เนื้อหาวันที่ : 2016-03-28 11:29:27 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1566 views

ก.วิทย์ จับมือประชารัฐ หนุนเศรษฐกิจประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ผลักดันหลายมาตรการเพื่อ SMEs และ Startups

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ  (สวทน.) ร่วมกันจัดงาน “CEO Innovation Forum 2016  และเปิดตัวมาตรการยกเว้นภาษี 300% สำหรับการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม” โดยมี ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธาน ภายในงานมีการเสวนาพิเศษ หัวข้อ “การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ด้วยการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม” โดย ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์  คุณวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง คุณกานต์ ตระกูลฮุน ประธานร่วมคณะทำงานร่วมประชารัฐ ด้านการยกระดับนวัตกรรมและผลิตภาพ พร้อมเปิดตัวมาตรการยกเว้นภาษี 300% ขับเคลื่อนประเทศสู่นวัตกรรม

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่ประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) และจะต้องเชี่อมโยงประสานพลังกับทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น ภาครัฐ เอกชน และประชาชน ซึ่งเป็นที่มาของคณะทำงานร่วมประชารัฐ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ปัจจุบันกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีมาตรการในหลายๆ ด้านเพื่อสนับสนุน ส่งเสริม และอำนวยความสะดวกให้กับภาคเอกชนในการลงทุนด้านการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม ซึ่งเป็นกลไกหลักในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคเอกชน โดยออกแบบให้เหมาะกับขนาดธุรกิจ ได้แก่ มาตรการยกเว้นภาษี 300% สำหรับค่าใช้จ่ายวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนประเทศสู่นวัตกรรม มาตรการลดภาษีเงินได้สำหรับผู้ประกอบการ SME ให้เหลือ 10% ในระยะเวลา 2 รอบบัญชี มาตรการยกเว้นภาษีนิติบุคคล ระยะเวลา 5 รอบบัญชีสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ในกลุ่ม New Growth Engine การจัดตั้งกองทุนส่งเสริมธุรกิจนวัตกรรมรายใหม่ จำนวน 2,000 ล้านบาท การตั้งเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแบบครบวงจร ภายใต้ความร่วมมือของสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย และภาคเอกชน โครงการคูปองนวัตกรรม เพื่อสนับสนุนกลุ่มธุรกิจ SME ให้สามารถเข้าถึงนวัตกรรม โดยมีงบประมาณสนับสนุนในรูปแบบคูปอง โครงการบัญชีนวัตกรรม

นอกจากนี้แล้วรัฐบาลยังได้สนับสนุนด้านกำลังคน ด้านการผลิต กฏหมาย และโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ตลอดจนการเชื่อมโยงสถาบันการศึกษาให้ทำงานร่วมกันกับภาคเอกชนในการสร้างนวัตกรรม และเมื่อไม่กี่วันที่ผ่าน ผมได้เดินทางไปไปประเทศเกาหลีกับรองนายกรัฐมนตรี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และทีมงานสายเศรษฐกิจ ซึ่งไปประชุมร่วมที่ประเทศเกาหลี ได้เห็นวิวัฒณาการของประเทศเกาหลี  เราต้องเปิดมิติให้กว้างขึ้นเพื่อที่จะขยับจากประเทศที่พัฒนาเบื้องต้นมาเป็นประเทศที่พัฒนาโดยมีนวัตกรรมนำทาง วันนี้ผมอยากเห็นภาคเอกชนเข้ามาลงทุนโดยยกระดับตัวเองด้วยนวัตกรรม ขณะนี้มีหลายบริษัทที่ต้องการลงทุนนวัตกรรมแต่ยังขาดกำลังคน ขาดนักวิจัย วันนี้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯคลี่คลายให้แล้วโดยการดึงอาจารย์ นักวิจัย ที่ตรงกับความต้องการของเขามาช่วยทำงานภายใต้โครงการที่เรียกว่า Talent Mobity

ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ได้ประกาศผลการสำรวจการวิจัยและพัฒนา และกิจกรรมนวัตกรรม ประเทศไทย ซึ่งเป็นข้อมูลสถิติและดัชนีชี้วัดด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ของประเทศ โดยตัวเลขการลงทุนวิจัยและพัฒนาที่ผ่านมา มีจำนวน 6.3 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 0.48% ของจีดีพี โดยมีสัดส่วนในการลงทุนภาคเอกชนต่อภาครัฐ 54 : 46 สำหรับตัวเลขการลงทุนวิจัยและพัฒนาภาคเอกชน จำนวนเงิน 3.4 หมื่นล้านบาท จากจำนวนผู้ประกอบการกว่า 5,500 ราย สถิติการลงทุนภาคเอกชนดังกล่าวเพิ่มขึ้นจากปี 2556 ถึง 29% ซึ่งเป็นทิศทางที่ดีมากที่ภาคเอกชนตื่นตัวและเห็นประโยชน์ของการพัฒนาธุรกิจด้วย วทน. สำหรับตัวเลขบุคลากรด้านวิจัยและพัฒนา มีจำนวน 84,216 คน เพิ่มมากขึ้นกว่า 20% คิดสัดส่วนบุคลากรวิจัยและพัฒนา 13 คน ต่อประชากร 10,000 คน จากสถิติดังกล่าว ชี้วัดความก้าวหน้าของมาตรการพัฒนากำลังคนด้าน วทน. ที่ กระทรวงฯ ได้ผลักดัน เช่น โครงการส่งเสริมบุคลากรด้าน วทน. ภาครัฐไปปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในภาคเอกชน (Talent Mobility) หรือโครงการพัฒนากำลังคนสะเต็มที่ยกระดับความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEM) เป็นต้น

ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวถึงมาตรการยกเว้นภาษี 300% เพื่อขับเคลื่อนประเทศสู่นวัตกรรมว่า การเปิดเสรีทางค้าทำให้ทุกประเทศเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันที่รวดเร็วและรุนแรง ประเทศไทยต้องปรับตัวจากประเทศที่ขับเคลื่อนโดยประสิทธิภาพ (efficiency-driven) มาเป็นนวัตกรรม (innovation-driven) ซึ่งภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญในการใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพและผลิตภาพการผลิต รวมทั้งการสร้างนวัตกรรมในรูปของผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตใหม่ๆ เพื่อเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ให้มีความสอดคล้องกับกลยุทธ์หลักที่จะนำพาประเทศบรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ประเทศ (Country Strategy) ที่ต้องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและหลุดพ้นจากการเป็นประเทศที่ติดกับดักประเทศรายได้ปานกลาง (Middle-income trapped country) รวมทั้งเป้าหมายปี 2559 ที่ต้องการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนวิจัยและพัฒนาเป็นร้อยละ 1 ของจีดีพี

โดยเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศพระราชกฤษฏีกาออกตามความในประมวลรัษฏากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฏากร (ฉบับที่ 598) พ.ศ. 2559 ให้เพิ่มการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรายจ่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนา เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็น 3 เท่าของรายจ่ายที่เกิดขึ้นจริง (ยกเว้นภาษี 300%) โดยกำหนดระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์เป็นเวลา 5 ปี โดยมีผลย้อนหลังตั้งแต่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 จนถึง 31 ธันวาคม พ.ศ. 2562 ทั้งนี้ มาตรการภาษีดังกล่าว มีการกำหนดวงเงินการใช้สิทธิในการหักค่าใช้จ่าย 3 เท่า หากผู้ประกอบการมีรายได้ไม่เกิน 50 ล้านบาท จะใช้สิทธิหักรายจ่ายฯ ได้ในวงเงินสูงสุดร้อยละ 60 ของรายได้ แต่หากมีรายได้เกิน 50 ล้านบาท ส่วนที่เกิน 50 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 200 ล้านบาท หักรายจ่ายฯ ได้อีกร้อยละ 9 และส่วนที่เกิน 200 ล้านบาท หักรายจ่ายฯ ได้เพิ่มเติมอีกร้อยละ 6 โดยทั้งสองกระทรวงฯ ได้ศึกษาแล้วว่า การกำหนดวงเงินอย่างเป็นขั้นบันไดนี้จะเอื้อประโยชน์ให้กับกิจการทุกขนาด และจะไม่ส่งผลให้กิจการที่ทำวิจัยมากอยู่แล้ว ลดค่าใช้จ่ายวิจัยเพราะถูกจำกัดวงเงินการหักค่าใช้จ่ายฯ มาตรการนี้กำหนดไว้ในระยะเริ่มต้น 5 ปี เพื่อศึกษาถึงผลกระทบว่ามาตรการยกเว้นภาษีจะเป็นไปในทิศทางที่รัฐบาลต้องการสนับสนุน และอาจพิจารณาขยายระยะเวลาในการให้สิทธิประโยชน์ได้อีกในอนาคต

สวทช. มีบทบาทเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากกรมสรรพากร ให้ดำเนินการตรวจสอบและรับรองโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการภาคเอกชน สำหรับการขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2545 ซึ่งผลการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา มีโครงการวิจัยฯ ได้รับการรับรองแล้ว จำนวน 2,834 โครงการ คิดเป็นมูลค่าโครงการรวม 9,886 ล้านบาท โดยประเภทอุตสาหกรรมที่ยื่นขอรับรองโครงการวิจัยฯ สูงสุด 3 อันดับแรก คือ อุตสาหกรรมเกษตร อุตสาหกรรมยาและเคมีภัณฑ์ และอุตสาหกรรมการก่อสร้างและวัสดุ ตามลำดับ ทั้งนี้จากผลการสำรวจมูลค่าผลกระทบเชิงเศรษฐกิจของโครงการวิจัยที่ได้รับรองจาก สวทช. ในช่วงปีงบประมาณ 2553 - 2558 คิดเป็นมูลค่าผลกระทบฯ รวม 16,489 ล้านบาท หรือสร้างผลกระทบฯ ได้ประมาณ 8 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับภาษีที่ได้รับยกเว้นรวม 2,082 ล้านบาท

ปัจจุบันประเทศไทยสะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงไปเยอะ ซึ่งดูได้จากประเทศที่พัฒนาแล้ว ในทุกๆประเทศที่เราไป เราไปในฐานะพันธมิตรและหุ้นส่วนทางทางเศรษฐกิจ เราต้องการดำเนินนโยบายโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระยะยาว นอกจากนี้แล้วในประเทศต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่มีเทคโนโลยีที่พัฒนาแล้ว

นอกจากนี้ สวทช. ยังมีการพัฒนาปรับปรุงกระบวนการพิจารณารับรองโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งมั่นที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการบริการและสร้างความพึงพอใจให้กับผู้ประกอบการภาคเอกชนที่สำคัญ ได้แก่ 1) การเปิดให้บริการระบบ RDC Online ยื่นขอรับรองโครงการวิจัยผ่านทางอินเทอร์เน็ต เพื่อสร้างความสะดวกรวดเร็ว มีความปลอดภัยในการจัดเก็บข้อมูล และตรวจสอบติดตามผลได้ง่าย 2) การเพิ่มช่อง ช่องทาง Fast Track ซึ่งสามารถทราบผลการรับรองโครงการภายใน 1 เดือน 3) การจัดหลักสูตรฝึกอบรมการเขียนข้อเสนอโครงการเพื่อขอการรับรองฯ ให้แก่ผู้ประกอบการ ซึ่งถือว่าเป็นการทำงานเชิงรุกเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ พร้อมทั้งผลักดันมาตรการทางภาษีที่จะเพิ่มความสามารถด้านวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีในภาคเอกชน มุ่งหวังให้เอกชนร่วมมือและให้ความสำคัญกับการทำวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

 

ที่มารูปและข่าว : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
ข่าวโดย : นางสาวชลธิชา แสงเทียนสุวรรณ
ภาพข่าว : นายไววิทย์ ยอดประสิทธิ์ , นายรัฐพล หงสไกร