เนื้อหาวันที่ : 2007-07-25 10:11:46 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1847 views

มช.สร้างระบบนำความร้อนทิ้งกลับมาใช้ใหม่ลดใช้พลังงาน 10%

กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน หนุนสถานจัดการและอนุรักษ์พลังงาน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สร้างต้นแบบระบบดึงความร้อนทิ้งกลับมาใช้ใหม่ในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารกระป๋อง

กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน หนุนสถานจัดการและอนุรักษ์พลังงาน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (EMAC) สร้างต้นแบบระบบดึงความร้อนทิ้งกลับมาใช้ใหม่ในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารกระป๋อง หวังช่วยผู้ประกอบการลดต้นทุนด้านพลังงานแข่งขันในตลาดโลก

.

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม สินค้าส่งออกส่วนใหญ่จึงเป็นผักและผลไม้ซึ่งเน่าเสียง่าย จึงต้องมีการแปรรูปเป็นผักและผลไม้กระป๋อง เพื่อยืดอายุสินค้าและเพิ่มมูลค่าของสินค้า ซึ่งกระบวนการแปรรูปอาหารแต่ละขั้นตอน อาทิ การเตรียมวัตถุดิบ การบรรจุ การฆ่าเชื้อ การไล่อากาศ กระทั่งการปิดฝา มีการใช้พลังงานไฟฟ้าและความร้อนค่อนข้างสูง และมีการปล่อยไอน้ำทิ้งจำนวนมาก นับเป็นการสิ้นเปลืองพลังงานโดยเปล่าประโยชน์ ดังนั้น กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน จึงได้ให้การสนับสนุนสถานจัดการและอนุรักษ์พลังงาน (EMAC) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินโครงการศึกษาและวิเคราะห์หาแนวทางในการนำความร้อนทิ้งกลับมาใช้ใหม่ รวมถึงการออกแบบและจัดสร้างต้นแบบระบบการดึงไอน้ำในกระบวนการแปรรูปอาหารกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถประหยัดพลังงานและลดต้นทุนในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารกระป๋อง สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้

.

ปัจจุบันมีโรงงานแปรรูปอาหารกระป๋องทั่วประเทศประมาณ 319 แห่ง มีกำลังการผลิตประมาณ 965,000 ตันต่อปี มีการใช้พลังงานความร้อนประมาณ 645,585 จิกกะจูลต่อปี และมีการใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิงประมาณ 19.7 ล้านลิตรต่อปี คิดเป็นเงินประมาณ 276 ล้านบาท ซึ่งหากสามารถพัฒนาระบบการนำความร้อนทิ้งกลับมาใช้ใหม่ได้ จะช่วยผู้ประกอบการอาหารกระป๋องลดต้นทุนด้านพลังงานได้ 10%

.

รศ.ดร.ชัชวาล ตัณฑกิตติ ผู้อำนวยการโครงการวิจัยนำความร้อนทิ้งกลับมาใช้ใหม่ในระบบนึ่งอาหารหรือผักกระป๋อง EMAC เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการศึกษาและจัดสร้างระบบการนำความร้อนทิ้งในกระบวนการไล่อากาศกลับมาใช้ใหม่สำหรับอุตสาหกรรมอาหารกระป๋องขึ้น ที่เรียกว่าระบบ Steam Nozzle Pump ซึ่งมีหลักการทำงานคือ ไอน้ำ (Motive Fluid) จะเคลื่อนที่ผ่านหัวฉีดด้วยความเร็วสูง ทำให้บริเวณรอบๆ เกิดสุญญากาศทำให้ดูดไอน้ำทิ้งกลับมาใช้อีกโดยมาผสมกัน โดยระบบดังกล่าวมีข้อดีคือ ง่ายต่อการควบคุม ไม่มีอุปกรณ์ภายในระบบที่เคลื่อนที่ได้ ทำให้ไม่มีการสึกหรอของอุปกรณ์ และไม่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง อีกทั้งยังสามารถใช้กับงานที่เป็นของเหลวหรือไอได้ โดยได้ทดลองติดตั้งระบบในโรงงานแปรรูปอาหารกระป๋อง บริษัท ซันสวีท จำกัด จ.เชียงใหม่ ผู้ผลิตและจำหน่ายข้าวโพดกระป๋องรายใหญ่ในภาคเหนือ ซึ่งแต่ละปีมีการใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิงในกระบวนการผลิตสูงถึง 5 ล้านลิตร คิดเป็นเงินประมาณ 7 ล้านบาท เพื่อใช้ในการผลิตไอน้ำในการนึ่งฝักข้าวโพด ต้มน้ำร้อนเพื่อลวกเมล็ดข้าวโพด ไล่อากาศและฆ่าเชื้อในกระป๋อง ผลภายหลังการติดตั้งระบบพบว่ามีการใช้เชื้อเพลิงลดลงประมาณ 5 ลิตรต่อชั่วโมง คิดเป็นเงินประมาณ 67 บาทต่อชั่วโมง หรือคิดเป็นเงินที่ประหยัดได้ปีละประมาณ 5 แสนบาท

.

"นอกจากนี้ ยังได้มีการทดลองติดตั้งระบบฯ ในโรงงานผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยว พบว่าสามารถลดการใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิงในกระบวนการนึ่งเส้นก๋วยเตี๋ยวลงได้ 1.2 ลิตรต่อชั่วโมง คิดเป็นเงินที่ประหยัดได้ชั่วโมงละ 17 บาท หรือประมาณ 1.2 แสนบาทต่อปี ซึ่งทาง EMAC จะเร่งเผยแพร่ข้อมูลและผลประหยัดให้แก่โรงงานอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่สนใจ เพื่อนำระบบดังกล่าวไปดำเนินการติดตั้งเพื่อลดการใช้พลังงานต่อไป" รศ.ดร.ชัชวาล กล่าว