เนื้อหาวันที่ : 2007-08-01 10:05:58 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2789 views

มาตรฐานสินค้าแป้งมันสำปะหลัง สร้างความมั่นใจในตลาดโลก

การกำกับดูแลคุณภาพมาตรฐานอย่างเข้มงวด ทำให้ปัจจุบันแป้งมันสำปะหลังของไทยที่ส่งออกเป็นสินค้าที่ดีมีคุณภาพได้มาตรฐาน เป็นที่ต้องการของผู้ซื้อ สร้างความเชื่อมั่นในสินค้าไทย

มันสำปะหลังเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ทนทานต่อความแห้งแล้ง ปลูกง่าย โตเร็ว มีความต้านทานต่อโรคสูง เกี่ยวข้องกับเกษตรกรชาวไร่และผู้เกี่ยวข้องไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคนทั่วประเทศ โดยไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกมันสำปะหลัง (มันอัดเม็ดและมันเส้น) เป็นอันดับ 1 ของโลก มีตลาดหลักคือ สหภาพยุโรปและจีน แต่อย่างไรก็ตามในเชิงการตลาดถือว่ามีความเสี่ยงสูง เนื่องจากเป็นการพึ่งพาตลาดหลักเพียงไม่กี่ประเทศ เพราะเป็นการส่งออกในรูปของโภคภัณฑ์ (commodity) มูลค่าต่ำ ราคาขายต่ำ ขาดอำนาจในการต่อรอง ไม่มีมูลค่าเพิ่ม ตลาดแคบ กอปรกับแนวคิดการบริหารจัดการสมัยใหม่ที่เน้นเรื่องการสร้างคุณค่า (value) และห่วงโซ่คุณค่า (value chain)

.

มันสำปะหลังไทยจึงมีการแปรรูปและส่งออกในรูปของแป้งมันสำปะหลังมากขึ้น ทำให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และการจ้างงานเพิ่มขึ้น สินค้าส่งออกมีความหลากหลายยิ่งขึ้น ราคา/มูลค่าสูงขึ้น โดยแป้งมันสำปะหลังนี้นำไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ มากมาย ทั้ง food และ non-food เช่น สารให้ความหวาน ผงชูรส อุตสาหกรรมสิ่งทอ กาว กระดาษ ฯลฯ ปัจจุบันไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกแป้งมันฯ รายใหญ่ที่สุดของโลกเช่นกัน ตลาดหลักที่สำคัญได้แก่ ญี่ปุ่น ไต้หวัน จีน อินโดนีเซีย สหรัฐอเมริกา เป็นต้น

.

อย่างไรก็ตาม ในการส่งออกแป้งมันสำปะหลังที่ผ่านมามักประสบปัญหาตัดราคากันเองระหว่างผู้ส่งออก การส่งสินค้าที่มีคุณภาพต่ำออกนอกประเทศหรือผิดเงื่อนไขความต้องการของผู้ซื้อ ทำให้เกิดปัญหาการร้องเรียนด้านคุณภาพจากประเทศผู้นำเข้าตลอดมา ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์ จึงได้กำหนด ให้แป้งมันสำปะหลังเป็นสินค้ามาตรฐาน โดยประเภทสตาร์ชมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 มกราคม 2547 และประเภทโมดิไฟด์สตาร์ช มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2548 เป็นต้นมา รวมทั้งได้มีมาตรการกำกับดูแลคุณภาพมาตรฐานอย่างเข้มงวด ทำให้ปัจจุบันแป้งมันสำปะหลังของไทยที่ส่งออกเป็นสินค้าที่ดีมีคุณภาพได้มาตรฐาน เป็นที่ต้องการของผู้ซื้อ สร้างความเชื่อมั่นในสินค้าไทย สร้างภาพลักษณ์ที่ดีแก่แป้งมันสำปะหลังไทย อันจะส่งผลดีต่อการส่งออกของไทยในที่สุด

.

การกำกับดูแล : นับตั้งแต่ปี 2547 (17 กรกฎาคม 2547) จนถึงปัจจุบัน ได้มีการเก็บตัวอย่างแป้งมันฯ เพื่อตรวจวิเคราะห์ออกใบรับรองมาตรฐานสินค้าแล้วจำนวนทั้งสิ้น 542 ตัวอย่าง พบสินค้ามีคุณภาพที่ไม่ได้มาตรฐาน 76 ตัวอย่าง หรือคิดเป็นร้อยละ 14 ปี 2548 ตรวจพบสินค้ามีคุณภาพไม่ได้มาตรฐานมากที่สุดจำนวน 40 ตัวอย่าง จากจำนวนตัวอย่างทั้งสิ้น 204 ตัวอย่าง หรือคิดเป็นร้อยละ 19.6 สำหรับปี 2550 (ม.ค. มี.ค.) ตรวจพบสินค้าที่ผิดมาตรฐาน จำนวน 8 ตัวอย่างจากจำนวน 62 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 19 สำหรับสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน สำนักงานมาตรฐานสินค้าได้ดำเนินการระงับการออกใบรับรองฯ และแจ้งให้ผู้ประกอบการทำการปรับปรุงสินค้าดังกล่าว

.

จะเห็นได้ว่า นับตั้งแต่มีการกำหนดมาตรฐานสินค้าแป้งมันสำปะหลัง ทำให้มูลค่าการส่งออกสูงขึ้น ซึ่งก่อนหน้าที่จะถูกกำหนดเป็นสินค้ามาตรฐาน ราคาส่งออกแป้งมันฯ ประเภทสตาร์ช เฉลี่ยตันละประมาณ 6,900 บาท และประเภทโมดิไฟด์สตาร์ช เฉลี่ยประมาณ 17,000 บาท แต่หลังจากถูกกำหนดให้เป็นสินค้ามาตรฐานแล้ว ราคาแป้งมันฯ ประเภทสตาร์ชและโมดิไฟด์สตาร์ช เฉลี่ยตันละประมาณ 8,500 บาท และ 20,000 บาท ตามลำดับ นอกจากนี้ทำให้ราคาหัวมันสดขยับสูงขึ้น โดยราคาหัวมันสด (คละ) ณ ลานมันเฉลี่ยกิโลกรัมละ 1.41 บาท หัวมันสดเชื้อแป้ง 25% ณ โรงแป้งมันเฉลี่ยกิโลกรัมละ 1.50 บาท ซึ่งส่งผลดีทำให้เกษตรกรสามารถขายหัวมันสดได้ในราคาที่สูงขึ้น เป็นที่น่าพึงพอใจอย่างยิ่ง

.

สำหรับการสงออกสินค้ามาตรฐานแป้งมันสำปะหลังในช่วงครึ่งปีแรก (มกราคม-มิถุนายน 2550) ปรากฏว่ามีผู้ส่งออกแป้งมันฯ 106 ราย จากจำนวนทั้งหมดที่จดทะเบียนไว้กับสำนักงานมาตรฐานสินค้า 137 ราย โดยแป้งมันฯประเภทสตาร์ชส่งออก 660,482 ตัน มูลค่า 5,577 ล้านบาท เฉลี่ยตันละ 8,443 บาท ประเภทโมดิไฟด์สตาร์ช 258,847 ตัน มูลค่า 4,380 ล้านบาท ราคาเฉลี่ยตันละ 16,920 บาท

.

สำนักงานมาตรฐานสินค้า กระทรวงพาณิชย์ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) นี้ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร ลานมัน โรงงานผู้ผลิต ผู้ส่งออก เซอร์เวย์เยอร์ มีความตระหนัก (awareness) ต้องมีความรับผิดชอบ (CSR : Corporate Social Responsibility) และร่วมมือกันรักษาคุณภาพมาตรฐานสินค้าแป้งมันสำปะหลังให้มีคุณภาพได้มาตรฐานส่งออกตามที่กฎหมายกำหนด สอดคล้องกับความต้องการของตลาดต่างประเทศ อันจะส่งผลดีต่อการยกระดับราคาสินค้าเกษตรส่งออกและราคาขายภายในประเทศให้สูงขึ้น ซึ่งจะก่อประโยชน์ให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะเกษตรกรชาวไร่มันในที่สุด