เนื้อหาวันที่ : 2007-07-27 09:05:19 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2014 views

สกว. เร่งผลิตนักวิจัย ป.เอกเสริมเขี้ยวเล็บภาคอุตสาหกรรม

สกว. และสสว. เดินหน้าหนุนภาคอุตสาหกรรมไทยให้ทุนวิจัยกว่า 300 ล้านบาท เอกชนหันทำวิจัยกับมหาวิทยาลัยมากขึ้น สร้างความรู้และเทคโนโลยีของตัวเองทำให้ธุรกิจเติบโต ไม่ใช่แค่ "อยู่ได้"

สกว. และสสว. เดินหน้าหนุนภาคอุตสาหกรรมไทยเต็มที่ ประกาศให้ทุนวิจัยกว่า 300 ล้านบาท เอกชนรายใหญ่เห็นด้วยเดินถูกทาง บริษัทใหญ่หันมาทำวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยกันมากขึ้น เชื่อมั่นการสร้างความรู้และเทคโนโลยีของตัวเองจะทำให้ธุรกิจเติบโต ไม่ใช่แค่ "อยู่ได้"

.

เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 50 โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้จัดสัมมนาเชิงวิชาการเรื่อง บทบาทของบัณฑิตศึกษาในการสร้างความเข้มแข็งของการวิจัยในภาคอุตสาหกรรมเพื่อระดมความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องเกี่ยวกับแนวทางและมาตรการที่จะทำให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างบัณฑิตศึกษาและภาคอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมได้ประโยชน์จากการวิจัยระดับบัณฑิตศึกษามากยิ่งขึ้น

.

นาย ปิยะบุตร ชลวิจารณ์ รมช. กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การที่สกว. มีแนวคิดในการเชื่อมโยงการวิจัยกับภาคอุตสาหกรรมเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่การดำเนินงานต่อไปคงต้องอาศัยภาคอุตสาหกรรม เพราะเสียงของภาคเอกชนมีความสำคัญมาก เห็นได้จากมาตรการแก้ไขเรื่องค่าเงินบาทล้วนเป็นมาตรการที่เอกชนเสนอขึ้นไป นับเป็นมิติใหม่ในการทำงานที่ภาครัฐและเอกชนใกล้ชิดกันมากขึ้น

.

ศ.ดร. ปิยะวัติ บุญ-หลง ผู้อำนวยการ สกว. กล่าวว่า ปัจจุบัน ประเทศอุตสาหกรรมใช้การวิจัยระดับบัณฑิตศึกษาเป็นกลไกสร้างความเข้มแข็งแก่ภาคการผลิตและภาคธุรกิจ และเพิ่มความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศ " สกว. เล็งเห็นถึงความสำคัญของกลไกดังกล่าวเช่นกัน ในปีงบประมาณ 2550 นี้ สกว. ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จึงให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษาระดับปริญญาตรี 850 ทุน ระดับปริญญาโท 240 ทุน และระดับปริญญาเอกและหลังปริญญาเอกอีก 60 ทุน โดยกำหนดเงื่อนไขการรับทุนว่า ต้องทำวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาภาคเอกชน ทั้งนี้ สสว. ได้จัดสรรงบประมาณให้เพื่อการนี้ 237 ล้านบาท และสกว. ร่วมสมทบอีก 100 ล้านบาท"

.

ดร. นักสิทธ์ คูวัฒนาชัย ผู้อำนวยการ คปก. กล่าวว่า คปก. จะเพิ่มจำนวนบัณฑิตปริญญาเอกในสาขาที่ไทยมีความเข้มแข็งอยู่แล้วให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น เช่น วิทยาศาสตร์การแพทย์ หรือวิทยาศาสตร์อาหาร เพื่อดึงดูดต่างชาติให้เข้ามาทำงานวิจัยในไทยมากขึ้น ขณะเดียวกันก็จะพัฒนาสาขาที่เรายังอ่อนแอให้เข้มแข็งขึ้น และจะปรับโครงการให้รับกับสถานการณ์ของภาคอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงที่ดี

.

ดร. กนกรส ผลากรกุล ผู้อำนวยการศูนย์กลางทรัพย์สินทางปัญญา บริษัท ปูนซีเมนต์ไทยอุตสาหกรรม จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจหลักทั้ง 5 ธุรกิจของบริษัทฯ มีแผนกวิจัยและพัฒนาเป็นของตนเอง โดยตั้งอยู่ใกล้กับฝ่ายผลิต เพื่อรับโจทย์จากฝ่ายผลิตโดยตรง ขณะนี้บริษัทฯ มีนักวิจัยระดับปริญญาเอกอยู่ 20 คน ภายใน 6 เดือนนี้จะสรรหาเพิ่มอีก 100 คน กับนักวิจัยปริญญาโทอีก 150 - 200 คน ใน 5 ปีข้างหน้าบุคลากรทีม R&D จะเพิ่มขึ้นเป็น 400 คน เราวางกลยุทธ์ที่จะมุ่งลงทุนในต่างประเทศ และเชื่อว่า การจะทำอย่างนั้นได้ เราจะต้องมีฐานความรู้ด้านเทคโนโลยี (technology platform) เป็นของตนเองดร. กนกรส กล่าว

.

ดร. กนกรสกล่าวว่า ขณะนี้บริษัทฯ มีโครงการวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยหลายแห่ง แต่นักวิจัยในมหาวิทยาลัยกับธุรกิจมักมีธรรมชาติที่ต่างกันหลายอย่าง เช่น นักวิจัยค้นคว้าในเชิงลึก และยืดหยุ่นเรื่องเวลา แต่นักธุรกิจจะต้องการเห็นผลเร็ว และมีกำหนดเวลาการทำงานที่ชัดเจน เป็นต้น ซึ่งถ้าปรับให้ตรงกันได้จะเป็นการดี

.

ดร. สิรี ชัยเสรี คณบดีคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมไทยเริ่มหันมาทำวิจัยกันมากขึ้น ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ดี ปัจจุบันคณะฯ มีผู้ที่ทำงานอยู่ในภาคอุตสาหกรรมมาเรียนนอกเวลา ทำให้สามารถนำผลการวิจัยไปพัฒนาอุตสาหกรรมได้โดยตรง สอดคล้องกับความเห็นของ ดร. สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ ผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรม สกว. ซึ่งกล่าวว่า การวิจัยให้ได้ผล ภาคอุตสาหกรรมต้องเข้ามามีส่วนร่วมกับนักวิจัยตั้งแต่ต้น อย่างนักศึกษาที่รับทุนวิจัยจากสกว. ก็รับโจทย์วิจัยมาจากโรงงานโดยตรง ทำได้เป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรม