เนื้อหาวันที่ : 2015-10-08 14:23:45 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2187 views

ทีมวัยโจ๋ 9 นศ.ชนะประกวดออกแบบเส้นทางเดินรถไฟกรุงเทพ-ขอนแก่น

ด้วยจุดเด่นของระบบขนส่งทางรางเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งมวลชนและสินค้า สะดวกรวดเร็ว ปลอดภัย ตรงต่อเวลา ประหยัดพลังงานและลดมลพิษ ประเทศไทยกำลังเข้าสู่โหมดการปฏิรูปพัฒนาระบบขนส่งทางราง เพื่อเชื่อมโยงพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศและตลาดการค้าระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียน เมื่อเร็วๆนี้คณะวิศวลาดกระบัง สจล. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ได้จัดกิจกรรมท้าทายคนรุ่นใหม่ Rail Summer Camp และประกวดออกแบบทางเดินรถไฟ กรุงเทพ-ขอนแก่น

รศ.ดร.คมสัน มาลีสี คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มเปิดหลักสูตรปริญญาตรีวิศวกรรมขนส่งทางรางนับเป็นปีที่ 2แล้ว กล่าวว่า “วัตถุประสงค์ของการจัด Rail Summer Camp และประกวดออกแบบการเดินรถไฟ กรุงเทพฯ-ขอนแก่นนั้น เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ โดยเสริมสร้างทักษะการใช้ความรู้ด้านระบบรางมาปฏิบัติจริงในการแก้ปัญหาและออกแบบการเดินรถไฟ และเสริมสร้างประสบการณ์ทำงานเป็นทีมซึ่งจะมีประโยชน์เมื่อออกไปทำงานกับภาคอุตสาหกรรม ในกิจกรรมค่ายนั้น นักศึกษาจะได้เรียนรู้พื้นฐานการวางระบบการเดินรถ การศึกษาวิเคราะห์ความเหมาะสมของตำแหน่งที่ตั้งสถานีรถไฟ การประมาณการจำนวนประชากรและจำนวนรถไฟเพื่อตอบสนองความต้องการ ทั้งในส่วนที่เป็นรถไฟชานเมือง รถไฟระหว่างเมือง และรถไฟความเร็วสูง การวางตารางการเดินรถไฟเมื่อมีการเชื่อมต่อเมือง หลายสถานีและหลายเมืองโดยใช้ Time-Distance Diagram นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้ทฤษฎีพื้นฐานการเคลื่อนที่ของรถไฟ เขียนโปรแกรมเพื่อกำหนดกราฟความเร็ว ความเร่ง และกำลังในการขับเคลื่อนโดยใช้โปรแกรม MATLAB”

รศ.ดร.คมสัน มาลีสี คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.)

ผศ.ดร.มนต์ศักดิ์ พิมสาร ประธานหลักสูตรวิศวกรรมขนส่งทางราง คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. กล่าวถึงกิจกรรมในค่ายRail Summer Camp ว่า “หลังจากการให้ความรู้แก่นักศึกษาทั้งหมด 40 คน โดยผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมระบบรางของประเทศ แล้วแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ตาม 4 เส้นทางย่อยในเส้นทางตัดใหม่กรุงเทพฯ-ขอนแก่น ได้แก่ ทีมที่ 1 เส้นทาง กรุงเทพฯ-สระบุรี , ทีมที่ 2 เส้นทาง สระบุรี-นครราชสีมา, ทีมที่ 3 เส้นทาง นครราชสีมา-บัวใหญ่ และทีมที่ 4 เส้นทาง บัวใหญ่-ขอนแก่น โดยแต่ละทีมต้องออกแบบการวางระบบการเดินรถไฟทั้งแบบชานเมืองและระหว่างเมือง ซึ่งจะเป็นเส้นทางตัดใหม่ โดยมีโจทย์คือ “วางแผนการเดินรถ เส้นทาง กรุงเทพฯ-ขอนแก่น แบ่งเส้นทางออกเป็นเส้นทางย่อย 4 เส้นทาง,พิจารณาหาตำแหน่งที่ตั้งสถานี,ประมาณจำนวนผู้โดยสารและคำนวณจำนวนรถ, หา Headway พร้อมทั้งเลือกชนิดของรถ และเขียนตารางการเดินรถ (Timetable) และในวันสุดท้ายเป็นการนำเสนอผลงานต่อกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายหน่วยงานสำคัญ เช่น  คุณทนงศักดิ์ พงษ์ประเสริฐ ผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถ การรถไฟแห่งประเทศไทย , รศ.ดร. ภาวิณี เอี่ยมตระกูล สาขาวิชาการผังเมือง ม.ธรรมศาสตร์,ดร.ศิรดล ศิริธร สาขาวิศวกรรมขนส่ง ม.เทคโนโลยีสุรนารี และ ดร.มธุรส สุขาตะวัตน์ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง อาจารย์นคร จันทศร ที่ปรึกษาผู้อำนวยการ สวทช. , คุณธนวิทย์ ขำศรีและคุณศุภสิทธิ์ โทนุสิทธิ์ จากรถไฟไทยดอทคอม

ผศ.ดร.มนต์ศักดิ์ พิมสาร ประธานหลักสูตรวิศวกรรมขนส่งทางราง คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล.

ผลการประกวด รางวัลแชมป์ชนะเลิศ คือ ทีมเส้นทาง บัวใหญ่ มีสมาชิกวัยโจ๋คนเก่ง 9 คน คือ  ชัชชัย แทนวันดี, ภูมินทร์ เศวตะพุกกะ, จักรชัย สุดนาวา, ปิยะชาติ ไชยพิมล, ปรัชญา  จันทร์ทรัพย์,  ศรัณพจน์ ไข่มุกข์,วรรณฤดี  เมืองราช, ณัฐณิชา  อดุลย์ศักดิ์ และพิชาพา พ่วงพู่

คุยกับ ชัชชัย แทนวันดี หัวหน้าทีมแชมป์ชนะเลิศ ในชื่อ“เส้นทางวัฒนธรรมมนต์แคนสู่แดนไดโนเสาร์” เส้นทาง บัวใหญ่-ขอนแก่น  กล่าวว่า “เส้นทางรถไฟที่ทีมของเราออกแบบนี้มีระยะทาง 104.6 กิโลเมตร ผ่านทั้งหมด 7 สถานี เราศึกษาจากปัจจัยความหนาแน่นของประชากรซึ่งดูจากข้อมูลสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ โดยเส้นทางจะเลือกจากอำเภอสุดท้ายของจังหวัดนครราชสีมา คือ อำเภอบัวใหญ่ วิเคราะห์ก่อนว่าจะตั้งสถานีที่ตำบลไหนบ้าง โดยใช้ภาพถ่ายทางอากาศของ Google Earth ศึกษาดูว่าการเดินทางมาสถานีสะดวกมากน้อยอย่างไร ถ้าเดินทางมาสถานีลำบากก็ส่งผลต่อการใช้บริการ ในตอนแรก เลือกมา 2 เส้นทาง แต่ในที่สุดเราได้เลือกเส้นทางที่มีระยะทางสั้นที่สุด เพราะเป็นเส้นทางที่ช่วยประหยัดเวลาเนื่องจากเส้นทางนี้จะวิ่งโดยรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพ-ขอนแก่นด้วย พร้อมทั้งดูจากปัจจัยต่างๆ เช่น เราจะเลี่ยงผ่านสถานที่สำคัญทางธรรมชาติ  วนอุทยานหรืออุทยานแห่งชาติ รวมทั้งเขตที่เกิดภัยพิบัติแผ่นดินไหวและอุทกภัย ไม่เช่นนั้นอาจจะต้องสร้างทางยกระดับตลอดสายซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายสูง นอกจากนี้เราพิจารณาด้านสาธารณูปโภคร่วมด้วย เพราะเส้นทางที่ได้ออกแบบจะยังมีความเป็นเมืองไม่สูง ซึ่งยึดแนวคิดนี้จากประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากเราไม่สามารถรอความเป็นเมืองให้เข้าถึงก่อนแล้วค่อยตั้งสถานี แต่เรามุ่งเน้นสร้างสถานีรถไฟก่อน แล้วความเป็นเมืองก็ตามมาเอง

ชัชชัย แทนวันดี หัวหน้าทีมแชมป์ชนะเลิศ

นายภูมินทร์ เศวตะพุกกะ หนึ่งในสมาชิกทีมชนะเลิศ กล่าวว่า “ดีใจครับ คิดว่าเหตุผลที่ชนะการประกวดเพราะการนำเสนอที่ชัดเจนและมีข้อมูลอ้างอิงที่ครอบคลุมและมีสถิติรองรับ  เราใส่ใจรายละเอียดของเส้นทาง เช่น เส้นทางรถไฟที่ผ่านเขตชุมชนจะมีที่กันเสียงเพื่อไม่ให้รบกวนการใช้ชีวิตของผู้คนชุมชนบริเวณนั้น ถ้าต้องผ่านเขตแม่น้ำก็จะกำหนดว่าจะวางเสาตอม่อตำแหน่งไหนเพื่อไม่ให้กีดขวางทางน้ำไหล ในทางเศรษฐกิจเราได้มีการทำแผนธุรกิจของสถานีแต่ละสถานี เช่น การขายพื้นที่โฆษณาบนรถไฟ และมีการกำหนดเส้นทางที่ทำให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงสถานีรถไฟได้สะดวกขึ้น โดยมีการกำหนดเส้นทางเดินรถ Shuttle Bus เพื่อรับส่งผู้ใช้บริการตามจุดต่างๆ ประโยชน์ของการเข้าร่วมกิจกรรมประกวดครั้งนี้ ทำให้คนรุ่นใหม่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลเชิงเศรษฐกิจได้ มีการเรียนรู้เพิ่มเติมจากวิชาเรียน ซึ่งเมื่อร่วมกิจกรรมได้เรียนรู้การปฏิบัติจริงทำให้ทำงานเป็น นอกจากนี้ทุกทีมยังได้รับโอกาสไปดูงานที่สถานที่ปฏิบัติงานจริงที่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (BTS) และศูนย์ฝึกอบรมอาณัติสัญญาณ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่เชียงราก จ.อยุธยา ได้เรียนรู้เรื่องระบบการจัดการจราจร การซ่อมบำรุง และระบบอาณัติสัญญาณ ในอนาคตผมคิดว่าระบบขนส่งทางรางในบ้านเราจะสามารถตอบโจทย์การพัฒนาประเทศได้คุ้มค่า ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจและสังคมด้วยครับ”

อนาคตของสังคมและประเทศชาติสดใสด้วยพลังของคนรุ่นใหม่ที่แกร่งทั้งวิชาการ ทักษะปฏิบัติและความคิดสร้างสรรค์