เนื้อหาวันที่ : 2007-07-24 10:56:23 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1277 views

ตั้งกองทุน 5,000 ล้านบาทอุ้มภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบค่าเงินบาท

รัฐบาลพอเพียงตั้งกองทุนเยียวยาในส่วนของภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบวงเงิน 5,000 บาท พร้อมกำหนดมาตรการหลายประการเพื่อแก้ไขปัญหาค่าเงินค่าที่เกิดขึ้น

รัฐบาลพอเพียงตั้งกองทุนเยียวยาในส่วนของภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบวงเงิน 5,000 บาท พร้อมกำหนดมาตรการหลายประการเพื่อแก้ไขปัญหาค่าเงินค่าที่เกิดขึ้น

.

วันนี้ เวลา 09.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ได้เชิญนายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เข้าหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ค่าเงินบาท

.

ต่อมาเวลา 12.30 น. นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ถึงผลการหารือว่า รองนายกรัฐมนตรีโฆสิตฯ ได้นำข้อเสนอของภาคเอกชนที่จะขอให้มีมาตรการหลายประการ เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งรัฐบาลต้องขอบคุณภาคเอกชนที่ได้ให้ข้อคิดเห็นต่าง ๆ โดยรัฐบาลได้ทำตามข้อเสนอของภาคเอกชนไปแล้ว คือการตั้งกองทุนเพื่อเยียวยา ในส่วนของภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบ ในวงเงิน 5,000 ล้านบาท โดยจะเป็นเงินจากทางภาครัฐ จำนวน 2.5 พันล้านบาท และเงินจากธนาคารพาณิชย์ 2.5 พันล้านบาท ส่วนเรื่องอื่นๆ ทางคณะกรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจส่วนรวมจะมีการหารือกันในวันจันทร์ที่ 23 กรกฎาคม ส่วนใดที่คณะกรรมการขับเคลื่อนฯ สามารถดำเนินการได้ก็จะทำทันที ส่วนใดที่จะต้องนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อขอความเห็นชอบ ก็จะนำเข้าพิจารณาในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันอังคารที่ 24 กรกฎาคมทันทีเช่นกัน

.

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในส่วนของความผันผวนของค่าเงินบาทนั้นถือว่าไม่ได้เป็นเรื่องระยะสั้นๆ เป็นเรื่องที่ต้องแก้ปัญหาระยะยาว เพราะเรื่องที่เกิดขึ้นมานั้นเกิดมาตั้งปี 2549 และคิดว่าจนถึงปี 2550 ก็ยังไม่ยุติ เพราะไม่ได้เกิดจากปัญหาค่าเงินบาท แต่เป็นเรื่องของดอลลาร์ ทำให้ค่าเงินบาทได้รับผลกระทบเพราะว่าค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัวลง ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยทั่วไป เพราะฉะนั้นเราไม่สามารถไปบอกได้ว่าความผันผวนจะยุติเมื่อไร เพราะเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในโลก

.

ผู้สื่อข่าวถามว่า มาตรการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลังเสนอคิดว่าเพียงพอต่อการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้เราพูดถึงมาตรการระยะสั้น ซึ่งบางส่วนได้ประกาศไปแล้ว และบางส่วนจะมีการหารือกันในวันที่ 23 กรกฎาคม บางส่วนต้องเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ถือเป็นมาตรการระยะสั้น ส่วนการแก้ปัญหาในระยะปานกลางก็คงต้องทำต่อไป

.

ผู้สื่อข่าวถามว่า นักวิชาการเสนอให้รัฐบาลส่งสัญญาณให้มีความชัดเจนเรื่องของค่าเงิน เพราะนักลงทุนจะได้กำหนดทิศทางของการลงทุนได้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สิ่งที่เป็นความชัดเจนและแน่นอนคือเราจะรักษาเสถียรภาพ จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้น้อยและไม่รวดเร็ว นั่นถือเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องการ แต่ถ้าจะให้ยืนยันในเรื่องของค่าเงินนั้นคงทำไม่ได้ ส่วนจะมีการใช้มาตรการด้านภาษีมาใช้ควบคู่ไปด้วยหรือไม่นั้น เรื่องรายละเอียดเหล่านี้คงต้องมีการหารือกันก่อน

.

ผู้สื่อข่าวถามว่า แผนและมาตรการที่มีการเสนอวันนี้มีการให้ความมั่นใจหรือไม่ว่าจะสามารถช่วยลดปัญหาเฉพาะหน้าได้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นส่วนที่รัฐบาลจะต้องพิจารณา ทางภาคเอกชนเสนอข้อคิดเห็นมา รัฐบาลก็ต้องพิจารณา คงต้องมีการหารือกันอีกครั้งในวันที่ 23 กรกฎาคมนี้ ส่วนที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)เตรียมที่จะเปิดอภิปรายทั่วไปในเรื่องค่าเงินบาทนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่มีความคิดเห็น แต่พร้อมในการที่จะชี้แจง เพราะเป็นเรื่องที่สามารถทำความเข้าใจและชี้แจงได้ หาก สนช. ต้องการให้ตนเองหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไปชี้แจงก็พร้อมชี้แจง