เนื้อหาวันที่ : 2007-07-11 13:48:33 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1955 views

สศอ.ชี้อุณหภูมิร้อนค่าเงินบาทแข็งกระทบส่งออกเร่งจัดอันดับอุตฯ

สศอ.สะท้อนภาวะเงินบาทแข็งค่ากว่า 1 ปี กระทบผู้ผลิตเพื่อการส่งออกกลุ่มสินค้าเกษตรแปรรูป หวั่นจีดีพีภาคอุตสาหกรรมขยายตัวลดลงเมื่อเทียบกับปี 2549 ประเมินขีดแข่งขันไทยเมื่อเทียบกับคู่แข่งรวม 17 ประเทศ ชี้มูลค่าเพิ่มสินค้าไทยยังสูงกว่า หนุนผู้ประกอบการรับมือลดผลกระทบเงินบาทแข็ง

สศอ.สะท้อนภาวะเงินบาทแข็งค่ากว่า 1 ปี กระทบผู้ผลิตเพื่อการส่งออกกลุ่มสินค้าเกษตรแปรรูป หวั่นจีดีพีภาคอุตสาหกรรมขยายตัวลดลงเมื่อเทียบกับปี 2549 ประเมินขีดแข่งขันไทยเมื่อเทียบกับคู่แข่งรวม 17 ประเทศ ชี้มูลค่าเพิ่มสินค้าไทยยังสูงกว่า ตุรกี จีน เวียดนาม และศรีลังกา หนุนผู้ประกอบการรับมือลดผลกระทบเงินบาทแข็งค่าเน้นเพิ่มประสิทธิภาพทุนและแรงงาน

.

ดร.ณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เปิดเผยภายในงานสัมมนาเรื่อง "ค่าเงินบาทกับการปรับตัวของอุตสาหกรรมไทย : แนวโน้มและผลกระทบ" ว่า สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้วิเคราะห์ภาวะค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปี 2549 จนถึงปัจจุบัน โดยปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 34.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ หรือแข็งค่าขึ้นกว่า 15.5% ซึ่งช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ได้สะท้อนให้เห็นว่า ภาวะค่าเงินบาทมีอัตราแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบการไทยมีขีดความสามารถการแข่งขันที่ลดลง โดยเฉพาะเมื่อส่งออกสินค้าไปยังตลาดส่งออกหลักอย่างกลุ่มสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ทำให้สินค้าของไทยมีราคาสูงกว่าโดยเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งรายอื่นๆ ซึ่งอาจจะทำให้ในช่วงที่ผ่านมาผู้ประกอบการไทยบางรายที่มีการพึ่งพาตลาดส่งออกเป็นหลักมีผลกระทบจากการขาดทุนกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน

.

"ในช่วงระยะเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมา สศอ. ได้ทำการสำรวจและประเมินผลกระทบจากค่าเงินบาทที่ยังคงแข็งค่าขึ้นมากกว่าประเทศคู่ค้าและประเทศคู่แข่ง ดังนั้น สถานการณ์ในขณะนี้ที่ผู้ประกอบการควรพึงระวัง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตสินค้าโดยใช้วัตถุดิบในประเทศเพื่อส่งออก โดยส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มสินค้าเกษตรแปรรูปทั้งสัตว์น้ำ ผักและผลไม้ รวมถึงสินค้าแฟชั่น และเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้านเรือน ซึ่งได้รับผลกระทบค่อนข้างสูง ในขณะที่อุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบนำเข้าจากต่างประเทศจะได้ประโยชน์ เช่น อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากน้ำมัน และอุตสาหกรรมเหล็ก เป็นต้น" ดร.ณัฐพลกล่าว

.

ในขณะเดียวกันจากการศึกษาของ สศอ. พบว่า การผันผวนของค่าเงินบาททุก 1% จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) รวมและผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคอุตสาหกรรม (จีดีพีอุตสาหกรรม)ประมาณ 0.1% และ0.09% ตามลำดับ

.

ทั้งนี้ สศอ. ได้ทำการศึกษาโดยการแบ่งกลุ่มอุตสาหกรรมพิจารณาโดยใช้หลักเกณฑ์จาก 1.สัดส่วนการส่งออกสินค้า 2.สัดส่วนการนำเข้าปัจจัยการผลิต เพื่อนำมาชี้วัดผลกระทบที่ได้รับจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในช่วงเดือนมกราคมปี 2549 -  พฤษภาคม ปี 2550 ทั้งในด้านมูลค่าสินค้า ได้แก่ มูลค่าการจำหน่ายสินค้าในประเทศและส่งออก และด้านมูลค่าต้นทุนการผลิต ได้แก่ มูลค่าการใช้วัตถุดิบในประเทศและต่างประเทศ มูลค่าการใช้เชื้อเพลิงและพลังงาน   และมูลค่าของค่าเสื่อมโรงงานและเครื่องจักรอุปกรณ์

.

และได้ทำการคัดเลือกมา 8 อุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมเหล็ก น้ำมัน อัญมณี อิเล็กทรอนิกส์ อาหารสัตว์ พลาสติก สิ่งทอ และเฟอร์นิเจอร์ เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งจำนวน 17 ประเทศ (รวมประเทศไทย) โดยพิจารณาจากปัจจัยระยะสั้น ได้แก่ อัตราแลกเปลี่ยน ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ ผลผลิตแรงงาน และปัจจัยระยะยาว ได้แก่ การศึกษา นวัตกรรม เทคโนโลยีสารสนเทศ [ICT] เพื่อจัดข้อมูลลำดับความสามารถในการแข่งขันของไทยอีกครั้ง ภายหลังจากที่ไทยเผชิญกับภาวะอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าขึ้นมากว่า 1 ปี

.

โดยผลการศึกษาในเบื้องต้น พบว่า ต้นทุนหลักในเรื่องอัตราค่าจ้างแรงงานของไทยสูงกว่าเมื่อเทียบกับ ประเทศจีน อินเดีย และเวียดนาม แต่ยังต่ำกว่าประเทศเกาหลี ไต้หวัน และสิงคโปร์ ขณะที่ผลิตภาพแรงงานภาคอุตสาหกรรม พบว่า ไทยยังสูงกว่าประเทศจีน อินโดนีเซีย และอินเดีย แต่มีศักยภาพต่ำกว่าหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว สำหรับการเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งจำนวน 17 ประเทศ (รวมประเทศไทย) ในระยะยาว พบว่า ไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 12 ซึ่งยังสูงกว่าประเทศตุรกี จีน เวียดนาม และศรีลังกา ในด้านมูลค่าเพิ่มสินค้า และมูลค่าผลิต

.

นอกจากนี้ สศอ. ยังพบว่า ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทค่อนข้างมาก  เช่น การแปรรูปและการเก็บถนอมสัตว์น้ำ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ การแปรรูปผลไม้และผัก การผลิตน้ำตาล การผลิตสิ่งทอสำเร็จรูป ยกเว้นเครื่องแต่งกาย การผลิตผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ และการผลิตเซรามิก  ชนิดไม่ทนไฟ ซึ่งไม่ได้ใช้ในงานก่อสร้าง เป็นต้น ในขณะที่อุตสาหกรรมที่มีกำไรเพิ่มขึ้น เช่น อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากน้ำมัน และอุตสาหกรรมเหล็ก เป็นต้น ทั้งนี้เป็นเพราะใช้วัตถุดิบนำเข้าจำนวนมากจากต่างประเทศ

.

ดร.ณัฐพล กล่าวอีกว่า การศึกษาของ สศอ. ยังแสดงให้เห็นว่าการเพิ่มผลิตภาพการผลิต [Productivity]       ทั้งในด้านประสิทธิภาพของทุนและแรงงาน จะทำให้ลดผลกระทบจากภาวะดังกล่าวได้ เพราะจะทำให้ผู้ประกอบการไทยมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงจากภายนอกได้อย่างมีประสิทธิภาพในทุกๆ ด้าน ซึ่งแนวทางที่สำคัญ ได้แก่ การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องจักร         ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรมที่เล็งเห็นความสำคัญตรงจุดนี้ และได้จัดทำเป็นแผนแม่บทการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพของภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยสามารถเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไปในระยะยาว