เนื้อหาวันที่ : 2016-01-12 14:35:11 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1707 views

ก.อุตฯ ลงพื้นที่เยี่ยม 2 สถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ OPOAI ภาคใต้ มุ่งหวังยกระดับการเพิ่มผลผลิตสู่เกษตรอุตสาหกรรมแปรรูปครบวงจร

สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม (สปอ.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม 2 สถานประกอบการในภาคใต้ ที่เข้าร่วมโครงการ OPOAI ได้แก่ บริษัท วิยะเครปโปรดักส์ จำกัด และบริษัท เมธีภูเก็ต จำกัด เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน ทั้งการลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งเป็นไปตามแนวทางนโยบายของรัฐ โดยมุ่งกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากให้เกิดการหมุนเวียน พร้อมสนับสนุน และให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการSMEs ในภูมิภาค ให้สามารถแข่งขันได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ก้าวไปสู่อุตสาหกรรมแปรรูปเกษตรอย่างครบวงจร

นายพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า โครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรในภูมิภาค (One Province One Agro-Industrial Product) OPOAI เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2550 โดยมุ่งเน้นการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับสถานประกอบการ เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้กับสถานประกอบการ โดยให้ความรู้ ให้คำปรึกษาแนะนำการบริหารจัดการด้านต่าง ๆ การพัฒนายกระดับประสิทธิภาพ  การผลิตและผลิตภัณฑ์ให้ได้รับมาตรฐานสากล รวมถึงกำหนดให้มีกลยุทธ์ขับเคลื่อนการตลาด การสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ ซึ่งการทำงานเป็นการบูรณาการร่วมกันในลักษณะไตรภาคีของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ ภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา เพื่อส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรในภูมิภาค หวังให้สถานประกอบการสามารถแข่งขันได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

สำหรับแนวทางการดำเนินโครงการ จะมีที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เข้าไปให้ความช่วยเหลือ ปรึกษาแนะนำสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ ผ่านแผนงานพัฒนาที่ถือเป็นภารกิจหลักของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ครอบคลุมตลอดโซ่อุปทาน (Supply Chain) ใน 6 ด้าน เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าสู่กระบวนการพัฒนาแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้อง สามารถลดต้นทุน เพิ่มรายได้ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ โดย 6 แผนงานประกอบด้วย 1.การบริหารจัดการโลจิสติกส์ 2.การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 3.การปรับปรุงคุณภาพและพัฒนางาน 4.การลดต้นทุนพลังงาน 5.การยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์/ระบบมาตรฐานสากล และ 6.กลยุทธ์ขับเคลื่อนการตลาด

โดยผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 จนถึงปี 2557 มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 1,041 ราย และเพื่อเป็นการติดตาม ให้กำลังใจจึงได้มีการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ OPOAI ภาคใต้ โดยได้เข้าเยี่ยมชมบริษัท วิยะเครปโปรดักส์ จำกัด ดำเนินธุรกิจอาหารทะเลแปรรูป ตั้งอยู่ที่ ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี และบริษัท เมธีภูเก็ต จำกัด ดำเนินธุรกิจประเภทผลิตอาหารสำเร็จรูปจากเมล็ดพืช เพื่อจำหน่ายทั้งใน และต่างประเทศ ตั้งอยู่ที่ตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต

นายพิสิฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า การลงพื้นที่เยี่ยมสถานประกอบการเพื่อติดตามให้กำลังใจ เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลในเรื่องภารกิจในการช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย โดยให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้เศรษฐกิจฐานรากให้เกิดการหมุนเวียน สร้างความเข้มแข็งในระดับจุลภาคมากขึ้น อันจะนำไปสู่การสร้างสถาบันครอบครัวที่อบอุ่น ชุมชุนมีความเข้มแข็ง

ด้านนางสาวสุวณีย์ ทิพย์หมัด กรรมการผู้จัดการ บริษัท วิยะเครปโปรดักส์ จำกัด 1 ในสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ OPOAI กล่าวว่า บริษัทดำเนินกิจการผลิตและจำหน่ายสินค้าประเภทอาหารทะเลแปรรูป  เข้าร่วมโครงการ OPOAI ในปี 2557 ในแผนงานที่ 1 การบริหารจัดการโลจิสติกส์  และแผนงานที่ 3 การปรับปรุงคุณภาพและพัฒนางาน มีเป้าหมายการบริหารจัดการโลจิสติกส์ และการปรับปรุงคุณภาพและพัฒนางาน

โดยลักษณะธุรกิจของบริษัท คือ ผลิตเนื้อปูบรรจุกระป๋อง และถุงสูญญากาศ ประกอบด้วยผลิตภัณฑ์ เนื้อปูม้าพาสเจอร์ไรส์บรรจุกระป๋อง มีกำลังการผลิต 500 ตันต่อปี ผลิตจริง 300 ตันต่อปี ราคาต่อหน่วยเฉลี่ยประมาณ 800-900 บาท/กิโลกรัม, ผลิตภัณฑ์รองของสถานประกอบการ คือ อาหารทะเลแปรรูปพร้อมบริโภค เช่น ปูจ๋า ฮ้อยจ้อปู น้ำพริกปู เป็นต้น ซึ่งมีสัดส่วนการตลาด คือ ส่งออก 70% จำหน่ายในประเทศ 30% ในขณะที่การจัดหาวัตถุดิบเป็นความรับผิดชอบของฝ่ายจัดซื้อ โดยวัตถุดิบหลัก คือ ปูม้าสด จากกระบวนการธุรกิจของบริษัทดำเนินการตั้งแต่การทบทวนความต้องการของลูกค้า ดำเนินการวางแผนการผลิต การจัดซื้อวัตถุดิบหลักผ่านบริษัท วิยะอินเตอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ วางแผนการสั่งซื้อวัตถุดิบรองตามความต้องการใช้ผ่านกระบวนการผลิต ควบคุมคุณภาพในทุกขั้นตอนการผลิต จัดเก็บ และส่งมอบให้ลูกค้า

ทั้งนี้ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ  จากแผนงานที่ 1 การบริหารโลจิสติกส์ มีการปรับปรุง 2 ส่วนประกอบด้วย 1.ลดการถือครองสินค้าคงคลัง โดยมีการคัดแยกประเภทวัตถุดิบที่มีความเคลื่อนไหว และที่เคลื่อนไหวช้า จากการเปรียบเทียบมูลค่าบรรจุภัณฑ์ พบว่าสินค้า Dead Stock ลดลง 209,785 บาท คิดเป็น 16.09% นอกจากนี้ยังมีการบริหารจัดการวัตถุดิบประเภทถุงบรรจุ สามารถลดการสั่งซื้อเป็นจำนวนเงินลดลง 197,458 บาท คิดเป็น 4.6%

แผนงานที่ 3 การปรับปรุงคุณภาพและพัฒนางาน มีการพัฒนา 2 โครงการประกอบด้วย 1.การทดลองกระบวนการผลิตน้ำพริกปูผัดด้วยมือ และผัดด้วยเครื่องจักร จากการทดลองพบว่าการผัดด้วยมือสามารถควบคุมคุณภาพของสี กลิ่น และรสชาติได้ดีกว่าการใช้เครื่องจักร คิดเป็นมูลค่าครั้งละ 8,636.32 บาท หรือเท่ากับ 34,557.28  บาทต่อเดือน 2.การจัดการปัญหาปริมาณสูญเสียของบรรจุภัณฑ์ประเภทกระป๋องบรรจุเนื้อปูในระหว่างกระบวนการผลิต โดยการให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเครื่องและฝาก่อนที่จะมีการผลิต พร้อมทั้งมีการจัดให้พนักงานซีมเมอร์มีการพักเป็นระยะเพื่อลดความเมื่อยล้า โดยสามารถลดความเสียหายของกระป๋องได้ 20.45%

ด้านนางบุญมา จตุเมธเมธี ประธานกรรมการผู้จัดการ บริษัท เมธีภูเก็ต จำกัด 1 ในสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ OPOAI กล่าวว่า บริษัทเป็นผู้ดำเนินกิจการผลิตและจำหน่ายสินค้าประเภทต้ม นึ่ง อบ กะเทาะเมล็ดพืช หรือเปลือกเมล็ดพืช และผลิตอาหารสำเร็จรูปจากเมล็ดพืช เป็นร้านของฝากของจังหวัดภูเก็ต มีทั้งสินค้าพื้นเมืองภูเก็ต เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ น้ำมะม่วงหิมพานต์ น้ำพริกกุ้งเสียบ แกงไตปลา ซึ่งมี 2 สาขา เปิดให้บริการมานานมากกว่า 40 ปี และมีส่วนแบ่งการตลาดและยอดจำหน่ายมากกว่า 25,000 กิโลกรัมต่อปี และมีการตลาดกับกลุ่มนักท่องเที่ยวเป็นสำคัญโดยมีสัดส่วนการตลาดในประเทศร้อยละ 95 และต่างประเทศร้อยละ5

ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตที่ 100 กิโลกรัมต่อวัน โดยมีกำลังการผลิตที่ 83.33 กิโลกรัมต่อวัน ซึ่งยังเหลือกำลังการผลิตต่อวันอีก 16.67 กิโลกรัมวัน และภายหลังเข้าร่วมโครงการ OPOAI ในปี 2558 ในแผนงานที่ 2 การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต มีการปรับปรุงใน 2 ส่วน คือ 1.การปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการบรรจุอัตโนมัติ หลังปรับปรุงสามารถลดของเสียได้จาก 20% เหลือ 0% คิดเป็นมูลค่าปีละ 532,000.-บาท/ปี และ 2.การปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการบรรจุอัตโนมัติแบบฟิล์มหด ก่อนปรับปรุงเกิดของเสีย 50% หลังปรับปรุงแล้วอัตราการเกิดของเสียเป็น 0 คิดเป็นมูลค่าปีละ 355,800.-บาท/ปี

และแผนงานที่ 6 กลยุทธ์ขับเคลื่อนการตลาด ซึ่งทีมที่ปรึกษาได้มีการสำรวจ วิเคราะห์ ประเมิน และให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึก โดยวางแผนการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค การขายและวางเป้าหมายยุทธศาสตร์การพลิกฟื้นธุรกิจ มีการแนะนำแผนกลยุทธ์การตลาดระยะสั้นเพื่อกระตุ้นยอดขาย 5% แผนกลยุทธ์การตลาดระยะกลางเพื่อพัฒนาบรรจุภัณฑ์และเปิดช่องทางการจำหน่ายใหม่ และแผนกลยุทธ์การตลาดระยะยาวเพื่อพัฒนาสินค้าและเปิดช่องทางการจำหน่ายใหม่

โดยบริษัทสามารถลงมือปฏบัติตามแผนได้จริง คือ 1.พัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า โดยทางสถานประกอบการสามารถพัฒนาบรรจุภัณฑ์ใหม่ได้ 3 รูปแบบคือ แบบกล่อง แบบซอง และแบบขวด 2. การนำเสนอเพื่อเปิดช่องทางการตลาดใหม่ใน King Power โดยทางสถานประกอบการนำสินค้าที่ได้รับการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ไปนำเสนอเพื่อเข้าจำหน่ายได้สำเร็จ ซึ่งจากการเข้าร่วมโครงการสามารถเพิ่มยอดขายได้ร้อยละ 17.57