เนื้อหาวันที่ : 2016-03-02 13:42:23 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1776 views

มจธ.พัฒนาโปรแกรมแท็บเล็ตใหม่ เพื่อใช้ในวงการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ

มจธ.พัฒนาโปรแกรมแท็บเล็ตใหม่ เพื่อใช้ในวงการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมระหว่างผู้สอนและผู้เรียน แก้ปัญหาเด็กไม่สนใจเรียน คาดนำไปขยายผลกับกลุ่มธุรกิจการประชุมคอนเฟอเรนซ์ได้

การนำเสนอ (Presentation) ทั้งในส่วนที่เป็นการประชุมสัมมนา รวมถึงการเรียนการสอนในชั้นเรียน ส่วนใหญ่มีการใช้งานผ่านทางคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ หรือคอมพิวเตอร์แบบโน๊ตบุ๊ค แต่ปัจจุบันแท็บเล็ตคอมพิวเตอร์เป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย และได้เข้ามามีบทบาทในการใช้งานมากขึ้น ด้วยลักษณะเฉพาะตัวที่มีขนาดเล็กและสะดวกแก่การพกพา มีระบบสัมผัสบนหน้าจอที่ช่วยในการควบคุมการทำงานได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังมีแนวโน้มว่าการศึกษาที่มีการอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนการสอนจะมีความแพร่หลายมากขึ้น ล่าสุดนักวิจัยทางด้านวิศวกรรมซอฟต์แวร์และเทคโนโลยีสารสนเทศของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้คิดค้น ระบบจัดการที่เข้ามาเอื้ออำนวยให้การนำเสนอมีความสะดวก สบาย ใช้งานง่าย แก้ไขปัญหาการนำเสนอได้อย่างตรงจุดและเข้าถึงได้กว้างขวางมากขึ้น

ผศ.ดร.พรชัย มงคลนาม คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มจธ. หนึ่งในทีมวิจัยที่ประกอบด้วย ดร. วิชัย เอี่ยมสินวัฒนา และ น.ส.ปริศฎางค์ สุตา เปิดเผยว่าระบบที่คิดค้นขึ้นมีชื่อว่า “ระบบการนำเสนอผ่านทางแท็บเล็ตคอมพิวเตอร์ที่มีการควบคุมและทำงานร่วมกัน (Controlled and Collaborative Presentation via Tablet Computers)” ที่สามารถตอบโจทย์พื้นที่การนำเสนอได้ทั้งฝ่ายผู้รับสารและผู้นำเสนอ โดยในส่วนของผู้รับสามารถติดตามหน้าจอของผู้นำเสนอได้ผ่านแท็บเล็ตหรือสมาร์ทโฟนที่ผ่านการล็อกอินด้วยรหัสผ่านเดียวกัน สามารถเลือกโหมดติดตามผู้นำเสนอ (Synchronous) หรือออกจากโหมดเพื่อบันทึกข้อความลงบนหน้าจอของตนเอง หรือจะแชร์ให้กับผู้ใช้งานกลุ่มเดียวกัน หรือจะส่งไปยังผู้นำเสนอในกรณีที่นักศึกษาส่งผลงานให้อาจารย์ก็ทำได้ ในส่วนนี้สามารถแก้ไขปัญหาที่มีผู้ฟังการนำเสนอมากกว่า 1 ห้อง หรือมีผู้เรียนจำนวนมาก ทุกคนไม่สามารถเห็นการนำเสนอผ่านจอโปรเจคเตอร์ได้อย่างชัดเจน รวมถึงผู้มีข้อจำกัดทางด้านสายตา

“ตรงจุดนี้เราสามารถแก้ไขปัญหาผู้ฟังไม่สนใจหรือไม่มีสมาธิในการฟังบรรยาย รวมถึงผู้ที่มองสกรีนของโปรเจคเตอร์ไม่ชัดเจน และปัญหาผู้ฟังมักสนใจอยู่แต่กับแท็บเล็ตหรือสมาร์ทโฟนของตัวเอง ดังนั้นเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาจึงอาศัยช่องทางนี้ใช้สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตในมือให้เป็นประโยชน์ อีกทั้งยังสามารถทำให้ผู้ฝังติดตามผู้นำเสนอได้อย่างใกล้ชิดและสะดวกอีกด้วย”

ในส่วนของผู้นำเสนอ หรือครูผู้สอน สามารถจัดการการนำเสนอได้อย่างไร้ขีดจำกัดด้านพื้นที่ โดยไม่ต้องอาศัยระบบอินเตอร์เน็ตเพียงแต่มีเซิร์ฟเวอร์ตัวเล็กๆ ติดตั้งบนคอมพิวเตอร์แบบโน๊ตบุ๊ค ซึ่งเป็นระบบซอฟแวร์เน็ตเวิร์กที่เก็บข้อมูลไฟล์งานที่ต้องการนำเสนอและข้อมูลที่เขียนบันทึกโน้ต (Annotation) ดังนั้นแม้อยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัดที่ไม่มีระบบอินเตอร์เน็ตก็สามารถทำงานผ่านระบบนี้ได้ เพียงแต่มี Wi-Fi ที่แชร์จากเร้าเตอร์ (ซึ่งทำหน้าที่เป็น Access Point) ก็สามารถตั้งเป็นโลคอลเน็ตเวิร์ค (Local Network) ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาระบบอินเตอร์เน็ต

“เราใช้ซอฟแวร์ที่เป็นโอเพ่นซอส อย่างพีดีเอฟไฟล์ ที่คนใช้กันอยู่แพร่หลายอยู่แล้วที่มีเอพีไอ (API) ให้แก้ไขและเรียกใช้ สามารถแก้ไข หรือบันทึกโน้ตข้อความลงไปได้ ไม่ยุ่งยากในการใช้ เวลานำเสนอเพียงสร้างห้องเสมือนจริงขึ้นมาก่อน หากมีหลายห้องสามารถกำหนดพาสเวิร์ด 4 หลักเพื่อควบคุมสิทธิการเข้ามาดู หรือกรณีที่เป็นชั้นเรียน สามารถแบ่งนักเรียนเป็นกลุ่มเรียนย่อยๆ ให้ทำงานร่วมกันได้ เวลาที่ผู้นำเสนอโน้ต ไฮไลท์ข้อความทุกคนจะเห็นตามนั้นอย่างชัดเจนบนหน้าจอของตัวเอง หากเป็นนักศึกษาอาจารย์สามารถสั่งงานให้กลับไปแชร์ไอเดียแล้วกดส่งกลับมาที่อาจารย์ได้ โดยที่อาจารย์ก็สามารถแชร์ตัวอย่างดีๆ กลับไปยังนักศึกษาคนอื่นๆ ได้”

ผู้วิจัยระบุว่าระบบดังกล่าวนอกจากจะเหมาะกับการเรียนการสอนในชั้นเรียนแล้วยังสามารถใช้ได้กับการประชุมคอนเฟอเรนซ์ที่มีผู้มาร่วมประชุมสัมมนาโดยใช้หลักการเดียวกันทุกอย่าง อีกทั้งยังเหมาะกับผู้ที่ต้องการแชร์ไอเดีย ระดมสมองเพื่อการเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน อย่างไรก็ตามระบบนี้กำลังจะถูกพัฒนาต่อเนื่องให้มีโหมดที่เอื้ออำนวยต่างๆ เพิ่มขึ้น โดยระบบนี้จะแตกต่างจากระบบล็อคหน้าจอเพื่อไม่ให้ผู้เรียนใช้เว็บไซต์บางเว็บหรือเฟสบุคส่วนตัวขณะเรียน แต่ระบบนี้สามารถแก้ไขข้อจำกัดได้มากขึ้นทั้งเรื่องการใช้พาวเวอร์ที่สูง ฝั่งผู้เรียนไม่สามารถโน๊ตข้อความลงไปได้  สามารถติดตามการนำเสนอไปได้ตลอดเวลา แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถออกจากโหมดเพื่อทำงานบางอย่างบนสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตได้เช่นกัน อนึ่ง ระบบนำเสนอผ่านแท็บเล็ตคอมพิวเตอร์ที่มีการควบคุมและทำงานร่วมกันนี้ได้รับรางวัลดีเด่น ด้าน Business ประเภทนักเรียน นิสิต นักศึกษา รางวัลเจ้าฟ้าไอที รัตนราชสุดา สารสนเทศ ครั้งที่ 10 ของมูลนิธิวิจัยเทคโนโลยีสารสนเทศ เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2558 และได้รับการจดอนุสิทธิบัตรไทย เลขที่ 10476