เนื้อหาวันที่ : 2015-11-05 09:19:10 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1742 views

ปลัด ก.วิทย์ฯ ประชุม ASEAN COST ครั้งที่ 70 ณ สปป.ลาว ผลักดันให้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม พัฒนาเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิต รับ AEC

รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายไทย (COST) เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ASEAN Committee on Science and Technology: COST) ครั้งที่ 70 ณ กรุงเวียงจันทน์ สาธาณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยมี นายหุมพัน อินธะราช ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่ากระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่ง สปป.ลาว เป็นประธานการประชุมฯ พร้อมด้วยมีหัวหน้าคณะผู้แทนประเทศสมาชิกอาเซียนที่รับผิดชอบงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และผู้แทนสำนักเลขาธิการอาเซียน เข้าร่วม

สรุปประเด็นท่าทีของประเทศไทยในการประชุม ASEAN COST ครั้งที่ 70 ประกอบด้วย

1. สรุปร่างแผนปฏิบัติการอาเซียนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Finalization of Draft APASTI 2016-2025) โดยที่ประชุมคณะที่ปรึกษาด้านแผนปฏิบัติการอาเซียนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ABAPAST) เห็นชอบในร่างแผนปฏิบัติการอาเซียนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (APASTI ASEAN SEC version) โดยจะนำเสนอในประชุม ASEAN COST เพื่อขอการรับรองต่อไป และกำหนดให้รวมคณะที่ปรึกษาด้านแผนปฏิบัติการอาเซียนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Advisory Body of ASEAN Plan of Action on Science and Technology : ABAPAST) กับคณะที่ปรึกษาด้านกองทุนวิทยาศาสตร์อาเซียน(Advisory Body of ASEAN Science Fund: ABASF) ไว้ด้วยกัน โดยจะหารือในการประชุม ASEAN COST เพื่อกำหนดชื่อต่อไป ทั้งนี้ให้คณะอนุกรรมการอาเซียนว่าด้วยการพัฒนาทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดทำแผนการดำเนินงานเพื่อนำเสนอที่ประชุมในครั้งต่อไป โดยประเทศไทยได้เสนอเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดมสมองว่าด้วยการพัฒนาทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Sub-Committee on Science and Technology Infrastructure and Resources Development: SCIRD) ในช่วงเดือนมกราคม2559 เห็นชอบให้จ่ายเงินงวดสุดท้ายให้แก่ที่ปรึกษา ในการนี้ สำนักเลขาธิการอาเซียนจะประสานกับกลุ่มบริการสาธารณะ กำหนดรูปแบบการตีพิมพ์แผนปฏิบัติการอาเซียนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (APASTI) ภายในงบประมาณไม่เกิน $10,000 ซึ่งสำนักเลขาธิการอาเซียน จะจัดทำรูปแบบของเล่มมาเสนอต่อที่ประชุม

2. การทำงานร่วมกันระหว่างคณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยคณะผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรวิทยา (The Expert Group on Metrology: EGM) ที่มีสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ ประเทศไทย เป็นประธาน และคณะกรรมการที่ปรึกษาเกี่ยวกับมาตรฐานและคุณภาพ (ASEAN Consultative Committee on Standards and Quality) (ACCSQ) เพื่อจัดทำแผนที่นำทางและแผนการดำเนินงานโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ ด้านมาตรวิทยา (Roadmap and Implementation Plan for scientific metrology in quality infrastructure) พร้อมกับเสนอต่อ คณะอนุกรรมการอาเซียนว่าด้วยการพัฒนาทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Science and Technology Infrastructure and Resources Development) (SCIRD) ซึ่งที่ประชุมรับทราบผลการเข้าร่วมประชุม ASEAN Consultative Committee on Standard and Quality (ACCSQ) Strategic and Planning Session เมื่อวันที่ 7-8 กันยายน 2558 ณ กรุงเทพฯ โดยประเทศไทยขอให้สำนักเลขาธิการอาเซียนประสานงานอย่างเป็นทางการไปที่ ACCSQ เรื่องการทำงานร่วมกันในลักษณะของ Cross cutting และกำหนดจัด Workshop on Quality Infrastructure for Innovative and Competitive AEC ระหว่างวันที่ 14-15 ธันวาคม 2558 ณ ประเทศไทย

3. กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) เสนอเรื่องการรับรองบุคลากรวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของอาเซียน (ASEAN Certification for Personnel on Science and Technology) ต่อคณะอนุกรรมการอาเซียนว่าด้วยการพัฒนาทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Science and Technology Infrastructure and Resources Development) (SCIRD) โดยที่ประชุมรับทราบการเสนอชื่อผู้แทนจากประเทศสมาชิกเพื่อเข้าร่วมในหน่วยเฉพาะกิจ ซึ่งขณะนี้มีประเทศที่เข้าร่วมแล้ว ได้แก่ มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ โดย พร้อมขอให้ประเทศสมาชิกอื่นๆ เสนอชื่อผู้แทน และรายละเอียดต่อไป

4. การเสนอโครงการ Crowd Funding ต่อคณะอนุกรรมการอาเซียนว่าด้วยการพัฒนาทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Science and Technology Infrastructure and Resources Development) (SCIRD) ที่ประชุมเห็นชอบข้อเสนอของโครงการ และให้นำเข้าพิจารณาในการประชุมคณะที่ปรึกษาด้านกองทุนวิทยาศาสตร์อาเซียน (Advisory Body of ASEAN Science Fund: ABASF) ซึ่ง ABASF เห็นชอบให้การสนับสนุนการจัดกิจกรรม Crowd Funding โดยจะได้นำเสนอต่อคณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่ออนุมัติต่อไป ทั้งนี้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (พว.) มีกำหนดจะจัด Workshop back to back กับการประชุม ASEAN COST ครั้งต่อไป

5. สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ได้นำเสนอรายงานผลการสำรวจข้อมูลการเคลื่อนย้ายบุคลากรในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ต่อคณะที่ปรึกษาด้านแผนปฏิบัติการอาเซียนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ABAPAST) โดยที่ประชุมเห็นว่า ประเด็นนี้สามารถผนวกเข้าเป็นแผนการดำเนินงานใน แผนปฏิบัติการอาเซียนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (APASTI) ได้ และได้เสนอ ASEAN Talent Mibility Platform เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อขอความเห็นชอบต่อไป

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้เสนอหัวข้ออื่นๆ ในที่ประชุม อาทิ หน่วยงานกำกับดูแลเกี่ยวกับพลังงานปรมาณูของอาเซียน (Introduction to the ASEAN Network of Regulatory Bodies on Atomic Energy (ASEANTOMS) โดยสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) และระบบการจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศความยืดหยุ่นและการป้องกันภัยพิบัติ (ASEAN S&T Networking Group on Water Resource Management System for Climate Change Resilience and Disaster Prevention) โดยสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) (สสนก.)

ทั้งนี้ ผลการประชุมภาพรวมใน ASEAN COST ครั้งที่ 70 จะมีการนำเสนอในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนว่าด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 16 (AMMST-16) ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2558 ณ กรุงเวียงจันทน์ สปป.ลาว ซึ่ง ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะเข้าร่วมประชุมดังกล่าว