เนื้อหาวันที่ : 2007-07-19 09:00:13 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2180 views

พลาสมา-ซี คว้ารางวัลรองชนะเลิศหุ่นยนต์ เวิร์ลโรโบคับ 2007

พลาสมา-ซี (Plasma-Z) ทีมฟุตบอลหุ่นยนต์ไทย จากจุฬาฯ คว้ารางวัลรองชนะเลิศ จากการเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์โลก "สมอลไซส์ลีค" ในงานเวิร์ลโรโบคับ 2007

 .

สมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและบริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ประสบความสำเร็จ ในการส่งทีมพลาสมา-ซี (Plasma-Z) ทีมฟุตบอลหุ่นยนต์ไทย จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คว้ารางวัลรองชนะเลิศ จากการเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์โลก "สมอลไซส์ลีค" (Small size League) ในงานเวิร์ลโรโบคับ 2007 (World Robocup 2007) ระหว่างวันที่ 1-10 กรกฏาคม ที่ผ่านมา

.

ในการแข่งขันนัดชิงแชมป์โลกกับ ทีมซีเอ็มดรากอนส์ (CMDragons) มหาวิทยาลัยคานิกี้เมลอน (Carnegie Mellon University: CMU) แชมป์เก่าจากประเทศสหรัฐอเมริกา ทีมพลาสมา-ซีทำคะแนนเสมอทีมจากซีเอ็มยูด้วยคะแนน 5 ประตูต่อ 5  และเมื่อต่อเวลาการแข่งขัน ทีมพลาสมา-ซี ก็ยังทำคะแนนเสมอกับทีมซีเอ็มดรากอนส์ ด้วยคะแนน 6 ประตูต่อ 6 จนในที่สุดคณะกรรมการจึงให้มีการตัดสินการแข่งขัน โดยให้ทั้งสองทีมดวลการเตะลูกโทษ ซึ่งพลาสมา-ซี พ่ายไปอย่างสมศักดิ์ศรี ด้วยคะแนน 7 ประตูต่อ 9 และได้รับรางวัลรองชนะเลิศ ทั้งนี้ในพิธีการมอบรางวัล ประธานกรรมการได้กล่าวชื่นชมว่า การแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ สมอลไซส์ลีครอบชิงชนะเลิศครั้งนี้ ถือเป็นการแข่งขันคู่ที่ดีที่สุดและสมศักดิ์ศรีที่สุดตั้งแต่มีการจัดแข่งขันมา

.

ศ.ดร ดิเรก ลาวัณย์ศิริ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า "คณะรู้สึกภูมิใจและขอ ชมเชยนิสิตทีมพลาสมา-ซี ที่สามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศมาครองได้ เป็นความสำเร็จของเยาวชนไทยที่สามารถแข่งขันกับทีมชั้นนำของโลกได้อย่างสมศักดิ์ศรี เป็นบทพิสูจน์ว่านิสิตนักศึกษาไทยมีความสามารถมาก ซึ่งโอกาสของเยาวชนไทยจะเกิดได้ต้องอาศัยความร่วมมือและสนับสนุนจากหลายฝ่ายไม่ว่าจะเป็นคณาจารย์และมหาวิทยาลัยเอง รัฐบาลและภาคเอกชนที่จัดการแข่งขันในประเทศและให้เงินทุนสนับสนุนให้ไปแข่งในต่างประเทศด้วย  ทางคณะเองก็จะให้การสนับสนุนนิสิตให้มีโอกาสในการพัฒนาศักยภาพต่างๆในโอกาสต่อๆไป"

.

ในการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์โลก 2007 ทีมพลาสมา-ซี ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในสายบี โดยทำการแข่งขันชนะคู่แข่งจากประเทศต่างๆ  และรายละเอียดคะแนนดังต่อไปนี้

  • ทีมพลาสมา-ซี แข่งขันกับ ทีมอีเกิ้ลไนท์ (Eagleknight) จากประเทศเม็กซิโก             คะแนน 10 ประตูต่อ 0
  • ทีมพลาสมา-ซี  แข่งขันกับ ทีมซีเจยูนิคท์ (ZJUNict) จากประเทศจีน                          คะแนน  9 ประตูต่อ 1
  • ทีมพลาสมา-ซี แข่งขันกับ ทีมกิ๊กส์ (KIKS) จากประเทศญี่ปุ่น                                      คะแนน 10 ประตูต่อ 0
  • ทีมพลาสมา-ซี แข่งขันกับ ทีมเฟอร์กอล (Furgal) จากประเทศบราซิล                         คะแนน 10 ประตูต่อ 0
  • ทีมพลาสมา-ซี แข่งขันกับ ทีมอาร์เอฟซี (RFC) จากประเทศสหรัฐอเมริกา                   คะแนน 10 ประตูต่อ 0
  • ทีมพลาสมา-ซี แข่งขันกับ ทีมโรโบดรากอนส์ (Robodragons) จากประเทศญี่ปุ่น    คะแนน  6 ประตูต่อ 0
.

.

นายกานต์ กาญจนภาส กัปตันทีม  ทีมหุ่นยนต์พลาสมา-ซี (Plasma-Z) กล่าวว่า "เราทุกคนในทีมได้พยายามกันอย่างเต็มที่ทั้งกำลังกายและกำลังสมองในการแข่งขัน วันนี้เราทุกคนดีใจที่สามารถก้าวมาถึงจุดนี้ได้ ถือเป็นพัฒนาการที่ดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา ทุกคนในทีมได้ประสบการณ์มากมายจากการแข่งขันที่เราไม่อาจหาได้จากตำรา ซึ่งถือเป็นคุณค่าที่ยิ่งใหญ่มาก เราสัญญาว่าในปีต่อไป ถ้าเรามีโอกาสจะต้องคว้าชัยชนะมาครองให้ได้ "

.

ทีมพลาสมา-ซีประกอบด้วยนิสิตชั้นปีที่ 4 จำนวน 10 คน จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ ทีมได้เตรียมหุ่นยนต์ขนาดเล็ก จำนวนห้าตัว เพื่อการเข้าร่วมการแข่งขันกันโดยใช้กฎของฟีฟ่า หุ่นยนต์ทุกตัวสามารถเตะ เดาะลูกและส่งบอลโดยอัตโนมัติโดยใช้การควบคุมแบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence)  ทั้งนี้การแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ ถือเป็นการแข่งขันที่ยากที่สุดในโลกประเภทหนึ่งเนื่องจากหุ่นยนต์จะทำงานโดยอิสระปราศจากการควบคุมใดใดจากมนุษย์และต้องทำงานสัมพันธ์กับกล้องที่ติดอยู่บนคานของสนามเพื่อแยกแยะเพื่อนร่วมทีมและคู่ต่อสู้

.

รศ.ดร.ประภาส จงสถิตวัฒนา ที่ปรึกษาสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย กล่าวว่า ในฐานะผู้จัดการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย ร่วมกับภาคเอกชน คือ บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด จัดการแข่งขันในประเทศ และส่งทีมแชมป์คือ ทีมพลาสมา-ซี เข้าร่วมการแข่งขันเวิร์ลโรโบคับ จนประสบความสำเร็จในวันนี้ ถือเป็นความภูมิใจของคณาจารย์ที่ตั้งใจในการประสาทวิชาและหาเวทีให้แก่เยาวชนไทยได้ทดสอบฝีมือจนสัมฤทธิ์ผลเป็นที่น่าพอใจ ทางสมาคม ซึ่งประกอบดวยคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ คาดหวังที่จะเห็นพัฒนาการของนิสิตนักศึกษาที่เพิ่มพูนขึ้นตามลำดับ และ เราจะยังคงส่งเสริมการเรียนรู้และปฏิบัตินอกตำราเรียนต่อไป

.

นายเจฟฟรีย์ ไนการ์ด รองประธานฝ่ายฎิบัติการประเทศไทย บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ซีเกทภูมิใจและดีใจที่เป็นหนึ่งในการช่วยให้เยาวชนไทยประสบความสำเร็จในวันนี้ ซีเกทจะยังคงมุ่งมั่นในการช่วยพัฒนาศักยภาพเยาวชนไทยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศไทยต่อไปเนื่องจากเยาวชนที่ดีเป็นพื้นฐานของสังคมที่แข็งแกร่ง