เนื้อหาวันที่ : 2015-11-19 16:29:19 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2537 views

เปิดตัว ศ.วิจัยดีเด่น-เมธีวิจัยอาวุโส สกว. สร้างสรรค์ผลงานต่อสังคมไทยและโลก

สกว.เปิดตัวผู้รับทุนศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น สกว. และเมธีวิจัยอาวุโส สกว. ประจำปี 2558 หวังเป็นแบบอย่างที่ดีแก่นักวิจัยรุ่นใหม่ อดีตรองนายกรัฐมนตรีแนะนักวิจัยต้องทำงานทั้งในเชิงลึกและเชิงกว้างเพื่อนำผลงานไปใช้ประโยชน์ต่อสังคมไทยและสังคมโลก

 

ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน เปิดตัวผู้รับทุนศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น สกว. และเมธีวิจัยอาวุโส สกว. ประจำปี 2558 โดยฝ่ายวิชาการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ณ โรงแรมเดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ ซึ่งจัดขึ้นเพื่อยกย่องให้เกียรตินักวิจัยที่ได้สร้างผลงานดีเด่นมาตลอดชีวิต เป็นที่ยอมรับทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ อีกทั้งมีจริยธรรมที่ดีเพื่อเป็นแบบอย่างแก่นักวิจัย มีพลังที่จะผลิตผลงานที่มีคุณภาพสูง ตลอดจนมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ที่มีความสามารถทางวิชาการสูงต่อไปอีกในอนาคต ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวจะทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ที่มีผลกระทบทางวิชาการสูง หรือมีศักยภาพสูงมากในการนำไปประยุกต์เพื่อให้เกิดผลในเชิงปฏิบัติ หรือสร้างผลกระทบต่อสังคมและประเทศชาติ

ศ.ดร.ยงยุทธ กล่าวระหว่างปาฐกถาพิเศษเรื่อง “สร้างสรรค์สังคมไทยด้วยงานวิจัยได้อย่างไร” ว่า สกว.ได้สร้างผลงานที่ดีงามเป็นประโยชน์ต่อสังคมและสร้างอนาคตให้กับประเทศ ทั้งการสนับสนุนทุนวิจัยและการสร้างคน ผู้รับรางวัลทุกท่านจะเป็นกำลังใจให้กับคนรุ่นใหม่ที่ดำเนินรอยตามและได้รับเกียรติเป็นเมธีวิจัยอาวุโส สกว. และศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น เพื่อสร้างเกียรติประวัติแก่ตนเองและกลุ่มงานวิจัยได้เช่นกัน ซึ่งหวังว่าช่วยกันจะสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ที่ต้นทางเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป ทั้งการมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ขับเคลื่อนให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง อย่างไรก็ตามอยากให้มองภาพรวมของสังคมไทยทั้งหมดและของโลก เพราะยังมีความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่งานวิจัยต่าง ๆ น่าจะช่วยได้ โดยต้องทำวิจัยในเชิงลึกให้รู้เรื่องใหม่ ๆ ที่ไม่มีใครรู้มาก่อน และเชิงกว้างว่าจะเป็นประโยชน์ต่อชาวไทยและชาวโลกอย่างไร จากประสบการณ์ในการทำงานวิจัยของตนคิดว่ายังมีสิ่งที่นักวิจัยน่าจะปรับปรุงได้ให้รู้กว้าง ทำอย่างไรจะช่วยให้สังคมโลกดีขึ้นได้ ตัวอย่างเช่น โรคที่โลกลืม อาทิ โรคปรสิต นักวิจัยต้องคิดถึงการรักษา ป้องกัน ราคา ความเป็นไปได้ และการใช้ประโยชน์ในประเทศกำลังพัฒนา เป็นต้น

ปีนี้เป็นปีสำคัญของการประกาศการพัฒนาที่ยั่งยืน มีการกำหนด Millennium Development Goals เพื่อเป็นแนวทางที่พยายามให้เกิดการพัฒนาอย่างทั่วถึงไปทั่วโลก ทั้งการลดความยากจน หิวโหย การเจ็บป่วย และมีการศึกษาที่ดี ซึ่งคิดว่านักวิจัยมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยให้ไปสู่จุดหมายนี้ได้ ตนอยากให้มองวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเหมือนสิ่งที่มีวิญญาณที่จะส่งพลังให้เราทำงานวิจัยได้เป็นอย่างดี มีประกายของวิญญาณจากความอยากรู้อยากเห็น อยากทำในวิชาชีพ ให้สามารถนำงานไปใช้ประโยชน์ได้ อย่างไรก็ตามนวัตกรรมเป็นจุดศูนย์กลางที่เราสามารถเดินต่อไปได้เพื่อพัฒนาสังคมโดยรวมและยั่งยืน ซึ่งเป็นปัญหาที่นักวิจัยทั้งหลายไม่ว่าระดับใดน่าจะต้องคิดในเชิงกว้าง ทั้งนี้จากการสังเกตการณ์ทำงานของเครือข่ายวิจัย พบว่าบางกลุ่มผู้นำมีความเข้มแข็งและควบคุมวินัยอย่างเคร่งครัด บางกลุ่มก็มีอิสระทางความคิดพูดคุยกันได้ แต่อยากให้ทุกกลุ่มมีหัวข้อหลักที่จะทำวิจัย และเกิดผลทั้งในเชิงลึกและเชิงกว้างที่ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง

ด้าน ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว. กล่าวว่า สกว.มีแผนยุทธศาสตร์ พ.ศ.2557-2560 เป็นกรอบแนวทางในการขับเคลื่อนองค์กรสู่ความท้าทายในทศวรรษที่ 3 โดยมีเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาระบบบริหารจัดการงานวิจัยของประเทศ และผลักดันให้ผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์มากยิ่งขึ้น เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกลไกการสร้างความรู้ในการพัฒนาประเทศอย่างมีพลวัต รวมทั้งมุ่งบูรณาการเพื่อตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ของชาติ ผ่านการสนับสนุนประเด็นวิจัยเชิงยุทธศาสตร์และการบริหารจัดการปลายทาง เพื่อให้ผลงานวิจัยได้นำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ ทั้งนี้การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและคุณภาพชีวิต รวมถึงความสามารถด้านการแข่งขันในยุคโลกาภิวัฒน์ และขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศรายได้สูง สามาถทำได้โดยการวิจัยและการสร้างนวัตกรรมที่เข้มแข็ง การสร้างนักวิจัยชั้นเยี่ยมจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อจะสร้างผลงานวิจัยที่โดดเด่นเป็นประโยชน์ต่อประเทศ

สกว.เล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าวจึงให้การสนับสนุนศาสตราจารย์ระดับแนวหน้าที่มีผลงานวิจัยระดับชาติและระดับนานาชาติให้สามารถพัฒนางานวิจัย และสร้างองค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง จึงได้ริเริ่มการสนับสนุนทุน ศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น ซึ่งเป็นทุนวิจัยระดับสูงสุดของ สกว. ขณะเดียวกันก็ได้สรรหานักวิจัยชั้นนำที่มีความสามารถ มีผลงานดีเด่นเป็นที่ยอมรับทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ  เปี่ยมด้วยคุณธรรมจริยธรรม ให้รับทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยโดยยกย่องให้เป็น เมธีวิจัยอาวุโส สกว. เพื่อสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ พร้อมกับการผลิตผลงานวิจัยที่มีคุณภาพสูงในมาตรฐานระดับนานาชาติ

ผู้รับทุนเมธีวิจัยอาวุโส สกว. ประจำปี 2558 ประกอบด้วย

  1. ศ.ดร.วันชัย มาลีวงษ์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (สาขาปรสิตวิทยา)
  2. ศ.ดร.ศุภยางค์ วรวุฒิคุณชัย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (สาขาจุลชีววิทยาการแพทย์)
  3. ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สาขาชีววิทยา)
  4. ศ.ดร.อัญชลี ทัศนาขจร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สาขาชีวเคมี)
  5. ศ.ดร.สายสมร ลำยอง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (สาขาจุลชีววิทยาทางการเกษตร)
  6. ศ.ดร.สนั่น จอกลอย มหาวิทยาลัยขอนแก่น (สาขาพืชไร่)
  7. ศ.ดร.อนุวัฒน์ ศิริวัฒน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สาขาวิทยาศาสตร์พอลิเมอร์)
  8. ศ.ดร.สักกมน เทพหัสดิน ณ อยุธยา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (สาขาวิศวกรรมอาหาร)
  9. ศ.ดร.เสมอชัย พูลสุวรรณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (สาขามานุษยวิทยา)
  10. ศ.ดร.บุษบา กนกศิลปธรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร (สาขาภาษาอังกฤษ)

ผู้รับทุนศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น ประจำปี 2558 ประกอบด้วย

  1. ศ.ดร.สุทธวัฒน์ เบญจกุล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหาร)
  2. ศ.ดร.สุทธิชัย อัสสะบำรุงรัตน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สาขาวิศวกรรมเคมี)
  3. ศ.ดร.สมทรง บุรุษพัฒน์ มหาวิทยาลัยมหิดล (สาขาภาษาศาสตร์)