เนื้อหาวันที่ : 2015-10-08 17:10:23 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2850 views

กพร. หนุนธุรกิจไทยลดค่าใช้จ่ายด้วยการจัดการโลจิสติกส์อย่างมีประสิทธิภาพ ชู ดานิลี่ ต้นแบบด้านการจัดการโลจิสติกส์ พร้อมคว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่นปี 58

กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ โดย สำนักโลจิสติกส์ เดินเครื่องต่อเนื่องสนับสนุนผู้ประกอบการไทยจัดการโลจิสติกส์ซัพพลายเชน ด้าน “ดานิลี่” ผู้ผลิตอุปกรณ์เครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรมผลิตเหล็ก โดดเด่นด้วยการจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนที่มีประสิทธิภาพ และการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนองค์กรและลดต้นทุนการผลิต พร้อมคว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น ประจำปี 2558 ประเภทการจัดการโลจิสติกส์

นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กล่าวว่า  การจัดการโลจิสติกส์เป็นกระบวนการวางแผนการดำเนินงานและการควบคุมการเคลื่อนไหว และจัดเก็บของสินค้าบริการ และข้อมูลสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ตั้งแต่แหล่งผลิตไปสู่การบริโภคเพื่อตอบสนองความต้องการและความพึงพอใจของลูกค้า ดังนั้นการมีระบบโลจิสติกส์และซัพพลายเชนเป็นเครื่องมือสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถ และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้แก่ภาคอุตสาหกรรม  ดังนั้นองค์กรที่มีการวางแผนและกลยุทธ์ที่ดีตลอดจนสามารถถ่ายทอดลงไปสู่การปฏิบัติ ประยุกต์ใช้ในการจัดการด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชนอย่างสอดคล้องและเหมาะสม จะทำให้สามารถลดต้นทุนเพิ่มประสิทธิภาพ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่องค์กร สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้า  ล่าสุดสำนักโลจิสติกส์ในฐานะแม่งานคัดเลือกผู้ประกอบเข้ารับรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น ประจำปี 2558 ประเภทการจัดการโลจิสติกส์  โดยทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบรางวัลนี้ ให้แก่บริษัท ดานิลี่ จำกัด ซึ่งเป็นองค์กรที่มีการจัดการด้านโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ และสามารถเป็นต้นแบบให้กับองค์กรอื่นๆ นำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานได้

ดร. บุญนาค โมกข์มงคลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดานิลี่ จำกัด ผู้ผลิตอุปกรณ์เครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรมผลิตเหล็ก  กล่าวว่า  ทางบริษัทฯ นับเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น ประจำปี 2558 ประเภทการจัดการโลจิสติกส์ในครั้งนี้  ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจที่บริษัทฯ มีการบริหารจัดการได้มีประสิทธิภาพสร้างความมั่นให้แก่ลูกค้าที่จะทำให้เราสามารถส่งมอบงานได้ตรงเวลา เพราะมีระบบการบริหารจัดการตั้งแต่การวางแผนก่อนการผลิตจนถึงการส่งมอบงานได้ตามกำหนด

ดันไทยสู่ฮับการออกแบบและผลิตเครื่องจักรใหญ่

ดานิลี่ ประเทศไทย ถือเป็นศูนย์กลางการออกแบบด้านวิศวกรรมและผลิตที่ใหญ่ที่สุดในโลกของ ดานิลี่กรุ๊ปและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ทั้งยังมีการส่งมอบสินค้าบริการที่มีคุณภาพให้กับลูกค้าทั้งในและต่างประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะแถบตะวันออกกลาง  เอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ในปัจจุบัน  เนื่องจากประเทศไทยมีความได้เปรียบในด้านภูมิศาสตร์ใกล้กับสนามบินนานาชาติ  2 แห่ง และท่าเรือน้ำลึก 3 แห่ง มีระบบการขนส่งต่างๆ ที่สามารถเชื่อมโยงกันทั้งหมด ถือเป็นข้อดีในการขนส่งและซัพพลายเชน   รวมถึงยังเป็นศูนย์รวมองค์ความรู้ การเรียนรู้ ที่ได้รับการรับรองคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์จากบริษัทแม่อีกด้วย

“ดานิลี่ ประเทศไทยวางเป้าหมายในการให้บริการแบบบริการจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (One stop service) ซึ่งมีการย้ายทีมวิศวกรจากต่างประเทศ  โดยมุ่งหวังให้ไทยเป็นศูนย์การค้าระหว่างประเทศ(International Trade Center) ของดานิลี่กรุ๊ป ที่จะดำเนินการสั่งซื้อวัตถุดิบต่างๆ เป็นล็อตใหญ่แล้วส่งกระจายไปยังดานิลี่ในประเทศอื่นๆ  เนื่องจากในแต่ละปีเรามีการจัดซื้อวัตถุดิบในการผลิตงานจำนวนมาก  หากเราสามารถจัดซื้อจุดเดียวจะช่วยในเรื่องต้นทุนได้”

ดานิลี่เปิดตลาดใหม่รับเศรษฐกิจผันผวน

ปัจจุบันธุรกิจแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก  ซึ่งประกอบด้วย  การออกแบบและผลิต (Technological Provider) ถือเป็นธุรกิจหลักมีสัดส่วนประมาณ 70%  กลุ่มที่สองผลิตภัณฑ์ระบบใหญ่ (System Product Line) เป็นส่วนของระบบและอุปกรณ์ไฮดรอลิคสำหรับในอุตสาหกรรมหนักที่มีขนาดใหญ่ เครนชนิดพิเศษที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงสำหรับอุตสาหกรรมผลิตเหล็ก รวมถึงเครนขนาดใหญ่สำหรับท่าเรือโดยคิดเป็น 20%  และกลุ่มที่สามการให้บริการ (Services) เป็นการซ่อมบำรุง (Maintenance) แก้ปัญหาด้านระบบต่างๆ ให้กับลูกค้า มีสัดส่วนประมาณ 10% ซึ่งในกลุ่มสุดท้ายจะมุ่งเน้นที่ฐานลูกค้าเดิมในภูมิภาคเป็นหลัก และมีลูกค้าใหม่ด้วย  อย่างไรก็ตาม กลุ่มธุรกิจหลักมีการเปิดตลาดใหม่ๆ โดยเจาะไปที่ประเทศเกิดใหม่ อาทิ อเมริกาใต้  แอฟริกา ซึ่งเป็นโรงเหล็กขนาดเล็ก มีกำลังการผลิตไม่สูงมาก ตั้งโรงงานขึ้นเพื่อผลิตเหล็กใช้เองและลดการนำเข้าจากต่างประเทศ แต่เดิมประเทศดังกล่าวนำเข้า 100 %  สำหรับการวางแผนรับมือกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่มีความผันผวน ดานิลี่มีฝ่ายติดตามข้อมูลความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจแต่ละภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง

“ขณะนี้ดานิลี่มีลูกค้าจำนวนมาก หากคิดจากกำลังการผลิตเหล็กที่เป็นของบริษัทลูกค้าทั้งหมด มีประมาณ 1 แสนตันต่อปี โดยบริษัททำหน้าที่ตั้งแต่ออกแบบโรงงานเครื่องจักร และเป็นที่ปรึกษาให้ลูกค้าด้วย  อีกทั้งบริษัทฯได้ขยายการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยได้รับงานสร้างโรงงานเหล็กครบวงจรให้กับประเทศเมียนมาร์ เวียดนาม อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซียแล้ว ที่ผ่านมา ดานิลี่มีรายได้เฉลี่ยปีละประมาณ 20,000 ล้านบาท หรือเติบโตประมาณ 10% คาดว่าปี 2558 จะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง”

ชู IT บริหารจัดการ ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มประสิทธิภาพงาน

ในการบริหารจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชน (Logistics and Supply Chain) ดานิลี่เน้นการนำระบบสารสนเทศ หรือ ไอทีเข้ามาใช้ในการบริหารจัดการซึ่งเรียกหน่วยงานนี้ว่า SOIT Application Architecture (Strategic Organization Information Technology)  โดยพัฒนาตั้งแต่ซอฟต์แวร์การจัดการ รวมถึง  Corporation Dashboard ที่สามารถเชื่อมโยงไปยังทุกกลุ่มของดานิลี่ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายจัดซื้อ คลังสินค้า การขาย การผลิต วิศวกรรม การบริหารจัดการโครงการ การขนส่ง โลจิสติกส์ การนำเข้า-ส่งออก  และฝ่ายบริการหลังการขาย เป็นต้น  นอกจากนี้กระบวนการสนับสนุนการทำงานของบริษัทฯ ได้นำไอซีที (Information Communication Technology) เข้ามาใช้ในบริหารจัดการด้านการควบคุมคุณภาพ  การบริหารการเงิน การควบคุมส่วนงานต่างๆ  การจัดการทรัพยากรมนุษย์  การควบคุมและสั่งการ (Dashboard)  และข้อมูลเทคโนโลยีการสื่อสารทั้งหมด

“ดานิลี่ใช้ไอทีเข้ามาบริหารจัดการตั้งแต่กระบวนการจัดซื้อ การจัดการคลังสินค้า ที่สามารถตรวจสอบและวางแผนเพื่อผลิตงานส่งลูกค้าได้ตามระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งทุกๆส่วนงานมีไอทีในการควบคุม ด้วยความที่งานของเราทำแบบตามคำสั่งซื้อ  แต่อีกหนึ่งอุปสรรคก็คือซัพพลายเออร์ ซึ่งเราจะจัดการอย่างไรให้ระบบต่าง ๆ มารองรับกับระบบของดานิลี่ให้ได้ สำหรับซัพพลายเออร์รายใหญ่ๆมีระบบดังกล่าว แต่รายเล็กๆไม่มี  ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าหากเรามีระบบการจัดการส่วนนี้ได้ดีจะช่วยควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่ายได้”

ใช้ KPI ควบคุมโลจิสติกส์และซัพพลายเชน

สำหรับตัวชี้วัดด้านโลจิสติกส์ (KPI) โดย คุณสุรพล นิลบน ผู้อำนวยการฝ่ายโลจิสติกส์ ได้ชี้แจงว่า มี 4  ส่วนหลัก  ด้วยกัน ซึ่งได้แก่ (1) การจัดส่งสินค้าในเวลาที่กำหนดทั้งลูกค้าภายในองค์กรและภายนอก (ลูกค้าสุดท้าย)  (2) การลดต้นทุนด้านการจัดการโลจิสติกส์ (ด้านการขนส่งทางทะเลและทางอากาศ) (3) การเพิ่มประสิทธิภาพของการบรรจุ ทั้งบรรจุภัณฑ์และการบรรจุตู้คอนเทนเนอร์ รวมไปถึงการขยายศูนย์รวมและเพิ่มประสิทธิภาพระบบโลจิสติกส์ด้านการนำเข้าและส่งออก (Logistics platform หรือ Hub ในแต่ละประเทศที่เป็นศูนย์กระจายสินค้า) และ (4) ความพึงพอใจของลูกค้าในด้านการให้บริการด้านโลจิสติกส์ ซึ่งในส่วนนี้มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงตั้งแต่ดานิลี่ทำสัญญารับงานจากลูกค้าที่มีกำหนดระยะเวลาดำเนินงานเป็นตัวกำกับ และลักษณะโครงการเป็นการผลิตตามคำสั่งซื้อ (Made to Order)  ซึ่งในแต่ละโปรเจคงานมีอุปกรณ์หรือชิ้นส่วนมากมาย นับพัน นับหมื่นชิ้น หรือตามมาตรฐานการประกอบ (BOM) ก่อนนำไปประกอบเป็นเครื่องจักรหรือโรงงานให้ลูกค้า

ดร. บุญนาค  กล่าวเสริมว่า  ดังนั้นกระบวนการทำงานทุกขั้นตอนใช้คนเพียงอย่างเดียวทำทั้งหมดไม่ได้  จึงนำระบบไอทีมาเป็นเครื่องมือช่วย  เริ่มตั้งแต่ฝ่ายออกแบบ ฝ่ายจัดซื้อตรวจสอบสินค้าว่ามีชิ้นส่วนวัสดุเพียงพอกับการผลิต  ฝ่ายคลังสินค้า ฝ่ายวางแผนการผลิต  ฝ่ายส่งมอบ เมื่อผลิตประกอบชิ้นส่วนต่างๆ และทำการทดสอบแล้ว ในแต่ละชิ้นส่วนหลังถอดเพื่อการส่งมอบ ก็จะมีบาร์โค้ดกำกับซึ่งทำให้วิศวกรหน้างานสามารถตรวจสอบได้เมื่อถึงสถานที่ติดตั้ง  จะเห็นได้ว่าหลังผลิตแล้วสามารถจัดส่งให้ลูกค้าตามเวลาที่กำหนด ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอนในระบบซึ่งมีการเชื่อมโยงกับโลจิสติกส์และซัพพลายเชนเป็นอย่างดี  ทั้งนี้ในแต่ละส่วนงานหรือแต่ละฝ่ายก็จะมีดัชนีชี้วัด (KPI) ควบคุม และหนึ่งในนั้นก็จะมี On Time Delivery เพื่อควบคุมขั้นตอนการผลิตเพราะจะส่งผลถึงต้นทุนและค่าใช้จ่าย ซึ่งบริษัทฯ ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากกำไรเฉลี่ยต่อโครงการฯประมาณ 10-15% หากการบริหารจัดการไม่มีประสิทธิภาพจะกระทบถึงส่วนนี้

ในแต่ละปีบริษัทฯ มีการตั้งเป้าหมายในการควบคุมการต้นทุนตั้งแต่การจัดซื้อจัดหาวัตถุดิบ กว่า 70% นับเป็นต้นทุนหลักของการผลิต ดังนั้นเราต้องหาวิธีการควบคุมตั้งแต่หาแหล่งซื้อวัตถุดิบที่มีคุณภาพและราคาสามารถรับได้ สร้างพันธมิตรและคู่ค้า (Business Partner) ระบบไอทีที่สนับสนุนการจัดซื้อมีการจัดเก็บข้อมูลการจัดซื้อในอดีต ซึ่งสามารถเช็คได้ว่าแหล่งจัดซื้อของแต่ละประเทศราคาเท่าไหร่ เป็นต้น  ดังนั้นการควบคุมโลจิสติกส์และซัพพลายเชนที่ดี รวมกับตัวชี้วัดจากส่วนต่างๆ มาปรับใช้ส่งผลให้ในภาพรวมต้นทุนการผลิตลดลง 6% จากเดิมตั้งไว้ 5% ในปีที่แล้ว ซึ่งจากตัวเลขดังกล่าวเทียบกับธุรกิจดานิลี่ถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงมากเนื่องจากมูลค่าโครงการมีตั้งแต่ 100-10,000 ล้านบาท

“หลายองค์กรมีการพัฒนาศักยภาพ  คุณภาพด้านต่างๆมากมายทั้งความปลอดภัย ไม่ก่อมลพิษ ล้วนแต่เป็นพื้นฐานที่โรงงานอุตสาหกรรมต้องปฏิบัติอยู่แล้ว  แต่ในด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชนไม่ได้มาโฟกัสกันเพราะมองว่าสามารถใช้บริการเอาท์ซอร์ตได้   ดานิลี่ไม่ใช่เป็นผู้ประกอบด้านโลจิสติกส์แต่เราให้ความสำคัญส่วนนี้เพราะมีความเกี่ยวเนื่องทั้งกระบวนการจนถึงวันส่งมอบงานให้ลูกค้า   การได้รับรางวัลในครั้งนี้ เป็นการสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานให้ได้คุณภาพยิ่งขึ้น  นอกจากนี้ยังเห็นว่าการที่มีหน่วยงานภาครัฐหรือองค์กรที่ประกันคุณภาพต่างๆ ได้เข้ามาดูแล ตรวจสอบกระบวนการทำงานของดานิลี่นั้นเป็นสิ่งที่ดี เสมือนการตรวจสุขภาพประจำปีของร่างกายมนุษย์  ซึ่งจะทำให้ทราบถึงจุดดีจุดบกพร่องเพื่อนำมาแก้ไขแล้วทำให้งานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น   พร้อมกันนี้ขอเชิญชวนผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ได้เข้าร่วมโครงการฯ  ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากและมีความยินดีที่จะแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางด้านการบริหารจัดการโซ่อุปทานและโลจิสติกส์ให้กับผู้ประกอบการ   เป็นวิทยาทานในการประยุกต์ใช้กับองค์กรต่างๆ” ดร. บุญนาค  กล่าวว่า

นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ กล่าวปิดท้ายว่า  นอกจากนี้ทางสำนักโลจิสติกส์ได้มอบสิทธิพิเศษในการสนับสนุน  ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบที่สมัครเข้าร่วมโครงการดังกล่าว  อาทิเช่น  การเข้าร่วมอบรมสัมมนาโครงการพัฒนาบริการโลจิสติกส์  การรับคำปรึกษาจากนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิ  คู่มือในการบริหารจัดการด้านโซอุปทานและโลจิสติกส์  เป็นต้น