เนื้อหาวันที่ : 2015-11-19 16:58:03 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1127 views

วสท. จัดทำมาตรฐานดาตาเซ็นเตอร์สำหรับคอมพิวเตอร์และการสื่อสารของประเทศไทย ผลักดันไทยเป็นศูนย์ข้อมูลแห่งอาเซียน เริ่มใช้ ธ.ค.2558

ในยุคที่โลกก้าวสู่ยุคดิจิตอล ประสิทธิภาพและความปลอดภัยทางไซเบอร์เป็นความมั่นคงของประเทศและเป็นข้อพิจารณาการลงทุนของนานาประเทศด้วย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการมาตรฐาน Data Center ดำเนินการจัดทำ มาตรฐานดาตาเซ็นเตอร์แห่งชาติ (National Data Center Standard) ฉบับแรกของประเทศไทยใกล้แล้วเสร็จ หนุนยกระดับเศรษฐกิจของไทยโดยสอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอล และการก้าวเป็น ศูนย์โทรคมนาคมและศูนย์ข้อมูลแห่งอาเซียน โดยพัฒนาและยกระดับดาตาเซนเตอร์ในประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพในเชิงเศรษฐกิจและสังคม มีความมั่นคงปลอดภัย ให้เป็นที่ยอมรับเชื่อถือได้ในระดับสากล และเป็นประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุด กำหนดเริ่มใช้มาตรฐานดาตาเซนเตอร์ของประเทศไทยในเดือนธันวาคม 2558 เผยไทยมีความพร้อม 7 ด้านสู่ฮับศูนย์ข้อมูลอาเซียน อีกทั้งเอเชียมีการใช้อินเตอร์เน็ตพุ่งสูงคิดเป็น 47.8 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรอินเตอร์เน็ตทั่วโลก

นายสำราญ ภูอนันตานนท์ 

ดร.อุตตม สาวนายน (Dr.Uttama Savanayana) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้มอบหมายให้ นายสำราญ ภูอนันตานนท์ (Samran Bhu-anantanondh) ที่ปรึกษารัฐมนตรีร่วมงานโดยได้ กล่าวถึงปัจจัยในการนำประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางโทรคมนาคมและศูนย์ข้อมูลแห่งอาเซียน ว่า ภายใต้นโยบาย Digital Economy ของรัฐบาลกำหนด ทำให้เกิดโครงการต่างๆ ภายใต้ ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านกายภาพ (Hard Infrastructure) 2.โครงสร้างพื้นฐานด้านการบริการ (Service Infrastructure) 3.โครงสร้างพื้นฐานด้านกฎหมาย กฎระเบียบและมาตรฐาน (Soft Infrastructure) 4.ด้านส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ (Digital Economy Promotion) และ5.ด้านการพัฒนาสังคมดิจิทัล (Digital Society) อีกทั้งมี 5 คณะทำงานในการผลักดันให้เกิดผล คือ 1.คณะทำงานบรอดแบนด์แห่งชาติ 2.คณะทำงานศูนย์ข้อมูล (Data Center) ในประเทศ 3.คณะทำงานด้านการส่งเสริมการค้าผ่านสื่อดิจิตอล การส่งเสริมธุรกิจดิจิตอลเกิดใหม่ และการส่งเสริมเนื้อหาดิจิตอล 4.คณะทำงานการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) และ 5.คณะทำงานติดตามกฎหมายเศรษฐกิจและสังคมดิจิตอล เพื่อจัดทำแผนการดำเนินงานด้านต่างๆ ให้สอดคล้องต่อการก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจ และสังคมดิจิตอลของประเทศไทย

การกำหนดแนวทางการพัฒนา โครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ ของประเทศที่ครอบคลุมถึงโครงข่ายการติดต่อสื่อสารทุกประเภทที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม การส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัล โดยจะเน้นความสำคัญในนโยบายการส่งเสริมและสนับสนุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิตอล (Hard Infrastructure) เพื่อให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางโทรคมนาคมและศูนย์ข้อมูลในประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) โดยแผนยุทธศาสตร์เพื่อการขับเคลื่อนของ ยุทธศาสตร์ที่หนึ่ง คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิตอล (Hard Infrastructure) จัดตั้งการให้บริการสำหรับธุรกิจและนักลงทุนทั้งไทยต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยทั้งในธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศ (เช่น การมาตั้งศูนย์ข้อมูลในการให้บริการ Cloud Computing การมาร่วมทุนในธุรกิจโทรคมนาคม และการพัฒนาซอฟต์แวร์แอพพลิเคชัน ฯลฯ) หรือธุรกิจอื่น ๆ ที่ใช้ประโยชน์จากการสื่อสารที่มีคุณภาพในการเชื่อมต่อกับโลก โดยเป็นการให้การสนับสนุนผ่านโครงการลงทุน ที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และการสนับสนุนค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้า ซึ่งจะต้องดำเนินการคู่ขนานไปกับการดำเนินการด้านมาตรฐานศูนย์ข้อมูล (Data Center) และกฎหมายที่สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอลของไทย

ปัจจัยที่สำคัญในการที่จะนำประเทศไทยก้าวสู่การเป็น ศูนย์กลางโทรคมนาคมและศูนย์ข้อมูลในประชาคมอาเซียน มีความจำเป็นจะต้องพัฒนาระบบพื้นฐานดังต่อไปนี้ 1.พัฒนาโครงข่ายในประเทศ ได้แก่ การผลักดันให้มีโครงข่ายบรอดแบนด์ทั้งแบบสายและไร้สาย ให้ครอบคลุมเพื้นที่และจำนวนประชากร ให้สามารถเข้าถึงบริการต่อเชื่อมการสื่อสารทางอินเทอร์เน็ตที่มีความเร็วสูง และครอบคลุมทั่วถึง,  การเชื่อมต่อจะต้องมีระบบที่มีการรักษาความปลอดภัยที่ดี เพื่อไม่ให้ข้อมูลในโครงข่ายต่างๆ ทั้งข้อมูลของภาครัฐ และประชาชนถูกโจรกรรมหรือบิดเบือนได้โดยง่าย,  มีการใช้โครงข่ายร่วมกันของผู้ให้บริการด้านการสื่อสารอย่างเสรีเป็นธรรมและเสมอภาค และสุดท้ายจัดสรรให้มีการใช้คลื่นความถี่อย่างเป็นธรรม เพื่อประโยชน์สุงสุดแก่ประชาชนผู้บริโภค 2.พัฒนาโครงข่ายระหว่างประเทศ ได้แก่ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนสร้างเครือข่ายการเชื่อมต่อกับเตรือช่ายต่างประเทศอย่างเสรีพอเพียง ทั้งทางเครือข่ายเคเบิลใยแก้วใต้ทะเล (Submarine Cable) และเครือข่ายภาคพื้นดิน (Terrestrial Cable) และการกำกับดูแลการให้บริการที่เป็นธรรม เหมาะสม เพื่อให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ 3.พัฒนา Data Center Ecosystem ได้แก่การพัฒนามาตรฐานศูนย์ข้อมูลแห่งชาติ ให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ, ผลักดันกฎหมายที่สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอล, Line, Alibaba เข้ามาร่วมลงทุนศูนย์ข้อมูลในประเทศไทย โดยต้องร่วมมือผลักดันทั้งจากภาครัฐและเอกชน ผ่านทางสิทธิประโยชน์ตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และสนับสนุนให้เกิดการเข้าถึงข้อมูลโดยเชื่อมโยงกับหลายศูนย์ข้อมูล เพื่อเพิ่มความมั่นคงทางการสื่อสาร ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางของข้อมูลในภูมิภาค

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ (Prof. Dr. Suchatvee Suwansawat) นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารทั่วโลกมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอย่างรวดเร็วและหลากหลาย เช่น ระบบ Grid Computing ระบบ Cloud Computing เป็นต้น ประกอบกับจำนวนผู้ใช้บริการอินเตอร์เน็ตทั่วโลก มีมากถึง 3,270 ล้านคน ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่มีการใช้อินเตอร์เน็ตมากที่สุดในโลกราวๆ 1,563 ล้านคน คิดเป็น 47.8 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรอินเตอร์เน็ตทั่วโลก  สำหรับประเทศไทยมีผู้ใช้บริการอินเตอร์เน็ต 23.7 ล้านคน และมีอัตราการเติบโตสูงมาก จากปี 2000 มีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตเพียง 2.3 ล้านคนเท่านั้น (ข้อมูลจาก: Internetworldstats) และคาดว่าจะมีผู้ใช้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เบื้องหลังของการจัดการระบบข้อมูลเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารก็คือ Data Center หรือ ศูนย์ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ซึ่งในขณะนี้นานาประเทศทั่วโลกกำลังพัฒนามาตรฐานสำหรับประเทศตนเอง เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

วสท. เห็นว่า ศูนย์ข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือ Data center เป็นหัวใจสำคัญของโครงสร้างพื้นฐานด้านกายภาพ (Hard Infrastructure) เนื่องจาก Data center เป็นศูนย์ในการประมวลและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องมี มาตรฐานศูนย์ข้อมูลคอมพิวเตอร์สำหรับประเทศ (National Data Center Standard) เพื่อผู้ประกอบการทั้งภาครัฐและเอกชน ใช้เป็นแนวทางในการออกแบบติดตั้ง Data center ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน สามารถปฏิบัติงานร่วมกัน (Interoperation) ได้อย่างราบรื่น มั่นคงปลอดภัยและคุ้มค่าตลอดจนที่ยอมรับทั้งในประเทศและนานาประเทศ ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะก้าวเป็น ศูนย์ข้อมูลแห่งอาเซียน (ASEAN’s Data Center) เนื่องจากความพร้อม ใน 7 ด้าน ดังนี้ 1.ความได้เปรียบในการเป็นศูนย์การทางด้านภูมิศาสตร์ การมีระบบคมนาคม ระบบการสื่อสารสื่อสารทั้งที่ผ่านระบบใยแก้วนำแสงและคลื่นวิทยุมีความหลากหลายและมั่นคงมีประสิทธิภาพสูงทำให้ไทยมีความเหมาะสมอย่างยิ่งที่เป็นศูนย์กลางในการสื่อสารเป็นระหว่างกลุ่มประเทศ กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม (CLMV) รวมทั้ง มาเลเซีย สิงคโปร์ และบรูไน 2.มีความมั่นคงทางด้านพลังงานไฟฟ้าที่และมีคุณภาพสูงรวมทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากเพื่อนบ้าน CLMV ด้วย ประกอบกับราคาค่าพลังงานไฟฟ้าที่ต่ำกว่าหลายๆประเทศรวมถึงค่าเช่าพื้นที่และค่าดำเนินการต่างๆ ที่สมเหตุสมผลคุ้มกับการลงทุน พร้อมสาธารณูปโภคต่างๆ ที่สมบูรณ์ 3.ช่วยสนับสนุนระบบขนส่ง Northeast and Southwest Corridors และศูนย์กลางการบินใน Southeast Asia  4.สนับสนุนผู้ลงทุนของไทยและจากต่างประเทศในการลงทุนในกิจการศูนย์ข้อมูลที่มีพื้นที่เกินกว่า 2,000 ตรม. จะได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีจาก BOI  5.นโยบายของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ที่มีแผนจะผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการค้าออนไลน์ในอาเซียน โดยผ่านทางช่องทางออนไลน์เว็บไซต์ Thaitrade.com และการเชื่อมต่อกับ อาเซียนบวกหก ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ยิ่งเป็นการสร้างโอกาสให้ประเทศไทยมากยิ่งขึ้น ซึ่งกลุ่มประชากรของอาเซียนบวกหก มีมาถึงครึ่งโลก หรือ 3,500 ล้านคน 6.ความพร้อมทางด้านบุคลากรทางไอทีของไทย ที่มีต้นทุนต่ำกว่า มาเลเซียและสิงคโปร์ จะเป็นอีกแรงดึงดูดนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ  7.ความพร้อมของ มาตรฐานศูนย์ข้อมูลสำหรับประเทศไทย ที่ วสท. จัดทำขึ้น ซึ่งในความคาดหวังของ วสท. นั้น จะผลักดันให้เป็นมาตรฐานของประชาคมอาเซี่ยนต่อไปด้วย

วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ วสท.จึงได้จัดตั้ง คณะอนุกรรมการมาตรฐาน Data Center วสท. ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศร่วมกันทำงานและศึกษาวิเคราะห์ข้อดีจากมาตรฐานของประเทศต่างๆ และดำเนินการจัดทำ มาตรฐานดาตาเซ็นเตอร์สำหรับประเทศไทย ฉบับแรกของประเทศไทย ใช้เวลา 2 ปีที่ผ่านมาจึงแล้วเสร็จ โดยให้เหมาะสมสอดคล้องกับกฎหมาย มาตรฐานต่างๆและโลกที่เปลี่ยนแปลง อีกทั้งยังเชื่อมโยงกับมาตรฐานระดับสากลด้วย เพื่อประสิทธิภาพและปกป้องประโยชน์ของประเทศไทยไม่ให้เสียเปรียบ วัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นแนวทางในการออกแบบและติดตั้งดาตาเซนเตอร์ หรือ ศูนย์ข้อมูลคอมพิวเตอร์ สำหรับวิศวกร สถาปนิกและผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดทำ ดูแล ปรับปรุง บำรุงรักษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งดาตาเซนเตอร์ขนาดเล็กและขนาดกลางได้ศึกษาและทำความเข้าใจ เพื่อรองรับการขยายตัวในอนาคตต่อไป ขณะนี้ มาตรฐานดาตาเซ็นเตอร์แห่งชาติ โดย วสท.ได้ผ่านการทำเทคนิคพิจารณ์มาแล้ว 1 ครั้ง และอีก 1 ครั้งเร็ว ๆ นี้ คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมใช้ ปลายปี 2558       

นายประสิทธิ์ เหมวราพรชัย (Prasitt Hemwarapornchai) ประธานอนุกรรมการมาตรฐาน Data Center วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า เนื้อหามาตรฐานดาตาเซนเตอร์แห่งชาติที่จัดทำขึ้นนี้ครอบคลุมถึงเรื่อง ขอบเขตและความสัมพันธ์กับพื้นที่ใช้งานต่างๆ, การใช้พื้นที่และโครงสร้างพื้นฐาน, ข้อกำหนดห้องหรือพื้นที่ทางเข้าของเคเบิล, การทดสอบเครื่องยนต์กำเนิดไฟฟ้า, ข้อกำหนดงานสถาปัตยกรรมและงานวิศวกรรมโยธา, ข้อกำหนดงานวิศวกรรมไฟฟ้า ได้แก่ ระบบไฟฟ้า วงจรจ่ายไฟฟ้า ระบบกำลังไฟฟ้า เครื่องกำเนิดไฟฟ้า ระบบจ่ายไฟฟ้า การกระจายไฟฟ้า สาธารณูปโภคไฟฟ้า การต่อฝากและการต่อลงดิน (Bonding and Grounding) วงจรตาข่ายประสาน (Mesh BN), ข้อกำหนดงานวิศวกรรมเครื่องกล ได้แก่ ระบบปรับสภาพอากาศ (HVAC), ข้อกำหนดงานระบบป้องกันอัคคีภัย ได้แก่ ระบบตรวจจับแบบอัตโนมัติ ระบบดับเพลิงด้วยการฉีดสารสะอาดดับเพลิง, ข้อกำหนดงานระบบความมั่นคง, ข้อกำหนดงานระบบอาคารอัตโนมัติ, ข้อกำหนดงานโทรคมนาคม ได้แก่ ระบบเคเบิลและโทรคมนาคมของดาตาเซนเตอร์ ระบบการเดินเคเบิลของดาตาเซนเตอร์, ข้อกำหนดงานเทคโนโลยีสารสนเทศ, การตรวจสอบและบำรุงรักษาดาตาเซนเตอร์ และสุดท้ายการจัดประเภทดาตาเซนเตอร์  นอกจากนี้ยังรวมถึงการวางแผนสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานต่างๆ ของ Data Center เช่น ระบบไฟฟ้า ระบบการต่อลงดิน ระบบปรับอากาศ รวมถึงการออกแบบระบบเคเบิลและโครงข่ายข้อมูล ตั้งแต่ขั้นตอนของการพัฒนาอาคาร ซึ่งจะเป็นการวางแผนงานที่ถูกต้องในระหว่างการก่อสร้างหรือการปรับปรุงขยายพื้นที่อย่างเป็นระบบ ทำให้สะดวกต่อการใช้งาน การบำรุงรักษา  แม้จะต้องมีการขยายปรับปรุงเปลี่ยนแปลงของดาตาเซนเตอร์ในอนาคตให้เหมาะสมกับการใช้งานหรือเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง ก็จะเป็นเพียงการลงทุนเพิ่มตามขนาดของการเติบโตเปลี่ยนแปลง โดยไม่ต้องทิ้งของเดิม จึงเป็นประโยชน์ต่อประเทศในทุกด้านโดยรวม

สำหรับ ประโยชน์หรือผลดีของมาตรฐานดาตาเซ็นเตอร์ของประเทศไทย ซึ่งจะพร้อมใช้ในเดือนธันวาคม 2558 นี้ ได้แก่ 1.ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศไทยจะเป็นที่ยอมรับและเชื่อถือของภาครัฐและเอกชนของนานาประเทศตามหลักวิชาการและความเป็นสากล เนื่องจากดาตาเซนเตอร์จะต้องพร้อมทำงานตลอด 24 ชั่วโมง 2.สนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลและการก้าวเป็นศูนย์ข้อมูลแห่งอาเซียน 3.เสริมสร้างประสิทธิภาพและความพร้อม (Availability) ในศูนย์ข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือ (Data Center) ของประเทศไทย ทั้งในด้านความคุ้มค่าของการลงทุน (Cost Efficiency)ความไว้วางใจได้ (Reliability) และในด้านความมั่นคงปลอดภัยของระบบข้อมูล (Security) 4.ช่วยประหยัดการใช้พลังงานได้มาก ซึ่งจะช่วยส่งผลดีให้ประเทศไทยได้รับคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) 5.เสริมสร้างศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจอุตสาหกรรมให้ก้าวหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืน และสุดท้าย 6.เป็นผลดีต่อประเทศไทยในการอ้างอิงมาตรฐานดาตาเซนเตอร์ เพื่อส่งเสริมและประเมินการดำเนินงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ

ขั้นตอนต่อไป ทางวสท. จะเริ่มใช้ระบบมาตรฐานดาตาเซนเตอร์แห่งชาติในเดือนธันวาคม 2558 ด้วยความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (National Electronics and Computer Technology Center : NECTEC หรือเนคเทค) ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ในการให้การรับรอง (Certification Body) กับผู้ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ และภาคเอกชน นอกจากนี้ วสท. จะดำเนินการเผยแพร่มาตรฐานและจัดอบรมให้ความรู้แก่วิศวกร สถาปนิกและบุคลากรไอซีที ผู้เกี่ยวข้องที่ทำหน้าที่ดูแลระบบข้อมูลคอมพิวเตอร์ด้วย