เนื้อหาวันที่ : 2015-10-28 23:20:10 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3031 views

กระทรวงวิทย์ฯ ร่วมจัดแสดงผลงานเทคโนโลยีและนวัตกรรม ในงาน “World Sugar Expo and Conference 2015”

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) โดยสำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สป.วท.) ร่วมจัดนิทรรศการแสดงผลงานเทคโนโลยีและนวัตกรรม ในงาน “World Sugar Expo and Conference 2015” ระหว่างวันที่ 28 - 29 ตุลาคม 2558 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ซึ่งเป็นการจัดแสดงผลงานเทคโนโลยีและนวัตกรรมของ วท. ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม อ้อย น้ำตาล และพลังงานชีวภาพ หลากหลายรายการ เช่น รถตัดอ้อย รถม้วนใบอ้อยเพื่อผลิตพลังงานชีวมวล เป็นต้น อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดการขยายผลสู่เชิงพาณิชย์ภายในงานระดับนานาชาติเพื่อเผยแพร่สู่สาธารณะชนในวงกว้าง ต่อไป

“World Sugar Expo and Conference 2015” เป็นงานแสดงสินค้าและเทคโนโลยีน้ำตาลระดับนานาชาติที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี และมีกิจกรรมการจัดประชุมด้านเทคโนโลยีระหว่างประเทศของ บริษัท น้ำตาลและอุตสาหกรรม  สำหรับ วท. ได้มีบทบาทในการให้การสนับสนุนพัฒนาเทคโนโลยี เพื่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยเน้นการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในตลาดนานาชาติ

นิทรรศการผลงานเทคโนโลยีและนวัตกรรม ของหน่วยงานในสังกัด วท. ประกอบด้วย สารอ้างอิงมาตรฐานความหวานสำหรับอุตสาหกรรมน้ำตาล ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลทรายที่ต้องทดสอบเพื่อหาค่าความหวาน ซึ่งต้องใช้การวัดค่า Pol หรือ Polarization และค่า Brix ด้วยเครื่อง Polarimeter และ Refractometer โดยการสอบเทียบเครื่องมือดังกล่าวต้องอาศัยวัสดุอ้างอิงที่ได้มาตรฐานและสามารถสอบกลับค่าที่ได้ไปยังหน่วยวัดพื้นฐาน โดยวัสดุอ้างอิงของคนไทยที่มีคุณภาพมาตรฐานสากล ราคาถูก ลดการนำเข้า ภายใต้แบรด์น “TRM : Thailand Reference Material” ผลิตและการันตีคุณภาพ โดย สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.)

ผลิตภัณฑ์น้ำตาลเพื่อสุขภาพ “พาลาทีน” และผลิตภัณฑ์น้ำเชื่อมพรีไบโอติก “โอลิโกไลท์” ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) เป็นผลิตภัณฑ์น้ำตาลที่ผลิตจากน้ำตาลฟรุกโตโอลิโกแซ็กคาไรด์ (Fructo-Oligosaccharides) จำหน่ายภายใต้ชื่อ “โอลิโกไลท์” (OligoLite) และน้ำตาลไอโซมอลทูโลส (Isomaltulose) จำหน่ายภายใต้ชื่อ “พาลาทีน” (Palatyne) เป็นทางเลือกใหม่ของความหวานที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ สำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด โดยผลิตภัณฑ์นี้สามารถเพิ่มคุณค่าให้กับอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมอาหาร และอาหารเพื่อสุขภาพ

นอกจากนี้ สป.วท. ได้นำรถตัดอ้อยเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว ที่มีประสิทธิภาพเทียบเท่าของต่างประเทศ และมีการติดตั้งระบบสมองกลฝังตัว เพื่อให้คนขับสามารถควบคุมรถได้อย่างมีประสิทธิภาพลดการสูญเสีย และป้องกันความผิดพลาดในการควบคุมรถ รถตัดอ้อยนี้ได้รับรางวัลเทคโนโลยีเครื่องจักรกลยอดเยี่ยมและรางวัลที่ 1 จากการประกวดรางวัลเทคโนโลยีเครื่องจักรกลยอดเยี่ยมประจำปี 2553 ต่อด้วย เครื่องเก็บม้วนก้อนใบอ้อย เป็นเครื่องที่สามารถนำเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้ผลิตสินค้าชนิดอื่น รวมถึงผลผลิตที่ได้จากเครื่องสามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตไฟฟ้าเพื่อลดการใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหินและลดการเผาอ้อยในไร่ ขจัดปัญหามลพิษทาง

อากาศในชุมชนชาวไร่อ้อย สร้างรายได้เพิ่มให้กับชุมชนจากมูลค่าใบอ้อยปีละประมาณ 20 – 200 ล้านบาท สร้างอาชีพให้แก่ผู้ผลิตและบำรุงรักษาเครื่องจักรกลการเกษตรในชุมชน โดยม้วนฟ่อนชีวมวลที่ได้จะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 60 ซม. ยาว 70 ซม. มีน้ำหนักเพียง 20-25 กก./ก้อน และมีกำลังการผลิตประมาณ 200 - 250 ก้อน/ชม. และสุดท้ายคือเครื่องตีย่อยและอัดเม็ดเชื้อเพลิงจากยอดและใบอ้อยแบบเคลื่อนที่เข้าไปในไร่ ซึ่งเป็นเครื่องจักรระดับชุมชนที่ได้รับการพัฒนาเทคโนโลยีภายใต้การสร้างเครื่องจักรต้นแบบ ด้วยกระบวนการวิศวกรรมสร้างสรรค์คุณค่า สามารถอัดเศษเหลือจากการเกษตรให้เป็นเชื้อเพลิงแท่งตะเกียบ (Biomass Pellet) ได้โดยตรง เพื่อนำเชื้อเพลิงไปใช้ในอุตสาหกรรมโดยหยุดการเผาทิ้ง ทดแทนพลังงานจากไม้ฟืน ถ่านหิน ก๊าซ และน้ำมันเตา ซึ่งสามารถเคลื่อนที่เข้าไปในไร่อ้อยได้สะดวก ทั้งยังลดค่าขนส่งชีวมวลจากไร่ถึงแหล่งรับซื้อ พร้อมทั้งยังมีกำลังการผลิตเม็ดเชื้อเพลิงชีวมวลประมาณ 200 - 300 กก./ชม.

 

ที่มา : สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี