เนื้อหาวันที่ : 2016-03-14 17:44:52 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1883 views

กระทรวงอุตฯ ร่วมกับ 4 หน่วยงาน ดันผู้ประกอบการไทยเข้าถึงแหล่งเงินทุนนอก พร้อมชูไอเดีย “Green SMEs” อัพดีกรีรายย่อยไทยในเวทีโลก

กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ผนึกกำลังกับ 3 หน่วยงานหลักด้านการวิจัยและเทคโนโลยีของไทย ดึงองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (องค์การ ยูนิโด) ดำเนินโครงการ GEF UNIDO Cleantech Programme for SMEs in Thailand เพื่อคัดเลือก SMEs กลุ่ม Start-up เข้าร่วมฝึกอบรมและนำเสนอผลงาน ผ่านการประกวดนวัตกรรมเทคโนโลยีสะอาด ชิงเงินทุนพัฒนากิจการกว่า 60,000 เหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 2,100,000 บาท และมีโอกาสเจรจาธุรกิจร่วมลงทุนด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีสะอาดในงาน Cleantech Open เมืองซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา

ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากนโยบายของรัฐบาลในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมบนพื้นฐานของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะหน่วยงานหลักที่สนับสนุนให้สถานประกอบการรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่อุปทาน จึงจำเป็นต้องผลักดันให้ผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมดำเนินกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อรองรับการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Town) แต่ส่วนใหญ่ธุรกิจที่สามารถดำเนินการได้จะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมเท่านั้น ส่วนผู้ประกอบการ SMEs มักประสบปัญหาไม่มีงบประมาณมากพอในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นของตนเอง ดังนั้น จึงเกิดเป็นความร่วมมือระหว่าง 5 หน่วยงาน ในการดำเนินโครงการนวัตกรรมเทคโนโลยีสะอาด (GEF UNIDO Cleantech Programme for SMEs in Thailand) โดยกระทรวงอุตสาหกรรม มอบหมายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ดำเนินโครงการฯ ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (องค์การ UNIDO)

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่เร่งให้เกิดการพัฒนาของผู้ประกอบการ SMEs ใหม่ ๆ และกลุ่ม Start-up ให้หันมาสนใจการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และส่งเสริมการลงทุนเทคโนโลยีสะอาดภายในประเทศ โดยได้รับเงินสนับสนุนในการดำเนินโครงการฯ จากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (Global Environment Facility: GEF) กว่า 2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อดำเนินโครงการภายในระยะเวลา 3 ปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับอุตสาหกรรมที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ลดปัญหาข้อเรียกร้องจากการประกอบการของโรงงานอุตสาหกรรม ลดการใช้ทรัพยากรและพลังงาน สร้างอาชีพและกระจายรายได้ให้แก่ชุมชน รวมทั้งเสริมสร้างคุณภาพชีวิตให้แก่สังคมไทย  ทั้งนี้ คาดว่าโครงการนี้จะมีส่วนช่วยผลักดันให้ SMEs ไทย เข้าถึงความเป็นนวัตกรรมและเข้าสู่ตลาดของเทคโนโลยีสะอาด และสามารถยกระดับอุตสาหกรรมไทยไปสู่ตลาดสากลได้ 

ด้าน ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผยว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีหน้าที่สำคัญในการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสะอาดของไทย รวมทั้งสร้างนวัตกรรมจากฐานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งจะส่งผลกระทบเชิงบวกต่อสภาพเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนในประเทศ โดยการร่วมมือกันครั้งนี้ กระทรวงฯได้มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในการฝึกอบรมให้แก่ผู้ประกอบการและบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถทั้งทางด้านเทคโนโลยีสะอาด และการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้บุคลากรเหล่านี้มาเป็นพี่เลี้ยง (Mentors) ให้แก่ผู้ประกอบการ ซึ่งถือเป็นการดูแลและถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการอย่างครบวงจร ตามรูปแบบการบ่มเพาะ (Incubation) และเร่งรัดธุรกิจ (Acceleration) ที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศ และในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) รับผิดชอบในด้านการศึกษาวิจัยนโยบายภาครัฐ ใน 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ แปลงของเสียเป็นพลังงาน และพลังงานหมุนเวียน โดยกระทรวงฯ เล็งเห็นว่า เทคโนโลยีสะอาดเหล่านี้สามารถนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประชาคมโลกในอนาคต ดังนั้น การสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีสะอาดให้แก่ผู้ประกอบการไทยจึงเป็นโอกาสอันดีที่จะช่วยส่งเสริมผู้ประกอบการไทยในเวทีโลก ไปพร้อม ๆ กับการส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ด้าน นายเอ็ดวาร์ด คลาเร็นซ์ สมิท ผู้อำนวยการสำนักงานส่วนภูมิภาคองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิโด้ (UNIDO) กล่าวว่า การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรที่ปัจจุบันสูงถึง 9,000 ล้านคน การขยายตัวของเมือง และการเจริญเติบโตของโลกาภิวัตน์อย่างต่อเนื่อง นำไปสู่ภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ด้วยเหตุนี้ประชากรโลกจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานสะอาดมให้มากยิ่งขึ้น จึงเป็นที่มาของพันธกิจหลักของยูนิโด้ ในการสร้างความยั่งยืนทางพลังงานและเทคโนโลยีสะอาด เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมแบบครบวงจรอย่างยั่งยืน  ทั้งนี้ ยูนิโด้ เห็นศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs ไทย ในการคิดค้นหรือสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ โดยเฉพาะนวัตกรรมและเทคโนโลยีสะอาด จึงได้ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานฝ่ายไทยในการลงนามความร่วมมือ ซึ่งถือเป็นคำมั่นสัญญาที่จะสร้างสรรค์ให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีสะอาดของ SMEs ในประเทศ โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการ 3 ปี และมีเป้าหมายเพื่อสร้างระบบนิเวศน์แห่งนวัตกรรม (Innvation Eco System) มีกิจกรรมหลัก ๆ อาทิ การจัดประกวดนวัตกรรม จัดประชุมทางธุรกิจพบปะนักลงทุน ฝึกอบรม Business Clinic กิจกรรม Mock Judging การนำเสนอแผนธุรกิจ และการสร้างเครือข่ายกับองค์กร ต่าง ๆ ในระดับโลก โดยในปีแรกได้มอบเงินทุนสนับสนุนโครงการกว่า 14 ล้านบาท หรือประมาณ 4 แสนเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ โครงการนี้จะเป็นสิ่งที่ยืนยันว่าประเทศไทยได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการระดับโลก รวมถึงการมีศูนย์ส่งเสริมนวัตกรรมเทคโนโลยีสะอาดที่พร้อมจะส่งเสริมและพัฒนารูปแบบทางธุรกิจต่าง ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีสะอาดสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ไทยต่อไปในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้านี้

ดร.สมชาย หาญหิรัญ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า โครงการนวัตกรรมเทคโนโลยีสะอาด (GEF UNIDO Cleantech Programme for SMEs in Thailand)  เป็นการกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาต่อยอดธุรกิจนวัตกรรมเทคโนโลยีสะอาดสู่เชิงพาณิชย์ และผลักดันให้เกิดกิจกรรมวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านเทคโนโลยีสะอาด เพื่อขยายขีดความสามารถงานนวัตกรรมของประเทศ รองรับตลาดโลกใน 4 สาขา ได้แก่ การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ (Energy Efficiency) การใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ (Water Efficiency) การแปลงของเสียเป็นพลังงาน (Waste to Energy) และพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) โดยจะดำเนินการคัดเลือกผู้ประกอบการ SMEs ในกลุ่ม Start-up หรือผู้สนใจด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีสะอาด จาก 5 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น ชลบุรี และสงขลา โดยจะคัดเลือก SMEs ให้เหลือ จำนวน 25 กิจการต่อปี หรือ 75 กิจการตลอดระยะเวลา 3 ปี โดยมีพี่เลี้ยง (Mentors) ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการบ่มเพาะธุรกิจนวัตกรรมเทคโนโลยีสะอาดเป็นผู้ให้ความรู้ เพื่อส่งเสริมให้ SMEs ไทย คิดค้นนวัตกรรมเทคโนโลยีสะอาดให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนต่างประเทศ เช่น กองทุนร่วมลงทุน (เวนเจอร์แคปปิตอล) และแองเจิ้ล เน็ตเวิร์ก ฯลฯ

ทั้งนี้ กสอ. จะทำหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินงานโครงการในภาพรวม และจัดประกวดนวัตกรรมเทคโนโลยีสะอาดเพื่อคัดผู้ประกอบการที่มีผลงานโดดเด่นให้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนจากต่างประเทศจากจำนวน  25 ราย เหลือเพียง จำนวน 4 ราย โดยมีเงินทุนเป็นรางวัลรวมกว่า 60,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อปีหรือกว่า 2,100,000 บาท และมีโอกาสเจรจาธุรกิจร่วมลงทุน ด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีสะอาดในงาน Cleantech Open เมืองซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าว คาดว่าจะเป็นกลไกในการส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ผู้ริเริ่มธุรกิจ (Start-up) นักวิจัย และผู้สนใจให้สามารถใช้เทคโนโลยีสะอาดอย่างมีประสิทธิภาพ มีเงินลงทุนในการต่อยอดนวัตกรรมและเทคโนโลยีของตนเอง นอกจากนี้ยังเป็นการผลักดันให้เกิดกิจกรรมวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านเทคโนโลยีสะอาด เพื่อขยายขีดความสามารถงานนวัตกรรมของประเทศรองรับตลาดโลก ตลอดจนเกิดองค์ความรู้ในการดำเนินการต่าง ๆ ซึ่งจะถ่ายทอดไปสู่หน่วยงานร่วมดำเนินการ เพื่อให้ขยายแนวคิดและขอบข่ายการดำเนินงานให้กว้างยิ่งขึ้นในอนาคต ดร.สมชาย กล่าวทิ้งท้าย