เนื้อหาวันที่ : 2015-10-14 11:03:26 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1519 views

รมว.สาธารณสุขแนะประชาชนกินเจตามหลัก 4ล

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง ให้ความรู้ประชาชนช่วงเทศกาลกินเจตามหลัก 4 ล. เพื่อสุขภาพดี เข้มข้นสุขาภิบาลอาหารในโรงเจ ร้านขายอาหารเจ และสุ่มตรวจอาหารอย่างต่อเนื่อง คุ้มครองความปลอดภัยผู้บริโภค ผลการสุ่มตรวจโรงเจและร้านอาหารเจ ที่จ.ชลบุรี ไม่พบการปนเปื้อนสารเคมีและเชื้อจุลินทรีย์ในอาหาร

ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ตรวจเยี่ยมการคุ้มครองความปลอดภัยอาหารช่วงเทศกาลกินเจ ที่ตลาดเมืองใหม่ อ.เมือง จ.ชลบุรี และให้สัมภาษณ์ว่า ช่วงเทศกาลกินเจปีนี้ ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ให้ความรู้ประชาชนในการกินเจที่ดีต่อสุขภาพ ตามหลัก 4 ล. คือ 1.ละ กิเลส เลี่ยงการกินเนื้อสัตว์เทียม และหมี่กึงซึ่งทำมาจากแป้ง และปรุงรสหวานมันเค็ม 2.เลือก กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ข้าวกล้อง ธัญพืช เห็ด ถั่วต่างๆ เต้าหู้ ป้องกันการขาดโปรตีน และเพิ่มผัก ผลไม้ให้หลากชนิด หลากสี 3.ล้าง ผักผลไม้ให้สะอาดก่อนปรุง ก่อนรับประทาน และ4.ลด อาหารที่มีรสหวาน มัน เค็ม ของทอด อาหารประเภทผัดน้ำมัน รสจัด และเข้มข้นการดูแลสุขาภิบาลอาหารในโรงเจ ซึ่งจะมีการปรุงอาหารให้ผู้มาทำบุญเป็นจำนวนมาก และร้านจำหน่ายอาหารเจ ทั้งสุขอนามัยส่วนบุคคลของผู้ปรุงและผู้เสิร์ฟอาหาร ความสะอาดภาชนะใส่อาหาร การเก็บล้างวัตถุดิบประกอบอาหาร และสุ่มตรวจอาหารต่อเนื่อง เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยผู้บริโภคตลอดเทศกาลกินเจ

ในช่วงก่อนเทศกาลกินเจปีนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี ได้ส่งหน่วยเคลื่อนที่ตรวจสอบความปลอดภัยอาหาร ที่โรงเจ 5 แห่ง ตลาดสด 2 แห่ง และร้านขายอาหารเจ 29 แห่ง โดยตรวจหาสารเคมีปนเปื้อน เช่นยาฆ่าแมลง บอแรกซ์ ฟอร์มาลีน สารกันรา สารฟอกขาว รวม 113 ตัวอย่าง  ตรวจจุลินทรีย์ในอาหารปรุงสำเร็จ 41 ตัวอย่าง ตรวจภาชนะ/อุปกรณ์ 33 ตัวอย่าง และตัวอย่างจากมือผู้สัมผัสอาหาร พบการปนเปื้อนทางด้านจุลินทรีย์ 2 ตัวอย่างในถั่วลิสงต้มและภาชนะใส่อาหาร ผลการเฝ้าระวังในภาพรวมของจังหวัดชลบุรีในปีงบประมาณ 2558 ในตลาดสด 43 แห่ง ตลาดนัด 18 แห่ง ร้านขายของชำและแผงลอยขายอาหาร 315 แห่ง สุ่มตรวจทั้งหมด 1,380 ตัวอย่าง พบฟอร์มาลีนมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 3.44 โดยพบในปลาหมึก ปลาหมึกกรอบ สไบนาง เล็บมือนาง และเครื่องในวัว รองลงมาคือสารกันราร้อยละ 2.9 พบในผักดอง ผลไม้ดอง และสารบอแรกซ์ร้อยละ 1.3 ในหมูบด ทอดมันปลา ปูอัด สำหรับสารฟอกขาว กรดน้ำส้ม อะฟลาทอกซินไม่พบการปนเปื้อนในตัวอย่างอาหารแต่อย่างใด ส่วนในอาหารปรุงสำเร็จพบเชื้อจุลินทรีย์ปนเปื้อนร้อยละ 7.66 เนื่องจากปรุงไว้นาน ไม่เปลี่ยนหรือล้างภาชนะก่อน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวต่อว่า   สำหรับผักผลไม้ที่จำหน่ายทั่วประเทศ ในปี 2558 พบสารเคมีตกค้างลดลงกว่าในปี 2555 โดยกลุ่มผักลดลงจากร้อยละ 4.75 เหลือร้อยละ 2.2 ผักที่พบสารตกค้างได้บ่อยที่สุดคือ ใบบัวบก รองลงมาคือ กระเทียม พริกแห้ง หอมแดง และกะหล่ำดอก ส่วนในผลไม้แนวโน้มยังทรงตัวพบร้อยละ 1.61บ่อยที่สุดคือส้ม รองลงมาคือแอปเปิ้ล ชมพู่ องุ่น และแคนตาลูป ในปี 2559 นี้ จะดำเนินการต่อเนื่อง ให้ประชาชนได้บริโภคอาหารที่สะอาดปลอดภัย เน้นการเฝ้าระวังสารเคมีในผักผลไม้ สารเร่งเนื้อแดงในเนื้อหมู เนื้อไก่ น้ำดื่ม น้ำแข็ง และการควบคุมร้านอาหารในพื้นที่ทั่วไป พื้นที่เสี่ยง พื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ ให้ได้มาตรฐาน สนองนโยบายครัวไทยสู่ครัวโลก และได้คุณภาพมาตรฐานระหว่างประเทศด้วย