เนื้อหาวันที่ : 2007-07-19 10:45:08 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1703 views

เงินบาทแข็งค่า ส่งออกระส่ำผู้ประกอบการทิ้งออร์เดอร์เพียบ

กรณีการแข็งค่าของเงินบาทส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของประเทศอย่างหนักในขณะนี้ ภาคส่งออกใกล้อัมพาต ส่วนใหญ่ไม่กล้ารับคำสั่งซื้อ(ออเดอร์) หลายอุตสาหกรรมไม่สามารถแบกรับภาระการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ เตรียมทยอยปิดกิจการลงเป็นจำนวนมาก

บาทแข็งค่าส่งผลกระทบภาคการส่งออกอย่างหนักขั้นเป็นอัมพาต ส่วนใหญ่ไม่กล้ารับคำสั่งซื้อ(ออเดอร์)ใหม่ หลายอุตสาหกรรมที่ไม่สามารถแบกรับภาระการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ทยอยปิดกิจการลงเป็นจำนวนมาก

.

กรณีการแข็งค่าของเงินบาทที่ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของประเทศอย่างหนักในขณะนี้ ได้มีผู้ประกอบการหลายรายในหลายอุตสาหกรรมที่ไม่สามารถแบกรับภาระการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ทยอยปิดกิจการลงเป็นจำนวนมาก ภาวะดังกล่าวทำให้ภาคเอกชนได้ออกมารวมพลเพื่อกดดันธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ให้เร่งออกมาตรการสกัดการแข็งค่าของเงินบาทโดยเร็ว เนื่องจากเวลานี้ถือได้ว่าภาคส่งออกของไทยอยู่ในขั้นใกล้เป็นอัมพาต ซึ่งผู้ส่งออกส่วนใหญ่ไม่กล้ารับคำสั่งซื้อ(ออเดอร์)ใหม่ในช่วงครึ่งปีหลัง

.

นายธำรง ธิติประเสริฐ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมรองเท้า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า การแข็งค่าของเงินบาทที่ยังมีความผันผวน และมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นไปอีก ส่งผลให้ผู้ผลิตและส่งออกรองเท้าในภาพรวมได้ชะลอและใช้ความระมัดระวังในการรับออเดอร์ใหม่ในช่วงครึ่งปีหลังกันมากขึ้น ซึ่งหากต่อรองราคากันแล้วเห็นว่าไม่คุ้มและเสี่ยงขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนก็จะไม่รับออเดอร์ ส่วนในออเดอร์ที่ยังพอมีกำไรก็จะรับเท่าที่จำเป็นเพื่อให้มีเงินทุนมาหมุนเวียนในการทำธุรกิจและเลี้ยงคนงาน

.

"สภาพที่เกิดขึ้นขณะนี้คือผู้ผลิตและส่งออกรองเท้าที่เป็นสมาชิกของสภาอุตฯซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ 36 ราย คิดเป็นสัดส่วนการส่งออกกว่า 80% ของการส่งออกรองเท้าในภาพรวมได้ชะลอรับออเดอร์ หรือทิ้งบางออเดอร์ที่พิจารณาแล้วเห็นว่ารับไปก็ขาดทุน ส่งผลให้ลูกค้าได้หันไปนำเข้าจากจีน เวียดนาม และอินโดนีเซียคู่แข่งสำคัญที่ค่าเงินเขาไม่ได้แข็งค่าเหมือนเราแทน ผลจากเงินบาทแข็งค่าคาดปีนี้ไทยจะส่งออกรองเท้าประมาณ 32,000 ล้านบาทใกล้เคียงกับปีที่แล้ว หรืออาจขยายตัวลดลงจากเป้าเล็กน้อย"

.

เช่นเดียวกับนายวัลลภ วิตนากร เลขาธิการสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย ที่เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการทุกรายได้ใช้ความระมัดระวังในการรับออเดอร์ช่วงครึ่งปีหลังมากขึ้น หากไม่คุ้มก็จะไม่รับออเดอร์ ในภาพรวมของผู้ผลิตเครื่องนุ่งห่มรายใหญ่ยังมีออเดอร์เข้ามาเรื่อยๆ แต่ก็มีบางออเดอร์ที่บางครั้งไม่สามารถตกลงราคากันได้ลูกค้าก็จะหันไปสั่งซื้อจากจีน และเวียดนามแทน

.

"ที่น่าห่วงคือผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับออเดอร์เข้ามาค่อนข้างน้อย แถมบางรายเจอลูกค้าขาจรหากเจรจาตกลงราคากันแล้วปรากฎว่าไม่มีโอกาสที่จะได้รับออเดอร์ในครั้งต่อๆไปก็จะไม่รับ พอมาเจอค่าเงินบาท แข็งค่าขึ้นเรื่อยๆถือเป็นตัวเร่งให้เขาต้องปิดกิจการเร็วขึ้น โดย ณเวลานี้สมาชิกสมาคมที่มีอยู่ประมาณ 500 รายได้เลิกกิจการไปแล้วประมาณ 20 ราย โดยมีสาเหตุหลักจากไม่สามารถปรับตัวแข่งขันได้ และค่าเงินบาทเป็นปัจจัยที่ซ้ำเติม คาดสิ้นปีนี้การส่งออกเครื่องุน่งห่มจะไม่ขยายตัวจากปีที่ผ่านมา"

.

นายมานะผล ภู่สมบุญ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ ส.อ.ท. กล่าวว่า การแข็งค่าของเงินบาทมีผลให้ผุ้ผลิตและส่งออกฟอร์นิเจอร์บางรายได้เจรจากับลูกค้าที่ได้ลงออเดอร์แล้วเพื่อต่อรองขอลดจำนวนผลิตส่งมอบ เพราะหากผลิตส่งมอบตามจำนวนจะยิ่งขาดทุนมากขึ้น โดยยอมจ่ายเป็นค่าปรับแทน ซึ่งมีจำนวนหลายรายแต่ไม่เป็นที่เปิดเผยเพราะกลัวถูกแบงก์เพ่งเล็ง

.

ส่วนการรับออเดอร์ครึ่งปีหลังในภาพรวมสินค้าเฟอร์นิเจอร์ยังมีเข้ามาเรื่อยๆ แต่หากเสี่ยงขาดทุนก็จะไม่รับออเดอร์ สำหรับการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ภาพรวมของปีนี้คาดในรูปเงินบาทอาจจะไม่ขยายตัวจากปีที่ผ่านมา ส่วนรูปดอลลาร์สหรัฐเบื้องต้นทางสมาคมคาดว่าจะขยายตัวระหว่าง 3-5% จากปี 2549 ที่ส่งออกมูลค่าประมาณ 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 42,000 ล้านบาท (คำนวณที่ 35 บาท/ดอลลาร์)

.

นายชาญณรงค์ บุญรัตนกรกิจ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง ส.อ.ท. กล่าวว่า เงินบาทที่แข็งค่าทำให้สมาชิกของสมาคมที่มีอยู่ประมาณ 440 บริษัท คนงานกว่า 500,000คนได้รับผลกระทบในการรับออเดอร์ใหม่ในครึ่งปีหลังอย่างมาก เพราะหากขายในราคาที่สูงขึ้นตามอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าจะทำให้สูญเสียลูกค้าให้กับผู้ผลิตของจีน และเวียดนามซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญซึ่งสินค้ามีราคาถูกกว่าไทย ขณะที่ออเดอร์เก่าที่ซื้อขายล่วงหน้าก็เสี่ยงขาดทุนจากค่าเงินบาท ดังนั้นการรับออเดอร์ใหม่จึงรับในปริมาณและราคาที่ไม่เจ็บตัว หากไม่คุ้มก็จะไม่รับหรือทิ้งออเดอร์ไปเลย

.

อย่างไรก็ตามจากผลกระทบค่าเงินบาทคาดในปี 2550 การส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องหนังของไทยจะขยายตัวลดลงในรูปเงินบาทประมาณ 3% จากปีที่แล้วส่งออกมูลค่า 60,000 ล้านบาท

.

นายณัฐ อ่อนศรี อุปนายกและประธานกลุ่มผู้ผลิตปลาทูน่า สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า ผู้ส่งออกทูน่าของไทยในภาพรวมไม่กล้ารับออเดอร์ใหม่เพราะเสี่ยงขาดทุน สืบเนื่องจากสองเหตุผลหลักคือ หนึ่ง วัตถุดิบขาดแคลนและมีราคาสูง ล่าสุดอยู่ที่ 1,460 ดอลลาร์สหรัฐ/ตันสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และสอง เงินบาทที่แข็งค่าและผันผวนมาก สำหรับในรายที่ยังผลิตเพื่อส่งมอบลูกค้าเดิมที่ทำสัญญาซื้อขายระยะยาวกันไปแล้ว ส่วนออเดอร์ใหม่ในรายที่ยังกล้ารับจะมีการต่อรองราคากับลูกค้าว่ารับได้หรือไม่ และดูว่าจะมีวัตถุดิบป้อนเพียงพอหรือไม่ด้วย

.

ขณะที่นายบุญหาญ อู่อุดมยิ่ง ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง ส.อ.ท. กล่าวว่า เวลานี้ผู้ส่งออกยางและผลิตภัณฑ์ไม่กล้ารับออเดอร์ระยะยาวเพราะเสี่ยงขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน แต่จะรับออเดอร์สั้นๆ แบบเดือนต่อเดือน ซึ่งขณะนี้ยังโชคดีที่ผลผลิตยางธรรมชาติในประเทศมีออกมาค่อนข้างมาก ทำให้ผู้ส่งออกซื้อได้ในราคาที่ถูกลงทำให้ช่วยลดผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ระยะหนึ่ง

.

"ออเดอร์สั่งซื้อผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติจากต่างประเทศทั้งน้ำยางข้น ยางแท่ง ยางแผ่น ล้อยาง หรือถุงมือยางล่วงหน้า ส่งมอบ 2-3 เดือนเหมือนเมื่อก่อนเวลานี้เราไม่รับเลย แต่จะรับและโค้ดราคาแบบเดือนต่อเดือนเพื่อไม่ให้เจ็บตัวมากจากอัตราแลกเปลี่ยน โดยในปีนี้เราตั้งเป้าส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง 120,000-130,000 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่ส่งออกประมาณ 110,000 บาท แต่หากเงินบาทอ่อนค่าเราจะส่งออกได้มูลค่ามากกว่านี้ หลักๆเป็นเพราะจีนยังมีความต้องการนำเข้าผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติจากเราเป็นจำนวนมากเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์ที่กำลังขยายตัว"

.

อนึ่ง จากปัญหาเงินบาทแข็งค่าและส่งผลต่อการรับออเดอร์ของผู้ส่งออกในครึ่งปีหลัง ภาคเอกชนต่างจับตามองมาตรการสกัดการแข็งค่าของเงินบาทที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ที่กำลังจะประกาศออกมาว่าได้ผลมากน้อยเพียงใด เพื่อจะได้กำหนดทิศทางธุรกิจรวมถึงการรับออเดอร์ในครึ่งปีหลังต่อไป

.

ก่อนหน้านี้ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดการณ์การส่งออกไตรมาสที่3 และไตรมาสที่4 จะขยายตัวลดลง โดยไตรมาส 3 ขยายตัว 9.10% ไตรมาส4ขยายตัว 3.37% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา ขณะที่ไตรมาส1 และไตรมาส2ขยายตัว 17.82% และ19.69% ตามลำดับ สาเหตุเนื่องจากค่าเงินบาทแข็ง ผู้ส่งออกปรับขึ้นราคาสินค้า

.

ขณะที่นายเกริกไกร จีระแพทย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังการประชุมร่วมกับภาคเอกชน เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ที่ผ่านมาว่า ภาพรวมการส่งออกในปีนี้จะเป็นไปตามเป้าหมาย คือขยายตัว 12.5% มูลค่า 145,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่แสดงความเป็นห่วงค่าเงินบาทแข็ง ซึ่งภาครัฐและเอกชนจะได้ร่วมมือกันแก้ไขต่อไป

.

ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ