เนื้อหาวันที่ : 2007-08-02 09:11:36 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2165 views

อุตฯ ออกโรงเตือนผู้ผลิตสิ่งทอปรับตัวสู้เวียดนาม หลังบาทแข็ง

กระทรวงอุตสาหกรรมวิเคราะห์ศักยภาพอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยเทียบเวียดนาม ชี้เวียดนามได้เปรียบด้านค่าจ้างแรงงานต่ำและสิทธิพิเศษทางภาษีหลังเป็นสมาชิก WTO แต่มั่นใจผู้ประกอบการไทยยังสู้ได้ หนุนเอกชนเร่งเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต พัฒนาแรงงานขั้นฝีมือ ดันยอดส่งออกเพิ่ม

กระทรวงอุตสาหกรรมวิเคราะห์ศักยภาพอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยเทียบเวียดนาม  ชี้เวียดนามได้เปรียบด้านค่าจ้างแรงงานต่ำและสิทธิพิเศษทางภาษีหลังเป็นสมาชิก WTO แต่มั่นใจผู้ประกอบการไทยยังสู้ได้ หนุนเอกชนเร่งเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต พัฒนาแรงงานขั้นฝีมือ ดันยอดส่งออกเพิ่ม

.

นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากรายงานผลการศึกษาของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เกี่ยวกับภาวะอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทยเปรียบเทียบกับประเทศเวียดนาม พบว่า ในกลุ่มสินค้าสิ่งทอไทยยังคงมีศักยภาพที่สูงกว่าเวียดนาม เนื่องจาก เวียดนามมีปัญหาในเรื่องวัตถุดิบที่จำเป็นต้องใช้ในอุตสาหกรรม ขณะที่การผลิตเครื่องนุ่งห่มซึ่งต้องใช้แรงงานเป็นหลัก เวียดนามมีข้อได้เปรียบเพราะค่าจ้างแรงงานต่ำกว่าไทย

.

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทยยังเผชิญกับข้ออุปสรรคอีกหลายด้าน โดยเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2548 ที่ผ่านมา มีการยกเลิกโควตาสิ่งทอตามข้อตกลงของประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO)ส่งผลให้ประเทศผู้นำเข้าสามารถเลือกนำเข้าจากประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันได้โดยไม่ถูกจำกัดโควตา ซึ่งประเทศผู้นำเข้าจะเลือกนำเข้าจากประเทศที่มีความพร้อมสูงสุด ไม่ว่าในเรื่องราคา คุณภาพ และบริการ ประกอบกับการที่เวียดนามได้เข้าเป็นสมาชิก WTO อย่างเป็นทางการ ส่งผลให้เวียดนามไม่ถูกจำกัดโควตาและลดอุปสรรคด้านภาษีในการส่งออกไปยังประเทศสมาชิก ทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องเผชิญกับภาวะแข่งขันที่รุนแรงในตลาดส่งออกมากขึ้น โดยเวียดนามจัดเป็นประเทศคู่แข่งทางการค้าในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่ไทยต้องจับตามอง

.

จากการที่ สศอ. มีการวิเคราะห์ถึงจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค (SWOT Analysis) ของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มระหว่างไทยเทียบกับเวียดนาม ได้สรุปผลการศึกษา ดังนี้ 1. เศรษฐกิจในภาพรวม เวียดนามมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกสูงกว่าไทย 2.การจ้างแรงงาน เวียดนามมีการจ้างงานสูงกว่าไทยและมีค่าแรงที่ต่ำกว่าไทย 3.ส่วนแบ่งตลาด ปัจจุบันไทยมีส่วนแบ่งตลาดส่งออกขยายตัวอยู่ในระดับคงที่ คือ ร้อยละ 1.46 ในปี 2005 และ 2006 ในขณะที่เวียดนามมีส่วนแบ่งในตลาดโลกเพิ่มขึ้นจาก 1.05 เป็น 1.67 ในปี 2005 และ 2006

.

4.ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเวียดนามมีอัตราการขยายตัวของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ไทยมีทิศทางลดลงหลังเปิดเสรีสิ่งทอ 5.การเปรียบเทียบแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มระหว่างไทยกับเวียดนาม พบว่าไทยมีแผนที่จะเป็นผู้นำแฟชั่นสิ่งทอในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้ โดยใช้นโยบายที่มุ่งเน้นการสร้างตลาด การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงการพัฒนาบุคลากร ในขณะที่เวียดนามมีแผนในการพัฒนาวัตถุดิบและปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมเพื่อลดการนำเข้า และก่อให้เกิดการจ้างงานในประเทศ โดยใช้นโยบายที่เน้นการลงทุนจากต่างประเทศ

.

นายจักรมณฑ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศส่วนใหญ่มาจากการส่งออก โดยสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเป็นอีกหนึ่งสินค้าส่งออกหลัก ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงต้องตระหนักถึงขีดความสามารถทางการแข่งขัน พร้อมทั้งพัฒนาศักยภาพการผลิตและพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน เพื่อให้ทันต่อการแข่งขันกับประเทศคู่แข่งที่สำคัญอย่างเวียดนาม

.

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมสิ่งทอจัดเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.44 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคอุตสาหกรรม [GDP ภาคอุตสาหกรรม] หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.12 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ [GDP รวม] (ปี 2005) โดยในปี 2006 ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมสิ่งทอสร้างรายได้ให้ประเทศจากการส่งออก 6,842 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปประมาณร้อยละ 50 ทั้งนี้เสื้อผ้าสำเร็จรูปจัดเป็นสินค้าส่งออกอันดับที่ 9 ของสินค้าส่งออกอุตสาหกรรม และเป็นอันดับที่ 11 ของการส่งออกรวม