยิ่งแข่งยิ่งแพ้? ปัญหาและทางออกของสินค้าไทยในเวทีโลก

ฉัตร คำแสง
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

หากผู้อ่านติดตามสถานการณ์การส่งออกของไทย จะพบ 2 – 3 ประเด็นหลักในช่วงนี้

ประเด็นแรกคือ การส่งออกสินค้าของประเทศไทยติดลบ 3 ปีซ้อน โดยปี 2558 ติดลบสูงถึงร้อยละ 5.8 และแม้ว่ามูลค่าการส่งออกในแต่ละปีจะต่ำลงแต่ก็ไม่มีทีท่าว่าจะฟื้นตัวกลับมาเติบโตได้เสียที

ประเด็นที่สอง โรงงานผลิตสินค้าต่างๆ เริ่มขยาย/ย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนักลงทุนชาวไทยและต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นโรงงานอาหารแปรรูป เครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ตลอดจนยานยนต์ ต่างก็สร้างฐานการผลิตในเพื่อนบ้าน

สุดท้าย ประเทศไทยเป็นประเทศขาดแคลนแรงงาน ทั้งแรงงานฝีมือและแรงงานไร้ทักษะ ทั้งในมิติคุณภาพและปริมาณ โดยเฉพาะเมื่อประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งทำให้นักลงทุนคิดหนักว่า จะลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นดีหรือไม่

ประเด็นทางเศรษฐกิจข้างต้นล้วนแต่เป็นปัจจัยที่น่ากังวลสำหรับพัฒนาการทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งตั้งแต่เกิดการลอยตัวค่าเงินบาทเมื่อปี 2540 เป็นต้นมา ประเทศไทยใช้โมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจรูปแบบเดียวมาตลอด คือ การวางตำแหน่งตัวเองให้เป็นฐานการผลิตและส่งออกสินค้า

หากลองนึกภาพตามว่าธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ในประเทศไทยมีธุรกิจใดบ้าง ก็คงหนีไม่พ้นธุรกิจยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและเกษตรแปรรูป แล้วหากถามต่อว่าธุรกิจเหล่านี้สร้างมูลค่าเพิ่มต่อประเทศไทยสูงหรือไม่ ก็คงไม่มีใครกล้าตอบเต็มปากเต็มคำ เพราะรูปแบบของธุรกิจขนาดใหญ่เหล่านี้มักเป็นการรับจ้างผลิต ซึ่งคนไทยและประเทศไทยมีส่วนแบ่งในมูลค่าเพิ่มไม่มาก

นอกจากนี้ การวิเคราะห์ข้อมูลการส่งออกในระยะหลัง บ่งชี้ว่าสินค้าที่ไทยเคยส่งออกได้สูงมักเป็นสินค้าที่เริ่มอิ่มตัวในตลาดโลก หรือไม่ก็ถูกประเทศอื่นแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดไป ในขณะที่สินค้าที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในตลาดโลก เช่น อุปกรณ์โทรคมนาคม ประเทศไทยกลับมีส่วนร่วมในห่วงโซ่มูลค่าน้อยและตามประเทศอื่นไม่ทัน

ทั้งหมดนี้หมายความว่า ประเทศไทยกำลังหมุนตามโลกไม่ทัน ประเทศไทยเก่งในการค้าสินค้าที่ความต้องการในตลาดโลกเติบโตต่ำ แต่เรากลับไม่สามารถค้าสินค้าที่โลกกำลังให้คุณค่ากับมัน ดังนั้น พัฒนาการในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาจึงช้าเกินไป กล่าวคือ ธุรกิจใหม่ ๆ ที่ตอบสนองต่อความต้องการของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ยังไม่สามารถทดแทนธุรกิจเดิมที่เป็นหัวจักรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้

ในช่วงเวลาที่ธุรกิจแบบเดิม ๆ กำลังเผชิญปัญหาขีดความสามารถในการแข่งขันลดลง รวมทั้งมีคู่แข่งเพิ่มขึ้น และสร้างมูลค่าเพิ่มน้อย ประเทศไทยจะต้องวางแผนเพื่อผ่าทางตันอย่างเร่งด่วน ก่อนที่จะกระทบต่อกำลังซื้อและความเป็นอยู่ของประชาชนจากการที่รายได้ลดลง

ทั้งนี้ หนึ่งในหนทางผ่าทางตัน ที่ถือว่าเกิดขึ้นอย่างถูกจังหวะคือ การเดินหน้ายุทธศาสตร์ผลักดันไทยเป็นชาติการค้า หลังจากเรื่องนี้นิ่งมานานเนื่องด้วยของการส่งออกเติบโตอย่างก้าวกระโดดในอดีต การเดินหน้าผ่าทางตันครั้งนี้เป็นความพยายามของผู้เกี่ยวข้องกับนโยบายการค้าของประเทศโดยตรงคือ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์

เพื่อทำความเข้าใจที่มาที่ไปของนโยบายนี้ ก่อนอื่น ต้องยอมรับว่าประเทศไทยเป็นประเทศขนาดเล็ก การที่เราพึ่งพาการบริโภคภายในประเทศเพียงอย่างเดียวจะทำให้ขาด Economies of scale ดังนั้น จึงต้องพึ่งพาการส่งออกด้วยถึงจะสามารถผลิตได้ในระดับที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งยุทธศาสตร์การเป็นชาติการค้าพยายามหาช่องทางยกระดับการค้าของประเทศไทยให้ดีขึ้น

ในการยกระดับการค้านั้น มีเรื่องจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนหลายเรื่อง ทั้งการทำธุรกิจของภาคเอกชนก็ดี กฎระเบียบของภาครัฐ ตลอดจนมาตรการส่งเสริมและระบบสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ โดยมีหัวใจหลักคือ จะต้องเข้าใจลูกค้าที่เป็นผู้บริโภคขั้นสุดท้ายและเข้าใจตลาดอย่างถ่องแท้ และเอาความต้องการของลูกค้าเป็นตัวตั้งเสมอ ไม่ใช่มองเพียงแค่ว่าเรามีดีอะไรบ้าง

การคิดถึงลูกค้าให้มากขึ้นสามารถแปลงเป็นนัยต่อการปรับกลยุทธ์ เช่น  เอกชนต้องเรียนรู้ที่จะเป็นผู้ขาย ใช้การตลาดนำการผลิต และเรียนรู้ที่จะทำช่องทางจำหน่ายสินค้ามากกว่าเน้นแต่จะพึ่งพาบริษัทต่างชาติ และผู้ผลิตสินค้าที่มีความเก่งในการผลิตอยู่แล้ว ก็อาจต้องพัฒนาสินค้า หรือทำการออกแบบสินค้าเองให้เป็นที่ยอมรับของผู้ซื้อให้ได้

ทั้งนี้ ภาครัฐก็จะต้องปรับบทบาทหน้าที่เพื่ออำนวยความสะดวกแก่เอกชน พร้อมทั้งดูแลมาตรฐานการทำธุรกิจของเอกชน โดยเฉพาะการผ่อนคลายกฎในการนำเข้าสินค้าที่ไม่มีในประเทศไทย และการกำหนดมาตรฐานสินค้าให้เท่าเทียมกันสำหรับสินค้าขายในประเทศและสินค้าที่มีการนำเข้าส่งออก เพื่อให้สินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานไม่มีช่องทางในการระบายสินค้า

การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้หมายความว่าประเทศไทยจะต้องเลิกทัศนคติการขายสินค้าแบบเน้นปริมาณดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เช่น แข่งขันกันว่าใครส่งออกข้าวได้เป็นที่ 1 ของโลก มิเช่นนั้น แม้เราจะลงแรงมากเท่าไหร่ เราก็ไม่มีทางก้าวทันหรือแซงหน้าคู่แข่งได้ หรือ เรียกได้ว่าเราจะตกอยู่ในภาวะยิ่งแข่งยิ่งแพ้  ดังนั้น เราต้องหันหลับมาดูและให้ความสำคัญกับมูลค่าเพิ่มว่าสินค้าที่ส่งออกไปนั้น สร้างคุณค่าให้แก่ผู้ซื้อได้มากขนาดไหนแล้วผู้ขายอย่างเราจะสามารถเก็บมูลค่าเพิ่มเหล่านั้นไว้ได้มากเพียงใดมากกว่า