เนื้อหาวันที่ : 2006-05-23 13:52:16 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1576 views

เอ็กโกสยายปีกเปิดโรงไฟฟ้าชีวมวลเชื้อเพลิงแกลบ ชูต้นแบบอนุรักษ์

บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือเอ็กโก เปิดโรงไฟฟ้าร้อยเอ็ด กรีน อย่างเป็นทางการ ชูต้นแบบโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ใช้เชื้อเพลิงจากแกลบ โดยเป็นทางเลือกใหม่ในการอนุรักษ์พลังงาน และมิติใหม่ของการอยู่ร่วมกันระหว่างโรงไฟฟ้า ชุมชน และสิ่งแวดล้อม อย่างกลมกลืน

.

บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือเอ็กโก เปิดโรงไฟฟ้าร้อยเอ็ด กรีน อย่างเป็นทางการ  โรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลที่ใช้เชื้อเพลิงจากแกลบ มิติใหม่ของการอยู่ร่วมกันระหว่างโรงไฟฟ้ากับชุมชน ทางเลือกใหม่ของการลดการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ ต้นแบบของการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับสังคม และเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในท้องถิ่น ชูต้นแบบโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ใช้เชื้อเพลิงจากแกลบ ทางเลือกใหม่ในการอนุรักษ์พลังงาน และมิติใหม่ของการอยู่ร่วมกันระหว่างโรงไฟฟ้า ชุมชน และสิ่งแวดล้อม

.

โรงไฟฟ้าร้อยเอ็ด กรีน มีกำลังผลิตรวม 9.95 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่ตำบลเหนือเมือง อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด เริ่มก่อสร้างในปี 2544 และเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ในปริมาณ 8.8 เมกะวัตต์เป็นเวลา 21 ปี โดยส่งผ่านระบบของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ตั้งแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2546 เป็นต้นมา โรงไฟฟ้าร้อยเอ็ด กรีน ใช้แกลบซึ่งเป็นเศษวัสดุเหลือใช้ที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นภาคอีสานโดยเฉพาะในจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นเชื้อเพลิงในปริมาณวันละ 300 ตัน หรือประมาณ 80,000 ตัน/ปี

.

นายวิศิษฎ์ กล่าวต่อไปว่า โรงไฟฟ้าร้อยเอ็ด กรีน นับเป็นต้นแบบของโรงไฟฟ้าชีวมวล และเป็นทางเลือกใหม่ในการอนุรักษ์พลังงาน ลดการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ โดยโรงไฟฟ้าแห่งนี้สามารถผลิตพลังงานได้ 56.12 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี (GWh) หากเทียบกับการใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิงแล้ว จะช่วยลดการใช้น้ำมันเตาได้ประมาณ 13.8 ล้านลิตรต่อปี เมื่อคำนวณตลอดอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าร้อยเอ็ด กรีน จะลดการนำเข้าน้ำมันเตาได้ประมาณ 290 ล้านลิตร หรือคิดเป็นเงิน 4,400 ล้านบาท และเมื่อเทียบกับการใช้ก๊าซธรรมชาติในกำลังผลิตเดียวกัน โรงไฟฟ้าร้อยเอ็ดกรีน จะช่วยลดปริมาณการใช้ก๊าซธรรมชาติ ประมาณ 496 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อปี  คิดเป็นมูลค่า 80 ล้านบาท หากพิจารณาตลอดอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 21 ปี โรงไฟฟ้าร้อยเอ็ดกรีนจะช่วยลดปริมาณก๊าซได้ถึง 10,414 ล้านลูกบาศก์ฟุต หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,700 ล้านบาท

.

ด้านนายสมยศ พลจันทร์ ประธานกรรมการ บริษัท ร้อยเอ็ด กรีน จำกัด กล่าวว่า โรงไฟฟ้าร้อยเอ็ด กรีน เป็นต้นแบบของการอยู่ร่วมกันระหว่างโรงไฟฟ้า ชุมชน และสิ่งแวดล้อม โดยได้รับการรับรองจากมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม (Energy for Environment Foundation หรือ E for E) ให้เป็นต้นแบบของโรงไฟฟ้าชีวมวลที่มีการจัดการทางด้านสิ่งแวดล้อมที่ดี และเป็นที่ยอมรับของชุมชน นอกจากนี้ โรงไฟฟ้าร้อยเอ็ด กรีน ยังได้รับรางวัลชนะเลิศระดับภูมิภาคอาเซียนประเภท On-Grid  และรางวัลชนะเลิศโครงการดีเด่นด้านพลังงานใหม่และหมุนเวียนของประเทศไทย ประเภท On-Grid ซึ่งจัดโดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานด้วย

.

การดำเนินงานของโรงไฟฟ้าร้อยเอ็ด กรีนที่ผ่านมา  เป็นข้อพิสูจน์ได้ว่ากระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโรงไฟฟ้าร้อยเอ็ด กรีน  มีส่วนช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคมของประชาชนในจังหวัดร้อยเอ็ดและจังหวัดใกล้เคียง กล่าวคือ การผลิตกระแสไฟฟ้าโดยใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิงมีส่วนช่วยลดปัญหามลภาวะฝุ่นละอองจากแกลบซึ่งชุมชนบริเวณนี้ต้องประสบมาเป็นเวลานาน   เพิ่มศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมของจังหวัดร้อยเอ็ดด้วยระบบไฟฟ้าที่มีเสถียรภาพสูง เนื่องจากมีแหล่งผลิตไฟฟ้าอยู่ใกล้กับผู้ใช้ รวมทั้งช่วยลดความสูญเสียรวมของระบบสายส่งของประเทศ นอกจากนี้ ยังเกิดการสร้างงาน กระจายรายได้ให้กับชุมชน ลดการนำเข้าเชื้อเพลิงซึ่งมีส่วนช่วยลดดุลการชำระเงินตราต่างประเทศ ทั้งยังเป็นการพึ่งพาวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่น ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจแบบพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว