เนื้อหาวันที่ : 2015-10-13 15:22:47 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1455 views

สสว. รับมอบนโยบายส่งเสริม SMEs พร้อมเดินหน้างานปี 2559

รองนายกฯ สมคิด มอบนโยบายให้ สสว. มุ่งพัฒนากลุ่ม Start Up ตั้งแต่มีไอเดียจนถึงผลิตสินค้าสู่ตลาด และเชื่อมต่อ SMEs ไทยกับต่างประเทศด้วยกิจกรรม Business Matching โดยเฉพาะกลุ่มญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี ขณะที่ สสว. พร้อมสนองนโยบายและเตรียมเดินหน้ามาตรการเร่งด่วน ทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และช่วยผู้ประกอบการที่เจอปัญหาภัยแล้ง ตั้งเป้ากว่า 70,000 ราย ภายใน 1 ปีครึ่ง หวังให้เป็นกลไกสร้างรากฐานที่เข้มแข็งให้เศรษฐกิจไทย

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยในโอกาสมอบนโยบายการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ให้กับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ว่า ในการส่งเสริม SMEs ของประเทศในเรื่องเร่งด่วนด้านหนึ่งได้มอบหมายให้ สสว. และ  ธพว. มีการดำเนินงานที่เชื่อมโยงกันเพื่อให้ SMEs เติบโต อยู่รอด โดยเฉพาะในเรื่องการขาย การหาตลาดให้กับสินค้าชุมชน และให้ สสว. ประสานความร่วมมือกับธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเพิ่มขีดความสามารถให้กับผู้ประกอบการ นอกจากนี้ต้องการให้สร้างผู้ประกอบการใหม่ (Start up) 10,000 ราย ภายในระยะเวลา 1 ปีครึ่ง หรือระหว่างปี 2559-2560

“นโยบายของรัฐบาลต้องการให้ไทยมีโครงสร้างเศรษฐกิจบนฐานของผู้ประกอบการ ซึ่งผู้ประกอบการใหม่ หรือกลุ่ม Start Up เป็นเรื่องใหญ่ที่มีความสำคัญ เพราะเป็นฐานของการจ้างงาน นวัตกรรม โดยมอบหมายให้ สสว.ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญ ค้นหากลุ่ม Start up ตั้งแต่ในระดับมหาวิทยาลัย หรือสถาบันวิจัยที่มีการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อนำมาต่อยอดและส่งเสริมให้เกิดเป็นธุรกิจ หรือตั้งแต่เขามีไอเดียจนถึงเป็นผลิตสินค้าขายได้ ทำยุทธศาสตร์การส่งเสริมและพัฒนา พร้อมทั้งเชื่อมโยงกับสถาบันการศึกษา กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันการเงิน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาธุรกิจเกิดใหม่หลากหลายธุรกิจให้เติบโตให้ได้ เช่น ธุรกิจเกม ธุรกิจภาพยนตร์ ธุรกิจบริการ-ร้านอาหาร ธุรกิจที่ใช้ IT Base” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว

ในด้านการตลาดได้มอบหมายให้ สสว. จัดทำเว็บไซต์ที่รวบรวมข้อมูล SMEs ให้ครบถ้วน รอบด้าน เพื่อเป็นช่องทางที่จะทำให้ SMEs ไทยขายสินค้าได้มากยิ่งขึ้นและออกสู่ตลาดต่างประเทศ นอกจากนี้ให้มีการทำ Business Matching ระหว่าง SMEs ไทย กับต่างประเทศ เพื่อเชื่อมโยงทางธุรกิจกันโดยเฉพาะ ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่มีศักยภาพและมีเทคโนโลยี หากมีฐานข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ จะสามารถดึงให้ผู้ประกอบการดังกล่าวเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการไทยได้ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยพัฒนาศักยภาพ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และยกระดับ SMEs ไทยให้สามารถก้าวสู่สากล

นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เปิดเผยว่า จากการที่ สสว. และ ธพว. มีพันธกิจสำคัญที่มีความเชื่อมโยงและสนับสนุนซึ่งกันและกันในการส่งเสริม SMEs ของประเทศ เพื่อเป็นการสนองตอบนโยบายของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จึงได้เตรียมนำเสนอพันธกิจสำคัญที่ สสว. และ ธพว. จะทำงานร่วมกันในระยะเร่งด่วนและปานกลาง (ถึงสิ้นปี 2560) ประกอบด้วย แผนปฏิบัติการเพื่อรองรับมาตรการเพิ่มขีดความสามารถของ SMEs ที่กระทรวงอุตสาหกรรม จะเสนอ ครม. ซึ่งเป็นการพัฒนาและข่วยเหลือผู้ประกอบการทั้งที่มีอยู่ในปัจจุบัน ผู้ประกอบการใหม่ (Start Up) และผู้ที่ต้องการฟื้นฟูกิจการ (Turnaround) ให้แข็งแรงขึ้น และแผนปฏิบัติการเพื่อรองรับมาตรการบรรเทาภัยแล้ง ซึ่งกำหนดเป้าหมายในการพัฒนารวมจำนวนไม่น้อยกว่า 70,000 ราย ในช่วงระหว่างปี 2558-2559

“สำหรับ SMEs ที่มีอยู่ในปัจจุบันการดำเนินงาน สสว. จะร่วมกับ ธพว. คัดสรรเป้าหมายบางส่วน พิจารณาจากนิติบุคคลที่มีการนำส่งงบการเงินสม่ำเสมอ และอยู่ในกลุ่มธุรกิจที่เติบโตสูง (Hi-Growth) มีรายได้สะสม 3 ปี รวมกันไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 ซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 6,000-7,000 ราย กลุ่มปานกลาง ที่มียอดขายรวมสะสม 3 ปี เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 และกลุ่มลูกค้าของ ธพว. สถาบันการเงินที่เกี่ยวข้อง และหน่วยงานที่เป็นภาคีพันธมิตร โดยกลุ่มที่ดีอยู่แล้วจะสนับสนุนให้เป็น Champion กลุ่มปานกลางจะส่งเสริมต่อยอดใด้ดีขึ้น กลุ่มที่ประสบปัญหาจะช่วยเหลือให้พลิกฟื้นกลับมาดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ” ผอ.สสว. กล่าว

ในส่วนการสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ จะมุ่งสนับสนุน SMEs ให้มีนวัตกรรมในการดำเนินธุรกิจ จำนวนไม่น้อยกว่า 10,000 ราย ในปี 2559-2561 โดยจะส่งเสริมให้จัดทำแผนธุรกิจให้สามารถกู้ยืมเงิน หรือรับการร่วมลงทุนกับสถาบันการเงินหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งดูแลและให้คำปรึกษาแนะนำการทำธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ส่วนกลุ่มที่ประสบปัญหาในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งมีเป้าหมายดำเนินการ 10,000 ราย ในปี 2559 โดยจะคัดเลือก SMEs ที่ไม่สามารถกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินเพราะติด Credit bureau ให้ได้รับการพัฒนา เริ่มตั้งแต่การวินิจฉัยเชิงลึก ปรับโครงสร้างหนี้ และขณะนี้ สสว. อยู่ระหว่างพิจารณานำเงินกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่มีอยู่กว่า 1,000 ล้านบาท มาใช้ในการเสริมสภาพคล่องให้กับกลุ่มดังกล่าว

ส่วนแผนปฏิบัติการเพื่อรองรับมาตรการบรรเทาภัยแล้ง เป็นการเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน ด้วยการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนในเขต 26 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง จำนวน 9,136 ราย โดยร่วมกับ กรมพัฒนาชุมชน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการพัฒนาศักยภาพของสินค้า ส่งเสริมช่องทางการจัดจำหน่าย ทั้งระบบออนไลน์ และช่องทางอื่นๆ นำไปสู่การพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจชุมชนให้เข้มแข็งและเติบโตต่อไป

 

ที่มา : http://www.sme.go.th/th/index.php/news1/1015-smes-2559