เนื้อหาวันที่ : 2016-02-16 13:19:50 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1465 views

สศอ. เร่งทำ Technology Roadmapping รับมือสังคมผู้สูงอายุ

สศอ.เตรียมจัดทำ Technology Roadmapping กำหนดทิศทางพัฒนาผลิตภัณฑ์ผู้สูงอายุของไทยในเชิงพาณิชย์ หลังพบ อุปกรณ์อำนวยความสะดวกภายในบ้านสำหรับผู้สูงอายุ, อุปกรณ์ที่ช่วยฟื้นฟูร่างกาย, หุ่นยนต์บริการ, ระบบ Tele-health และ ระบบ Tele-medicine มีความต้องการมากในอนาคต

สศอ.เตรียมจัดทำ Technology Roadmapping กำหนดทิศทางพัฒนาผลิตภัณฑ์ผู้สูงอายุของไทยในเชิงพาณิชย์ หลังพบ อุปกรณ์อำนวยความสะดวกภายในบ้านสำหรับผู้สูงอายุ, อุปกรณ์ที่ช่วยฟื้นฟูร่างกาย, หุ่นยนต์บริการ, ระบบ Tele-health และ ระบบ Tele-medicine มีความต้องการมากในอนาคต

นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)  เปิดเผยว่า ในวันที่ 19 ก.พ.2559  สศอ.จะประชุมผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานต่างๆ ประกอบด้วย สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, กระทรวงสาธารณสุข และผู้ประกอบภาคเอกชน เพื่อจัดทำ Technology Roadmapping กำหนดทิศทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผู้สูงอายุของไทยและนำเสนอมาตรการที่เหมาะสมสำหรับกระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมอุปกรณ์การแพทย์ในประเทศไทยให้เกิดขึ้นรองรับการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุต่อไปในอนาคต

โดยเมื่อเร็วๆนี้ สศอ.ได้ดำเนินการศึกษาโอกาสการพัฒนาอุปกรณ์การแพทย์เพื่อตอบสนองสังคมผู้สูงอายุร่วมกับสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ พบว่า กลุ่มผลิตภัณฑ์ผู้สูงอายุที่มีศักยภาพในอนาคต ประกอบด้วย อุปกรณ์อำนวยความสะดวกภายในบ้านสำหรับผู้สูงอายุ อาทิ ไม้เท้า เครื่องช่วยเดิน  ลิฟท์ขึ้นบันได เป็นต้น ,อุปกรณ์ที่ช่วยฟื้นฟูร่างกาย อาทิ เครื่องออกกำลังกายเพื่อฟื้นฟูกล้ามเนื้อ หรือของเล่นต่างๆ เพื่อช่วยการเคลื่อนไหวร่างกาย

รวมทั้งหุ่นยนต์บริการ เพื่อให้ความเพลิดเพลินกับผู้สูงอายุ สามารถเล่านิทาน คอยเตือนเมื่อถึงเวลาทานอาหาร ทานยา หรือมีหน้าจอเพื่อติดต่อพูดคุยกับลูกหลานได้โดยอาจมีการสั่งงานด้วยเสียง เป็นต้น,ระบบ Tele-health สำหรับลูกหลานติดตามการใช้ชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุ มีระบบแจ้งเตือนผ่านมือถือ กรณีผู้สูงอายุประสบอุบัติเหตุ หรือขอความช่วยเหลือ และ ระบบ Tele-medicine เป็นการติดต่อระหว่างผู้สูงอายุกับแพทย์ เพื่อลดค่าใช้จ่ายและเวลาในการเดินทางไปรอแพทย์ที่โรงพยาบาล ซึ่งอุปกรณ์ทั้งหลายเหล่านี้มีความต้องการเป็นจำนวนมาก ขณะที่ปัจจุบันประเทศไทยยังมีการวิจัยพัฒนาและการผลิตในเชิงพาณิชย์ไม่มากนัก

ส่วนอุปสรรคปัญหาที่พบและต้องเร่งแก้ไข ได้แก่ 1.เรื่องกฎระเบียบของภาครัฐ เช่น การอำนวยความสะดวกในการขึ้นทะเบียน การแก้ไขอัตราภาษีนำเข้าที่เหลื่อมล้ำระหว่างวัตถุดิบกับผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป เป็นต้น 2.เรื่องมาตรฐาน โดยจำเป็นต้องเร่งออกมาตรฐานในประเทศ เพื่อป้องกันสินค้าคุณภาพต่ำจากต่างประเทศ  3.ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเพื่อต่อยอดงานวิจัยจากสถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานวิจัยมาสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตามญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เผชิญกับสถานการณ์ผู้สูงอายุรุนแรงที่สุดในปัจจุบัน โดยมีอัตราส่วนผู้สูงอายุร้อยละ21.1 ประเทศฟินแลนด์ ร้อยละ 19.8 ประเทศออสเตรีย 19.2 ประเทศเบลเยี่ยมร้อยละ 19.0 ประเทศฝรั่งเศสร้อยละ18.3 ขณะที่ประเทศไทยมีประชากรประมาณ 70 ล้านคน มีอัตราส่วนผู้สูงอายุร้อยละ9.5 สูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน ที่แม้สถานการณ์จะยังไม่รุนแรงเท่าประเทศญี่ปุ่นและประเทศในยุโรปเนื่องจากมีระบบประกันสุขภาพที่ดี แต่คาดว่าประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอีก 10-15 ปีข้างหน้านี้