เนื้อหาวันที่ : 2015-11-04 15:45:54 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1620 views

การยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย โดย Fitch Ratings

สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะขอรายงานผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยโดยบริษัท Fitch Ratings (Fitch) ว่า เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2558 เวลา 15.30 น. (เวลาประเทศไทย) Fitch ได้ยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือของหนี้ระยะยาวและระยะสั้นสกุลเงินต่างประเทศของรัฐบาล (Long-term and Short-term Foreign Currency Issuer Default Rating) ที่ BBB+ และ F2 ตามลำดับ รวมทั้งยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือของหนี้ระยะยาวสกุลเงินบาทของรัฐบาล (Long-term Local Currency Issuer Default Rating) ที่ A- และคงสถานะมุมมองความน่าเชื่อถือหนี้ระยะยาวของรัฐบาลในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) พร้อมทั้งยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรไม่มีหลักประกันไม่ด้อยสิทธิสกุลเงินต่างประเทศและสกุลเงินบาท (Senior Unsecured Foreign and Local Currency Bonds) ที่ระดับ BBB+ และ A- ตามลำดับ และเพดานอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ (Country Ceiling) ที่ระดับ A- ดังตาราง


ตารางแสดงผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยโดย Fitch ณ วันที่ 2 พฤศจิกายน 2558

อันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยโดย Fitch Ratings    สถานะ    Outlook
อันดับความน่าเชื่อถือของหนี้ต่างประเทศของรัฐบาล         
ระยะยาว (Foreign Currency Long-Term IDR)    BBB+    Stable
ระยะสั้น (Foreign Currency Short-Term IDR)    F2    -
อันดับความน่าเชื่อถือของหนี้เงินบาทของรัฐบาล        
ระยะยาว (Local Currency Long-Term IDR)    A-    Stable
อันดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรไม่มีหลักประกันไม่ด้อยสิทธิ        
สกุลเงินต่างประเทศ (Senior Unsecured Foreign Currency Bonds)    BBB+    -
สกุลเงินบาท (Senior Unsecured Local Currency Bonds)    A-    -
เพดานอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ (Country Ceiling)    A-    -

1. ปัจจัยหลักที่มีอิทธิพลต่อการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ
1.1 สถานะทางการคลังภาครัฐและภาคต่างประเทศนับเป็นจุดแข็งที่ชัดเจนของประเทศไทย รวมถึงเศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วหลังจากการเผชิญเหตุการณ์ไม่คาดคิดที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง  อย่างไรก็ดี Fitch เห็นว่า เศรษฐกิจไทยจะยังคงขยายตัวได้ในอัตราที่ต่ำกว่าศักยภาพที่มี นอกจากนี้
การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเป็นสังคมผู้สูงอายุ ความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกที่ลดลง และหนี้ภาคเอกชนที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อีกทั้งการแบ่งแยกทางการเมือง
และทางสังคมที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขยังส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ
1.2 การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยหลังจากรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 (หลังจากที่การชุมนุมทางการเมืองติดต่อกันหลายเดือนส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก) ยังไม่สดใสเมื่อเทียบกับที่ Fitch ได้คาดการณ์ไว้ โดย Fitch ปรับลดการคาดการณ์อัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในปี 2558 จากร้อยละ 3.5 ในรายงานครั้งก่อนหน้า เหลือร้อยละ 2.7 และแม้ว่าภาคการท่องเที่ยวจะอยู่ในสถานะดีอย่างเห็นได้ชัด แต่อุปสงค์ทั่วโลกที่อ่อนแอลงและความเชื่อมั่นของภาคเอกชนที่อยู่ในระดับต่ำทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง ทั้งนี้ Fitch คาดว่า เศรษฐกิจในปี 2559 จะขยายตัวที่ร้อยละ 3.4 ภายใต้สมมติฐานว่า การลงทุนภาครัฐที่เพิ่มสูงขึ้นจะช่วยฟื้นฟูความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและสนับสนุนการเติบโตของการลงทุนภาคเอกชน
1.3 สถานะทางการคลังของประเทศไทยยังคงเป็นปัจจัยที่แข็งแกร่งในการจัดอันดับความน่าเชื่อถือแม้ว่าเศรษฐกิจจะเติบโตได้ต่ำกว่าศักยภาพที่มี โดยสัดส่วนการขาดดุลงบประมาณต่อ GDP ของปี 2557 ได้ถูกปรับลดลงจากร้อยละ 1.8 เป็นร้อยละ 0.8 เนื่องจากการใช้จ่ายภาครัฐที่ลดลง รวมทั้งมีการปรับลดสัดส่วนหนี้ของรัฐบาลต่อ GDP จากร้อยละ 33 เหลือร้อยละ 30 ในปี 2557 ซึ่งเป็นผลจากการที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปรับปรุงวิธีการคำนวณ GDP จากแบบมูลค่า ณ ราคาประจำปีเป็นแบบปริมาณลูกโซ่ (Chain Volume Measures) ย้อนหลังไปถึงปี 2536 เพื่อให้ครอบคลุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้นซึ่งทำให้ระดับ GDP เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 8  ในปี 2557 ทั้งนี้ Fitch คาดว่า รัฐบาลจะมีการขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นในอนาคตจากการลงทุนภาครัฐที่เพิ่มขึ้น แต่ระดับหนี้ของรัฐบาลต่อ GDP จะยังคงอยู่ในระดับที่มั่นคงและต่ำกว่าค่ากลางของกลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือระดับ BBB (ค่ากลางของกลุ่มประเทศ BBB อยู่ที่ร้อยละ 42 ของ GDP)
1.4 ด้านต่างประเทศปรับตัวดีขึ้นจากรายได้ของการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวขึ้น โดยจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว นอกจากนี้ การลดลงของราคาน้ำมันส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าลดลง ถึงแม้ว่า ราคาของผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและผลผลิตทางการเกษตรที่ลดลงจะส่งผลให้การส่งออกสุทธิลดลงเช่นกัน  รวมถึงเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูงมากเมื่อเทียบกับมูลค่าการนำเข้า และสูงกว่าค่ากลางของกลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือระดับ BBB และ A ซึ่งช่วยป้องกันผลกระทบจากความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนในช่วงสั้นๆ ได้
1.5 สัดส่วนหนี้ภาคเอกชนที่อยู่ในระดับสูงได้จำกัดการบริโภคของภาคเอกชนและเพิ่มความเสี่ยงของระบบเศรษฐกิจต่อเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด ปัจจุบันหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงกว่าร้อยละ 80 ของ GDP ได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วอันเป็นผลจากมาตรการรถยนต์คันแรกของรัฐบาลในปี 2554 – 2555
ซึ่งการขยายตัวของสินเชื่อได้ชะลอตัวลงหลังจากนั้น แต่สัดส่วนหนี้ภาคครัวเรือนต่อ GDP กลับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในขณะที่เศรษฐกิจถดถอยลง ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่องอาจเป็นอุปสรรคในการทำให้ระดับหนี้ลดลงและส่งผลให้การฟื้นตัวของการบริโภคชะลอออกไป
1.6 คุณภาพสินทรัพย์ทยอยเสื่อมถอยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสินเชื่อรถยนต์ของกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อย รวมถึงการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทในเครือของบริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) เมื่อเดือนตุลาคม 2558 ได้ทำให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) เพิ่มสูงขึ้น โดย Fitch คาดว่า คุณภาพสินทรัพย์จะทยอยเสื่อมถอยลงต่อไปในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดยสาเหตุหลักมาจากการปล่อยสินเชื่อให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม อย่างไรก็ดี ระบบการธนาคารยังคงมีความยืดหยุ่นและมีเสถียรภาพ
ในมุมมองของ Fitch
1.7 สถานการณ์ทางการเมืองยังคงไม่แน่นอน โดยร่างรัฐธรรมนูญที่ได้กำหนดช่วงเวลาให้จัดการเลือกตั้งทั่วไปภายในปลายปี 2559 ไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ ทั้งนี้ Fitch คาดว่า จะยังไม่มีการเลือกตั้งทั่วไปจนกว่าปี 2560 โดยความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งด้านเงื่อนไขและระยะเวลาในการที่จะกลับสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยอาจส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
และก่อให้เกิดความตึงเครียดทางการเมืองขึ้นได้

2. พัฒนาการในด้านต่างๆ ที่อาจส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่ม/ลดอันดับความน่าเชื่อถือ มีดังนี้
2.1 พัฒนาการในอนาคตที่จะส่งผลเชิงลบต่ออันดับความน่าเชื่อถือ
(1) อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องไปพร้อมกับความไม่สมดุลด้านเศรษฐกิจมหภาค เช่น ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง
(2) ภาระผูกพันที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต (Contingent Liabilities) จากหนี้ของภาครัฐที่เพิ่มขึ้นและการก่อหนี้ของภาคเอกชนที่อยู่ในระดับสูงจนส่งผลกระทบต่องบดุลของประเทศ
2.2 พัฒนาการในอนาคตที่จะส่งผลเชิงบวกต่ออันดับความน่าเชื่อถือ
(1) มีการปรับปรุงตัวชี้วัดด้านธรรมาภิบาลและพัฒนาการต่างๆ ให้ดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การบรรเทาความตึงเครียดทางการเมืองและสังคม
(2) เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องและดีกว่าระดับที่ Fitch คาดการณ์


ที่มา : กระทรวงการคลัง