เนื้อหาวันที่ : 2015-11-13 09:08:26 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1462 views

บริษัทยักษ์ใหญ่ยางพาราจีนหวังทำวิจัยร่วม สกว.

บริษัทยางพารายักษ์ใหญ่อันดับหนึ่งของจีนชวน สกว. ทำวิจัยร่วมกัน ชี้รัฐบาลไทยควรมีนโยบายส่งเสริมผลักดันการสร้างองค์ความรู้และพัฒนาบุคลากร รวมถึงแก้ปัญหาทั้งระบบ เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยางพาราอย่างยั่งยืน

 

ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว. พร้อมคณะผู้บริหาร สกว. ให้การต้อนรับ นายจาง ยาน ประธานบริษัท รับเบอร์ วัลเลย์ จำกัด และคณะจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเดินทางมาเยี่ยมชมและรับฟังผลการดำเนินงานของ สกว. โดยเฉพาะการสนับสนุนทุนวิจัยมุ่งเป้ายางพาราภายใต้การสนับสนุนของ คอบช. และหารือถึงแนวทางการทำวิจัยร่วมกันระหว่างสองหน่วยงาน ในฐานะที่ สกว.ได้ให้การสนับสนุนทุนวิจัยเกี่ยวกับยางพาราตั้งแต่การวิจัยพื้นฐานจนถึงการสร้างผลิตภัณฑ์มายาวนานถึง 12 ปี เนื่องจากเห็นความสำคัญของยางพาราที่เป็นสินค้าเกษตรสำคัญของประเทศไทย

 

นายจาง ยาน ประธานบริษัท รับเบอร์ วัลเลย์ จำกัด

ประธานบริษัท รับเบอร์ วัลเลย์ จำกัด กล่าวว่า ในช่วงสิบปีที่ผ่านมามวลรวมของอุตสาหกรรมยางพาราได้รับการพัฒนายางเป็นระบบจนก้าวเป็นอันดับ 1 ของจีน ทั้งนี้ยางพาราเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานของประเทศที่นำมาพัฒนาสาธารณูปโภคและอุตสาหกรรมอื่น ๆ จึงมั่นใจว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับงานวิจัยยางพาราและได้หารือกับนายกรัฐมนตรีของไทยเรื่องข้อมูลการพัฒนาประเทศโดยใช้ยางพาราเป็นพื้นฐาน และจำเป็นต้องพัฒนาทั้งระบบตั้งแต่ภาคเกษตรกรรมจนถึงภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้บริษัทยังได้พัฒนาองค์ความรู้อย่างครบครัน และพร้อมที่จะแบ่งปันให้กับประเทศไทย ในอนาคตระบบการนำเข้าและส่งออกยางพาราจะต้องใช้ระบบอินเตอร์เน็ต และพึ่งพาบุคลากรที่มีความรู้พื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

อย่างไรก็ตามปัญหาราคายางพารานับเป็นอุปสรรคสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ จึงอยากให้มีการราคาซื้อขายและปริมาณความต้องการที่เหมาะสมตามสภาพความเป็นจริง ทั้งนี้ระบบทุนนิยมสร้างปัญหาให้กับเกษตรกร จึงต้องช่วยกันปรับเปลี่ยนทัศนคติ รัฐบาลไทยควรมีนโยบายที่ดีในการส่งเสริมผลักดันให้เกิดการสร้างองค์ความรู้ พัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถในการผลิตและทำวิจัยเกี่ยวกับยางพารา รวมถึงสร้างความเข้าใจแก่สังคม ตนคาดหวังสูงว่าจะมีการแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องและพัฒนาระบบที่สมบูรณ์แบบตลอดทั้งห่วงโซ่ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมยางพารา