เนื้อหาวันที่ : 2015-10-26 13:17:41 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2651 views

กพร. หนุนจัดการโลจิสติกส์ซัพพลายเชนชงปี 58 ลดต้นทุนโลจิสติกส์ทะลุเป้า 2,500 ล้านบาท

กพร. เดินหน้าโครงการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบ SMEs ประกาศความสำเร็จในการสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการไทยลดต้นทุนโลจิสติกส์ซัพพลายเชนราว 353 รายคิดเป็นมูลค่า 2,600 ล้านบาท และเสนอรัฐเพิ่มงบในการเสริมศักยภาพผู้ประกอบหวังจีดีพีภาพรวมขยาย ชูต้นแบบ “สามพรานโมเดล” จากโครงการสนับสนุนเชื่อมโยง SMEs เข้าสู่ระบบซัพพลายเชน

กพร. เดินหน้าโครงการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบ SMEs   ประกาศความสำเร็จในการสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการไทยลดต้นทุนโลจิสติกส์ซัพพลายเชนราว 353 รายคิดเป็นมูลค่า 2,600 ล้านบาท   และเสนอรัฐเพิ่มงบในการเสริมศักยภาพผู้ประกอบหวังจีดีพีภาพรวมขยาย  ชูต้นแบบ “สามพรานโมเดล” จากโครงการสนับสนุนเชื่อมโยง SMEs เข้าสู่ระบบซัพพลายเชน

นายชาติ หงส์เทียมจันทร์  รักษาการอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กล่าวว่า  ปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังเดินหน้าพัฒนาขีดความสามารถด้านต่างๆ เพื่อเข้าสู่การแข่งขันทางเศรษฐกิจในเวทีโลก หนึ่งในยุทธศาสตร์ที่สำคัญของประเทศคือการพัฒนาศักยภาพด้านโลจิสติกส์ของไทย ซึ่งกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ โดยสำนักโลจิสติกส์ ได้รับนโยบายจากกระทรวงอุตสาหกรรมในการผลักดันการพัฒนาการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานอุตสาหกรรม ภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาระบบโลจิสติกส์อุตสาหกรรม (พ.ศ. 2555-2559) ผ่านโครงการเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ อาทิ การให้คำปรึกษาเชิงลึกแก่สถานประกอบการ การพัฒนาบุคลากรและนักจัดการด้านโลจิสติกส์ การส่งเสริมการใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เครื่องมือและตัวชี้วัดเพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ในปี 2559 มีโครงการใหม่ๆ อาทิ การเสริมสร้างขีดความสามารถของอุตสาหกรรมสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ (Logistics Hub) เพื่อบริการที่มีมาตรฐานอย่างยั่งยืน การพัฒนาและส่งเสริมมาตรฐานและวิธีปฏิบัติที่ดีในการบริหารจัดการระบบโซ่ความเย็น (Cold Chain) สำหรับภาคอุตสาหกรรม และการพัฒนาผู้ให้บริการโลจิสติกส์ (Logistics Service Provider: LSP) เพื่อยกระดับสู่สากลแบบครบวงจร สำหรับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย ประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์หลัก คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1. สร้างความเป็นมืออาชีดในการจัดการด้านโลจิสติกส์ในสถานประกอบการของภาคอุตสาหกรรม  ยุทธศาสตร์ที่ 2 การส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือและการเชื่อมโยงระหว่างหน่วยธุรกิจในซัพพลายเชนของภาคอุตสาหกรรม  และยุทธศาสตร์ที่ 3 การสนับสนุนให้เกิดปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย

ล่าสุดสำนักโลจิสต์ กพร. จัดงานสัมมนาสร้างเครือข่าย Go Together: Win-Win Collaboration 2015 เพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างสถานประกอบการอุตสาหกรรมภายในโซ่อุปทานที่ได้เคยเข้าร่วมโครงการของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่  นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างเครือข่ายและแบ่งปันองค์ความรู้ให้สถานประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างสอดคล้องกับบริบททางเศรษฐกิจและยั่งยืน  ในปีนี้กลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยวถือว่าเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่สร้างเม็ดเงินเข้าประเทศในอันดับต้นๆ ซึ่งสามพราน ริเวอร์ไซด์ ถือเป็นต้นแบบที่บริหารจัดด้านโลจิสติกส์และมีซัพพลายที่เป็นต้นแบบสร้างความยั่งยืนให้กับกลุ่มได้อย่างโดดเด่น จากโครงการสนับสนุนเชื่อมโยง SMEs เข้าสู่ระบบซัพพลายเชน  เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้อุตสาหกรรมเป้าหมายอย่างยั่งยืน โดยหวังให้กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่มีศักยภาพหรือเกิดใหม่สามารถพัฒนาความร่วมมือด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชนกับอุตสาหกรรมเป้าหมายเพิ่มมากขึ้น  และจากผลการดำเนินการที่ผ่านมาใน 3 ปี สามารถสร้างความร่วมมือและการเชื่อมโยงภายในซัพพลายเชนได้ 16 โซ่อุปทาน  สถานประกอบการ 96 แห่ง  ลดต้นทุนรวมทั้งหมด 220 ล้านบาท

ทั้งนี้จากการวิเคราะห์ต้นทุนโลจิสติกส์ต่อยอดขายของภาคอุตสาหกรรม โดยการสำรวจสถานประกอบการกว่า 1,300 ราย ครอบคลุม 21 กลุ่มอุตสาหกรรม ตามแบบสำรวจ รง.9 ตั้งแต่ปี 2552-2556 พบว่า ในปี2552 ต้นทุนโลจิสติกส์ต่อยอดขายของภาค อุตสาหกรรม อยู่ที่ร้อยละ 10 และสำหรับข้อมูลล่าสุดในปี 2556 ได้ลดลงเหลือร้อยละ 8 หรือคิดเป็นอัตราการลดลงถึงร้อยละ 20  ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าพึงพอใจ  และยังเป็นการยืนยันได้ว่า แนวทางการสนับสนุนส่งเสริมของภาครัฐ และการพัฒนาปรับตัวของภาคเอกชนประสบผลสำเร็จเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ ตามแผนแม่บทการพัฒนาระบบโลจิสติกส์อุตสาหกรรมของประเทศ  ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิดการลดต้นทุนโลจิสติกส์ต่อยอดขายของภาค อุตสาหกรรม คือการลดต้นทุนการถือครองสินค้าคงคลัง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ภาครัฐและภาคเอกชนได้เร่งสร้างทักษะและองค์ความรู้ให้กับบุคลากรในระดับต่างๆ รวมถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เครื่องมือ และแบบอย่างที่ดี เพื่อช่วยในการกำหนดนโยบายทางธุรกิจ วางแผนยุทธศาสตร์ บริหารจัดการกระบวนงาน และที่สำคัญคือ การลงมือพัฒนาปรับปรุงอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

“สามพรานโมเดล”  ชุมชนต้นแบบขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยยั่งยืน

อรุษ  นวราช กรรมการผู้จัดการ  โรงแรมสามพรานริเวอร์ไซด์ กล่าวว่า  ในส่วนของสามพรานริเวอร์ไซต์ร่วมกับกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่จัดตั้งกลุ่มเรียกว่า “สามพรานโมเดล” ขึ้น ซึ่งเริ่มดำเนินการมาประมาณ 6 ปีโดยเริ่มต้นทางโรงแรมสามพรานริเวอร์ไซด์เรามีการปรับบิสซิเนสโมเดลเป็นแบบ Handy camp  ให้มีกิจกรรมทางด้านศิลปะวัฒนธรรม อาหารและการเกษตร เพื่อให้กลุ่มลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการโดยเฉพาะลูกค้าองค์กรมาจัดสัมมนาหรือกลุ่มครอบครัว  นักท่องเที่ยวได้ทำกิจกรรมที่มีประโยชน์และสามารถนำไปประยุกต์ใช้  จากรูปแบบดังกล่าวในการดำเนินงานจึงได้มีการพัฒนาและดึงภาคเกษตรซึ่งเป็นแหล่งวัตถุดิบของการปรุงอาหารสำคัญ โดยชูจุดเด่นในเรื่องเกษตรอินทรีย์แบบไม่มีสารเคมีโดยเฉพาะผัก ผลไม้ที่นำมาผลิตอาหารของโรงแรมจึงปลอดสารเคมี  และจากจุดเริ่มต้นดังกล่าวจึงมีการขยายผลการดำเนินงานไปสู่ “ตลาดสุขใจ” เนื่องจากเห็นว่าเกษตรกรในชุมชนที่เข้ามาร่วมและเริ่มปลูกผัก ผลไม้มีจำนวนมากขึ้น ดังนั้นต้องหาช่องทางการทำตลาดมากขึ้น โดยนำสินค้ามาจำหน่ายในสถานที่ต่างๆ

“ในปีนี้ทางสำนักฯ ได้รับงบประมาณ 85 ล้านบาทในการดำเนินโครงการด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชน จำนวน 25 โครงการ  สามารถพัฒนาสถานประกอบการ 353 ราย ได้แก่ กลุ่มอาหารและแปรรูปอาหาร , ปิโตรเคมีและพลาสติก ,เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ,ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์, สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ,ท่องเที่ยวและ SMEs   โดยพัฒนาบุคลากรได้มากกว่า 6,500 คน เชื่อมโยงความร่วมมือในซัพพลายเชน 30 กลุ่ม และพัฒนาระบบสารสนเทศโลจิสติกส์ 11 ระบบ  ซึ่งทำให้สามารถลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชนของภาคธุรกิจคิดเป็นมูลค่า 2,600 ล้านบาทจากเดิมตั้งเป้าไว้ที่ 2,500 ลบ.ในต้นปี และเมื่อนำผลการลดต้นทุนนี้มาวิเคราะห์ด้วยแบบจำลอง CGE หรือ Computable General Equilibrium พบว่าผลงานโครงการทั้งหมดสามารถส่งผลกระทบในทางบวกต่อระบบเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศเมื่อเทียบกับปีฐานหรือปี 2557  โดยทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP เพิ่มขึ้นประมาณ 13,573.8 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.103 ดัชนีราคาหรืออัตราเงินเฟ้อ ลดลงร้อยละ 0.137 ผลผลิตหรือผลผลิต(Output) เพิ่มขึ้นคิดเป็นมูลค่ากว่า 8,471.3 ล้านบาทหรือร้อยละ 0.044 และการจ้างงานเพิ่มขึ้นประมาณ 117,464 คน  คิดเป็นร้อยละ 0.305 ดังนั้นจะเห็นได้ว่าจากผลการดำเนินงานชี้ให้เห็นว่าผลที่ได้จากการลดต้นทุนโลจิสติกส์มีส่วนอย่างมากต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ  และถึงแม้ว่างบประมาณในการดำเนินโครงการจะปรับลดลงจากปีที่ผ่านมาทางสำนักฯ ยังเดินหน้าสนับสนุนและส่งเสริมในการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ”  นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กล่าวเสริม